การยับยั้งจากการทำความดี เพราะความกลัวต่อ “การโอ้อวด”
แหล่งที่มา http://islamqa.com/en/ref/67617
ถอดความ بنت الاٍسلام
คำถาม
อะไรคือกฎเกณฑ์ของการยับยั้งจากการทำความดี เพราะความกลัวต่อ “การโอ้อวด”
คำตอบ
การสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ
เราควรพึงตระหนักว่า “ชัยฎอน” นั้นมุ่งปรารถนาที่จะทำให้มุสลิมตกอยู่ในสภาวะของ “หนึ่ง” ในสองสภาวะนี้ คือ “การที่ทำให้เขาทำความดีเพื่อการโอ้อวด เพื่อชื่อเสียงของเขา และปราศจากความบริสุทธิ์ใจ” หรือ “การทำให้เขายับยั้งจากการทำความดีโดยสิ้นเชิง”
“มุสลิมที่มีความบริสุทธิ์ใจต่อเจตนาของเขา” ย่อมไม่ให้ความสนใจต่อเสียงกระซิบของชัยฏอนที่พยายามจะทำให้เขาเกิดความกังวลสงสัยต่อการงาน (การกระทำ) ของเขา หรือคำแนะนำของเขา (ที่มีต่อพี่น้องมุสลิม) ว่ามันมิได้เป็นไปเพื่ออัลลอฮฺหรือไม่ เพราะ (หากเขามีความบริสุทธิ์ใจ) เขาย่อมไม่ใส่ใจต่อเสียงกระซิบของชัยฎอนที่ชี้นำให้เขายับยั้งจากการทำความดีด้วยเพราะความกลัวต่อการโอ้อวด
“หัวใจที่บริสุทธิ์” ย่อมมีความสงบสุข ไม่ว่าจะเป็นในเวลาที่กำลังทำความดีอย่างลับๆ หรือในเวลาที่กำลังทำความดีอย่างเปิดเผย
ชัยคฺ บิน บาซ (เราะหิมะฮุลลอฮฺ) ถูกถามดังนี้
สตรีคนหนึ่งถามท่านว่า – “ฉันกลัวต่อ “การโอ้อวด” อย่างมาก จนฉันไม่สามารถที่จะให้คำแนะนำต่อคนบางคน หรือแม้แต่จะบอกพวกเขาไม่ให้ทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นการนินทา การใส่ร้าย และเรื่องอื่นๆ เพราะฉันกลัวว่า นั่นจะเป็น “การโอ้อวด” จากตัวของฉัน และฉันกลัวว่าผู้คนจะคิดว่าฉันกำลังโอ้อวดอยู่ ดังนั้นฉันจึงไม่ให้คำแนะนำตักเตือน (นะซีฮัตฺ) ใดๆ ต่อพวกเขา ฉันบอกกับตัวเองว่า พวกเขาเป็นคนมีการศึกษา พวกเขาคงไม่ต้องการคำแนะนำตักเตือนจากฉัน ท่านจะให้คำแนะนำต่อฉันอย่างไรคะ”
ชัยคฺ บิน บาซ (เราะหิมะฮุลลอฮฺ) ตอบว่า
“นี่คือ หนึ่งในกับดักของชัยฏอน ด้วยการใช้วิธีการยับยั้งมุสลิมจากการเรียกร้องผู้อื่นมาสู่อัลลอฮฺ และการกำชับพวกเขามาสู่การทำความดี และการห้ามปรามพวกเขาจากการทำความชั่ว หนึ่งในหลายวิธีที่ “มัน” ทำคือการทำให้มุสลิมนั้นคิดว่า “การกระทำดังกล่าว” เป็นการโอ้อวด หรือคิดว่า “ผู้คน” จะคิดว่าการกระทำของเขานั้นเป็นการโอ้อวด ดังนั้นคุณไม่ควรที่จะให้ความสนใจต่อสิ่งดังกล่าว หากแต่สิ่งที่คุณควรทำคือ การเดินหน้าทำความดีและให้คำแนะนำพี่น้องมุสลิมร่วมศรัทธาต่อไป
หากคุณพบว่าพวกเขาบกพร่องในหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือกระทำสิ่งที่หะรอม เช่นการนินทา การเอารัดเอาเปรียบ การไม่ปกปิดร่างกายให้มิดชิดต่อหน้าผู้ชาย เป็นต้น คุณไม่ควรกลัวต่อการ “โอ้อวด” หากแต่จงทำความดีเพื่ออัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว คุณควรมีความบริสุทธิ์ใจต่อเจตนาของคุณ และมีความสุขต่อความดีงาม (ที่คุณได้ทำ)
อย่าใส่ใจต่อ “กลอุบาย” และ “เสียงกระซิบของชัยฎอน” อัลลอฮฺทรงรู้ดีถึงสิ่งที่อยู่ในหัวใจของคุณ เจตนาของคุณและความจริงใจของคุณที่มีต่อพระองค์ และความจริงใจที่คุณมีต่อบ่าวของพระองค์
แน่นอนว่า “การโอ้อวด” คือ “ชิริก (การตั้งภาคี)” และมันไม่เป็นที่อนุมัติในอิสลาม หากแต่มันก็ไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับมุสลิมีนและมุสลิมะฮฺผู้ศรัทธาที่จะยับยั้งตัวของพวกเขาจากการทำบางสิ่งบางอย่างที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ เช่นการเรียกร้องผู้คนมาสู่อัลลอฮฺ การเชิญชวนผู้คนมาสู่สิ่งที่ดีงาม และการห้ามปรามผู้คนจากสิ่งที่ชั่วร้าย อันเนื่องมาจาก “ความกลัวต่อการโอ้อวด” ดังนั้นพวกเขาจำต้องพึงตระหนักถึงสิ่งนี้ พวกเขาควรทำในสิ่งที่พวกเขาได้รับคำสั่งใช้ให้กระทำในหมู่ผู้ชายและผู้หญิง และทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างมีความเท่าเทียมกันในเรื่องนี้ อัลลอฮฺทรงแจ้งไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ ที่พระองค์ตรัสว่า
“บรรดาผู้ศรัทธา ทั้งชายและหญิง คือเอาลิยาอฺ (ผู้ช่วยเหลือ ผู้สนับสนุน สหาย ผู้ปกป้อง) ของกันและกัน พวกเขากำชับใช้ (ผู้คน) มาสู่ อัล มะอฺรูฟ (การเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว และทุกๆ สิ่งที่อิสลามได้สั่งใช้ให้กระทำ) และพวกเขาห้ามปราม (ผู้คน) จากอัล มุงกัรฺ (การเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ และฝ่าฝืนต่อทุกๆ สิ่งที่อิสลามสั่งห้าม) พวกเขาทำการละหมาด จ่ายซะกาตฺ และเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ อัลลอฮฺจะประทานความเมตตาต่อพวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ และผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัลกุรอาน 9:71)
–{ฟัตวา อิบนุ บาซ 6/403} —
มีการรายงานว่าท่านหุซัยนฺ อิบนุ อับดุลเราะหฺมาน กล่าวว่า “ฉันอยู่กับท่านสะอีดฺ อิบนุ ญุบัยรฺ และท่านกล่าวว่า “ใครในหมู่พวกท่านที่เห็นดาวตก เมื่อคืนก่อนนี้” ฉันตอบว่า “ฉันเห็นมัน” จากนั้นฉันก็กล่าวต่อว่า “(ขณะนั้น) ฉันไม่ได้กำลังละหมาดอยู่ แต่ฉันมีอาการเจ็บปวด…..” (รายงานโดยมุสลิม 220)
ชัยคฺ อิบนุ อุษัยมีนกล่าวว่า “ท่านกล่าวเช่นนั้น เพราะเกรงว่าผู้คนจะคิดว่าท่านกำลังละหมาดกิยามอยู่ และอาจจะกล่าวยกย่องท่านในสิ่งที่ท่านไม่ได้ทำ สิ่งที่ท่านทำนั้นต่างจากสิ่งที่คนบางคนทำ ที่พวกเขามีความสุข เมื่อผู้คนคิดว่าพวกเขากำลังละหมาดกิยาม หากแต่สิ่งนี้มันขัดแย้งกับ “เตาฮีด”
สิ่งที่ท่านหุซัยนฺกล่าวนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของการโอ้อวด หากแต่มันเป็นเรื่องของการทำความดี ซึ่งมันไม่เหมือนกับการที่คนคนหนึ่งยับยั้งตัวเขาจากการทำความดีเพราะความกลัวต่อการโอ้อวด เพราะว่าชัยฎอนอาจล่อลวงคนคนหนึ่ง และทำให้เขาเกิดความคิดที่จะหยุดทำความดีเพราะเกิดความกลัวต่อการโอ้อวด ดังนั้นคุณควรที่จะกระทำความดีและพยายามออกห่างจากการโอ้อวดต่อผู้คนเสีย
–มัจญมูอฺ ฟัตวา อัล ชัยคฺ อิบนุ อุษัยมีน 9/85, 86. —
และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง
Islam Q&A
Leave a Reply