Feeds:
Posts
Comments

Archive for October, 2013

พ่อของลูกบอกเล่าให้ฟังว่า มันยังมีความเชื่อผิดๆ หนึ่งในประเทศอียิปต์ที่ว่า ‘ผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานก่อนวัย 30 นั้นเหมือนถูกต้องคำสาป (เกินกว่านี้คือ หมดสิทธิ์) และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมผู้หญิงที่นั่นถึงเครียดและกังวลมากมาย หากไม่มีใครมาสู่ขอเธอก่อนวัย 30 อีกทั้งคนในครอบครัว ญาติพี่น้องก็จะกดดันบีบให้เธอรีบๆ แต่งงาน ไม่งั้นเธอคงต้องใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังไปตลอด และแน่นอนว่าเธอจะถูกตราหน้าว่า ‘ถูกต้องคำสาป (หรือไม่มีใครต้องการ)’

ส่วนตัว ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อแบบนี้เลย เพราะมันไร้เหตุผลและไม่ใช่แนวคิดอิสลาม นึกถึงประวัติศาสตร์อิสลาม บรรดาเศาะฮาบียะฮฺหลายท่านก็แต่งงานในวัย 40-50 เช่นท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ ผู้ที่ได้รับเกียรติให้เป็นภรรยาคนแรกของเราะสูลุลลอฮฺ และอาจพูดได้ว่า เธอเป็นผู้ที่ท่านเราะสูลรักและให้เกียรติมากที่สุด ก็ว่าได้

ดังนั้นการจะได้แต่งงานหรือไม่นั้นอยู่ที่การกำหนดของพระองค์ด้วยเช่นกัน พระองค์ทรงรู้ดียิ่งว่าอะไรที่ดีที่สุดสำหรับเราแต่ละคน มีผู้หญิงหลายคนที่ได้แต่งงานในวัย 30-40-50 และพวกเธอก็ใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุขหลังจากนั้น และผู้หญิงหลายๆ คนก็ใช้ชีวิตเยี่ยงหญิงโสดอย่างมีความสุข นั่นเป็นเพราะว่าพวกเธอมอบหมายต่ออัลลอฮฺ ไม่ได้ยึดติดกับคำพูดหรือความคิดคน และพวกเธอก็รู้ดีว่า มันคือพระประสงค์ของอัลลอฮฺ

ส่วนตัวเอง ก็แต่งงานในวัยเกือบ 30 อย่างไม่คาดฝัน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีความใฝ่ฝันที่ต้องการจะแต่งงานเร็วๆ เช่นผู้หญิงทั่วไป แต่อัลลอฮฺมิได้ประทานให้ทันทีทันใด จนกระทั่งได้หยุดนิ่ง หยุดค้นหา จากนั้นอัลลอฮฺก็ได้ประทานคู่ครองมาให้ อัลลอฮฺทรงมีแผนการของพระองค์และพระองค์ทราบว่าเมื่อใดที่ดีที่สุดสำหรับคุณ และอะไรที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

ดังนั้นแทนที่จะคิดว่า การเป็นโสด หรือการยังไม่มีใครมาขอ (ยังไม่ได้แต่งงานสักที) คือ การถูกสาป ขอให้เชื่อเถอะว่า ‘มันคือการอำนวยพรของอัลลอฮฺ’ และกล่าว ‘อัลฮัมดุลิลลาฮฺ’ กันเถอะค่ะ

ที่สำคัญแม้เราไม่รู้ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร เราก็ต้องขอดุอาอฺจากอัลลอฮฺอยู่เสมอและทำในสิ่งที่ถูกต้องนะคะ ไม่ใช่แค่นั่งอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลย

(***ออกตัวก่อนว่า ไม่ใช่ผู้รู้ แต่อยากแบ่งปันความเห็นส่วนตัวค่ะ***)

“”บินติ อัลอิสลาม””

Read Full Post »

สิทธิ์ในการตัดสินใจต่อการแต่งงานของสตรีในยุคก่อน
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
สรุปบางส่วนจากการบรรยายของดร ฮิชาม อัลอะลาวะดียฺจากหะดีษบทหนึ่ รายงานโดยอัลกอซิม มีสตรีนางหนึ่งซึ่งเป็นลูกหลานของท่านญะฟัรฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ นางเกิดความเกรงกลัวว่าผู้ปกครองของนางจะจัดการให้นางแต่งงานกับใครสักคนที่ขัดต่อความปรารถนาของนาง ดังนั้นเธอจึงเข้าไปพบชายอาวุโสสองท่านจากอันศอรฺ คือท่านอับดุรเราะมานและท่านมุญัมมิยฺ บุตรชายของญารียะฮฺ และท่านทั้งสองได้บอกแก่นางว่า “จงอย่ากลัวไปเลย เพราะแม้แต่นางค็อนซะฮฺ บินติ ค็อดดาม ก็เคยถูกบิดาของนางจัดการให้แต่งงานซึ่งขัดต่อความปรารถนาของนาง จากนั้นเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ยกเลิกการแต่งงานนั้นให้กับนาง” (บุคอรียฺ)

เรื่องราวดังกล่าวได้ถูกรายงานโดยนางค็อนซะฮฺ บินติ ค็อดดาม ว่า บิดาของนางได้จัดการให้นางแต่งงาน ขณะที่นางอยู่ในวัยกลางคนและนางไม่พอใจต่อการแต่งงานนั้น ดังนั้นนางจึงเข้าไปพบเราะสูลุลลอฮฺ เพื่อบอกเล่าให้ท่านทราบ จากนั้นเราะสูลจึงได้ประกาศให้การแต่งงานเป็นโมฆะ (บุคอรียฺ)

บทเรียนจากเรื่องราวในหะดีษทั้งสองบทนี้คือ
(1) สตรีในยุคนบีนั้นไม่ได้นิ่งเฉยต่อความรู้สึกเกรงกลัวของนาง นางไม่ได้ฆ่าตัวตาย นางไม่ได้หนีไปกับคนรักเพื่อหนีปัญหา นางไม่ได้ไปร้องเรียนกับตำรวจ นางไม่ได้ไปนอนกอดหมอนร้องไห้ แต่นางกลับไปขอคำปรึกษากับบุรุษอาวุโสที่น่าเชื่อถือ นางไม่ได้สร้างความทุกข์ทรมานตัวเองด้วยการนิ่งเงียบ นั่นเป็นเพราะนางเป็นห่วงการดำเนินชีวิตของนางในอนาคต ซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งพวกเราในปัจจุบันควรมี คือ ไม่ทรมานตัวเองด้วยการนิ่งเงียบ (แต่ให้ขอคำปรึกษาจากผู้ที่น่าเชื่อถือในอิสลาม)

(2) สังคมในยุคนั้น สนับสนุน ยอมรับ และให้เกียรติต่อการตัดสินใจของนาง ความกลัว ความกังวลของนาง โดยไม่ได้ยึดติดกับวัฒนธรรมประเพณี หรือพูดให้นางไขว้เขว้ เช่นว่า “เธอต้องให้เกียรติต่อการตัดสินใจของพ่อนะ เธอต้องเชื่อฟังพ่อแม่เธอนะ เป็นต้น” หากทว่า บุรุษอาวุโสทั้งสองได้สนับสนุนเธอ โดยบอกเล่าเรื่องราวของนางค็อนซะฮฺให้นางฟัง ทั้งที่ท่านทั้งสองก็เคยเป็นผู้ปฏิเสธมาก่อน แต่เมื่อท่านได้เข้ารับอิสลามแล้ว ท่านก็น้อมรับคำสั่งสอนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม โดยที่ไม่ได้ยึดติดกับวัฒนธรรม ประเพณีของบรรพบุรุษแต่อย่างไร

หัวข้อ Women Inspired by the beloved 1

แปล เรียบเรียง บินติ อัลอิสลาม

Read Full Post »

ชัยคฺอัซซิม อัลฮากีม::
ในช่วงเวลาหนึ่ง นบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลาม ไม่มีบุตรเลยแม้แต่สักคนเดียว จนกระทั่งท่านและภรรยาของท่านได้เข้าสู่วัยที่เกินกว่าจะมีบุตรได้ หากทว่าท่านก็ไม่เคยพร่ำบ่นแต่อย่างใด เพราะท่านทราบดีว่าอัลลอฮฺทรงเลือกแต่สิ่งที่ดีที่สุดให้กับท่านเท่านั้น ดังนั้นเมื่อท่านได้ทราบข่าวดีว่าท่านจะมีบุตร และหลานชาย คุณคงสามารถจินตนาการได้ว่า ท่านจะมีความสุข ความตื้นตันใจเพียงใด

ทันทีที่ท่านได้รับการอำนวยพรให้มีบุตร ซึ่งนั่นคือ “นบีอิสมาอีล อะลัยฮิสลาม” ท่านก็ได้รับพระบัญชาจากอัลลอฮฺให้นำบุตรชายและมารดาของเขาไปยังเมืองมักกะฮฺ แม้ว่านบีอิบรอฮีมจะทราบดีว่า “อิิสมาอีล” คือบุตรคนแรกของท่าน และท่านก็ทราบว่ามักกะฮฺนั้นเป็นดินแดนที่แห้งแล้งกันดาร และไม่มีใครอาศัยอยู่ที่นั่น หากทว่าท่านก็ปฏิบัติตามพระบัญชาโดยปราศจากคำถามใดๆ

เมื่อท่านเดินทางไปถึงที่นั่น ท่านก็ิทิ้งภรรยาและบุตรชายของท่านไว้ที่นั่นและเดินจากไป ขณะเดียวกันนางฮะญัรฺจึงถามท่านซ้ำๆ ว่า “ท่านจากพวกเราไปโดยทิ้งพวกเราไว้ในดินแดนกันดารแห่งนี้เพื่อใคร” หากแต่ท่านไม่ได้ตอบคำถามนาง ขณะที่เดินจากไป

(ชัยคฺอัซซิมกล่าวว่า) หัวใจของผมคงแตกสลาย หากว่าผมอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับท่าน หากแต่ท่านไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น

นางจึงถามท่านเป็นครั้งสุดท้ายว่า “อัลลอฮฺใช่หรือไม่ ที่สั่งใช้ให้ท่านกระทำในสิ่งนี้” ท่านจึงตอบนางว่า “ใช่” นางจึงกล่าวต่อว่า “ในกรณีเช่นนี้ อัลลอฮฺย่อมมิทรงทอดทิ้งเรา (แม่ลูก)”

แน่นอนว่าพวกเราคงทราบเรื่องราวที่เหลือทั้งหมด รวมไปถึงการค้นพบบ่อน้ำซัมซัม และการที่อัลลอฮฺได้ทรงทำให้มักกะฮฺกลายเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเช่นไร

“การตะวักกุลของนบีอิบรอฮีม และภรรยาของท่าน” นั้นประเสริฐและงดงามยิ่ง

ดังนั้นหากว่าคุณมอบหมาย หวังพึ่งพิง และไว้วางใจในอัลลอฮฺ พระองค์จะทรงทำให้สิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้สำหรับคุณ และความกังวลใจทั้งหลายของคุณจะกลายเป็นเพียงความทรงจำเท่านั้น (อินชาอัลลอฮฺ)

Ref: Assim Luqman Al Hakeem

แปลเรียบเรียง บินติ อัล อิสลาม

Read Full Post »

image

จากบรรยายมุฟตี เมงกฺ
บางครั้งเราก็อคติ หรือเข้าใจคนอื่นผิด จนถึงขั้นที่ว่า เราอธรรมกับเขา เพียงเพราะรับฟังคำล่ำลือกันมาอีกที

โดยปกติมนุษย์เรา เมื่อได้รับฟังเรื่องราวใดบ่อยๆ เราก็จะเริ่มเชื่อในเรื่องราวนั้นโดยอัตโนมัติ

ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่มีคนคนหนึ่งมาบอกคุณว่า ‘คุณลุงคนหนึ่งที่คุณรู้จัก’ เป็นคนไม่ดี ครั้งแรกที่คุณได้รับข้อมูล คุณคงต่อต้านคำบอกเล่านั้นว่า สิ่งที่เขาพูดมานั้นไม่ถูกต้อง และคุณลุงคนนั้นเป็นคนดี .. เมื่อคนคนนั้นบอกเล่ากับคุณแบบเดิมเป็นครั้งที่สอง การต่อต้านของคุณก็อาจจะน้อยลง และเมื่อคุณได้รับการบอกเล่าเป็นครั้งที่สาม คุณก็เริ่มที่จะนิ่งเงียบ และสมองของคุณก็จะเริ่มจดจำและเชื่อว่า ‘ลุงคนนั้นเป็นคนไม่ดี’

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ คุณเริ่มทำตัวเป็นคนกระจายข่าวนั้นเอง โดยการทำสิ่งเดียวกัน คือ คุณได้บอกเล่าเพื่อนของคุณต่อว่า ‘คุณลุงคนนั้นเป็นคนไม่ดี’ เมื่อเพื่อนของคุณต่อต้านเช่นที่คุณเคยต่อต้าน คุณก็ยืนยัน ยืนกรานกับเขาว่ามันไม่จริง และลุงคนนั้นเป็นคนไม่ดี จนกระทั้งเขาเริ่มเชื่อสิ่งที่คุณบอก และอาจทำหน้าที่กระจายข่าวต่อไป

และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ เมื่อผู้ที่นำเรื่องราวเหล่านี้มาบอกคุณ เป็นคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘คนดี คนมีคุณธรรม’ ในชุมชน หรือสังคม เพียงเพราะเขาได้ยินคนอื่นพูดมาอีกทีเช่นกัน … มันก็จะทำให้คุณเริ่มเชื่อเรื่องราวนั้นๆ ง่ายขึ้น เร็วขึ้นโดยไม่ตรวจสอบอะไรเลย

ดังนั้น เราต้องระวังอย่างมาก ในการรับฟังเรื่องราว และนำไปบอกต่อ โดยไม่ได้ตรวจสอบ เพียงเพราะว่าได้ยิน ‘คนเขาว่ามา..’ กี่คนแล้วที่เราได้อธรรม เพียงเพราะ ‘เขาว่ามา…’
—————-
สรุปเรียบเรียงจากบรรยายของมุฟตี อิสมาอีล เมงกฺ
โดย บินติ อัลอิสลาม
รูปประกอบ ค้นหาทางกูเกิ้ล

Read Full Post »

ครอบครัวมุสลิมในอุดมคติ
~~~~~~~~~~~~~~~
(แปลและเรียบเรียงจากบรรยายของชัยคฺอัซซิม อัลฮากีม)

ในการสรัางครอบครัวนั้น แน่นอนว่าเราย่อมต้องการที่จะมีคู่ครองที่ดี เป็นผู้ศรัทธา ยึดมั่นในหลักการศาสนา ซึ่งนี่คือครอบครัวในอุดมคติของเรา

แต่นั่นหมายความว่า บ้านของเราจะไม่มีการทะเลาะเบาะแวัง การโต้เถียงกัน ความไม่ลงรอยกันหรือไม่? ในความจริงแล้วมันแทบจะเป็นไปไม่ได้ หรืออาจจะเป็นไปได้ แต่ก็ค่อนข้างยากมาก

แม้แต่ในครอบครัวที่ดูว่าดีที่สุด ก็ยังพบว่ามีการปะทะกัน หรือการโต้เถียงกันเล็กๆ น้อยๆ บ้าง อาจจะไม่ใช่การทะเลาะวิวาทที่รุนแรง แต่มันก็มีเรื่องจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ นี่นั่นให้ได้โต้แย้ง

แม้แต่ศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กับท่านหญิงอาอิชะฮฺ (เราะฏิยัลลอฮุ อันฮา) ท่านหญิงอาอิชะฮฺเองก็เคยไม่พอใจ ขุ่นเคืองท่านเราะสูลเป็นครั้งคราว ลองคิดดูสิว่า ท่านหญิงอาอิชะฮฺไม่พอใจท่านเราะสูล! แต่มันก็เป็นเรื่องปกติระหว่างสามีและภรรยา ซึ่งมันไม่เกี่ยวขัองกับการเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺหรือการเป็นบ่าวของพระองค์แต่อย่างใด แต่มันคือเรื่องของสามีและภรรยา

ศาสนทูตมุหัมมัดเคยพูดกับท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า ‘โอ้ อาอิชะฮฺ ฉันรู้ว่าเมื่อใดที่เธอพึงพอใจฉัน และเมื่อใดที่เธอโกรธเคืองฉัน’ นางจึงถามท่านว่า ‘ท่านทราบได้อย่างไรคะ’ เราะสูลุลลอฮฺ’ ท่านตอบว่า ‘ในเวลาที่เธอโกรธเคืองฉัน เธอจะพูดว่า ‘ไม่ค่ะ ขอสาบานด้วยพระเจ้าของอิบรอฮีม!’ และในเวลาที่เธอพอใจ เธอจะพูดว่า ‘ไม่ค่ะ ขอสาบานด้วยพระเจ้าของมุหัมมัด!’ นางจึงกล่าวว่า ‘ใช่ค่ะ เราะสูลุลลอฮฺ มันเป็นเช่นนั้นจริง หากแต่ฉันก็ไม่ได้ละทิ้งสิ่งใด เว้นแต่ชื่อของท่าน และฉันก็รักท่าน แต่ในเวลาที่ฉันโกรธเคืองท่าน ฉันจะไม่เรียกชื่อของท่าน’

เช่นเดียวกับเรื่องราวระหว่างท่านหญิงฟาติมะฮฺและท่านอาลี ท่านทั้งสองก็เคยมีปัญหาโกรธเคืองกัน ครั้งหนึ่งศาสนทูตมุหัมมัดได้เข้าไปเยี่ยมบุตรสาวของท่าน และถามนางว่า ‘อาลีอยู่ไหน หรือลูก?’ นางตอบว่า ‘ท่านอาลีโกรธเคืองฉัน เพราะเราโต้เถียงกันเล็กน้อยเกี่ยวกับบางสิ่ง ท่านจึงออกไปที่มัสญิด’ ดังนั้นศาสนทูตจึงไปพบท่านอาลีที่มัสญิด และเห็นท่านกำลังนอนอยู่ที่พื้นมัสญิด ศาสนทูตจึงปลุกท่านพร้อมทั้งพูดว่า ‘จงลุกขึ้นเถอะ บิดาแห่งฝุ่นดิน’ นั่นเป็นเพราะว่าท่านนอนอยู่บนพื้นดิน ท่านอาลีจึงตอบท่านว่า ‘มันช่างเป็นชื่อที่งดงามยิ่ง กระผมจะไม่ยอมแลกเปลี่ยนมันด้วยสิ่งอื่นใด’ .. “อะบา ตุร็อบ” คือชื่อเล่นของท่านอาลี

อีกตัวอย่าง ชายคนหนึ่งทะเลาะกับภรรยาของเขา เขาไม่สามารถทนกับพฤติกรรมของนางได้ เขาจึงไปพบท่านอุมัรฺ (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ) ซึ่งเป็นเคาะลิฟะฮฺในช่วงเวลานั้น เพื่อร้องเรียน เมื่อเขาเคาะประตูบ้านของท่าน เขาก็ได้ยินภรรยาของท่านอุมัรฺกำลังแผดเสียงใส่ท่านอุมัรฺอยู่ เขาจึงพูดกับตัวเองว่า ‘นี่ฉันเดินทางมาเพื่อร้องเรียนต่อท่านอุมัรฺหรือนี่? ท่านคงต้องการความช่วยเหลือมากกว่าฉันเป็นแน่” ดังนั้นชายคนดังกล่าวจึงเดินจากไปและไม่นานนักท่านอุมัรฺก็รีบรุดมา ที่ประตู และถามหาถึงชายคนนั้น “ชายคนนั้นไปไหนเสียแล้ว จงมานี่เถอะ ท่านมีอะไรหรือไม่” เขาจึงตอบว่า “ไม่มีอะไรครับท่าน กระผมเพียงแค่มีปัญหา แต่กระผมคิดว่าท่านคงต้องการความช่วย เหลือมากกว่ากระผม” ท่านอุมัรฺจึงตอบเขาว่า

ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ หากว่าเรามองดูคู่ครอง สามี ภรรยาของเราเช่นเดียวกับท่านอุมัรฺ เราคงดำเนินชีวิตคู่ได้อย่างสวยงาม เพราะว่าเมื่อใดก็ตาม ที่ชัยฏอนมายังเราและกระซิบที่หูเราว่า “ทำแบบนี้สิ” หรือ “ทำแบบนั้นสิ” เราคงตอบมันกลับไปว่า “ไม่ เพราะเธออดทนกับฉัน ภรรยาของฉันอดทนกับพฤติกรรมของฉัน ทั้งที่ฉันมีข้อบกพร่องมากมาย ดังนั้นหากว่าอาหารที่เธอทำมันรสชาติไม่อร่อยหรือไหม้นิดๆ หรือไม่มีเกลือปรุงลงไปในอาหารเลย ฉันก็จะทานมัน ฉันจะทานสามสี่คำ และฉันก็จะบอกเธอว่า “ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนความดีงามต่อเธอ อาหารที่เธอทำอร่อยมาก”

ใช่ ผมโกหก (ศาสนาอนุมัติให้โกหกในกรณีเช่นนี้ได้) แต่เพราะเหตุใดหรือ? .. นั่นก็เป็นเพราะว่า ผมไม่พาเธอออกไปทานอาหารข้างนอกเอง ผมไม่ได้ซื้อของขวัญให้เธอ ผมไม่เมตตาต่อเธอ ผมไม่ใช่สามีที่ดีเลิศสมบูรณ์แบบ ดังนั้นผมจึงต้องอดทนต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีบางอย่างของเธอ ด้วยความหวังว่าอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลจะทรงทำให้เธออดทนต่อพฤติกรรมไม่ดีบางอย่างของผมด้วยเช่นกัน

และด้วยวิธีคิดเช่นนี้ เราย่อมสามารถสร้าง “ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ” ได้ และแน่นอนว่า อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

ผม (ชัยคฺอัซซิม) ขอวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ทรงปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีทั้งหลายของเรา และขอพระองค์ทรงทำให้บ้านของเราเป็น “บ้านมุสลิมในอุดมคติ” อามีน
————
แปลเรียบเรียง Bint Al Islam

Image

Read Full Post »

หากว่าชีวิตของคุณประสบแต่ความราบรื่น สะดวกสบายในหลายๆ ด้าน แต่ ‘มัน’ ทำให้คุณหลงลืมอัลลอฮฺ และเพิกเฉยต่อการทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์

พึงรู้ว่า ‘ความสุขสบายที่คุณได้รับเช่นนั้น’ ไม่ถือว่าเป็นความดีงามแก่ตัวคุณหรอก หากทว่ามันคือความหายนะต่อตัวคุณ

(ข้อคิด จากบรรยายของมุฟตี เมงกฺ)

Read Full Post »

ในการครองชีวิตคู่ เราควรยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า เราไม่สามารถได้มาในทุกๆ สิ่งที่เราต้องการหรอก และที่สำคัญ ไม่ใช่เราคนเดียวที่ต้องพบเจอกับความผิดหวัง หรือความรู้สึกไม่พอใจกับบางสิ่งบางอย่างในการดำเนินชีวิตคู่ แต่เราทุกคนต่างต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับิมันให้ได้ด้วยความอดทน การให้อภัย ความเข้าใจ การยอมรับ และที่สำคัญที่สุด การให้ความช่วยเหลือกัน และผลักดันกันไปสู่สิ่งที่ดีกว่าให้ได้

เชื่อเถอะว่า ไม่ใช่เราคนเดียวหรอกที่ต้องเจออะไรบางอย่างที่เราไม่ชอบ… เพียงแต่ว่า บททดสอบของเราอาจแตกต่างกันบ้างเท่านั้นเอง

(เรียนรู้และเข้าใจมากขึ้นจากการได้พูดคุยกับมุสลิมะฮ)

บินติ อัล อิสลาม

Read Full Post »

สิ่งที่น่าคิดอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับความเสียสละของสตรีในยุคก่อนที่มีต่อลูกๆ ของพวกนาง สตรีหลายท่านต้องสูญเสียสามี กลายเป็นหญิงม่ายในวัยยี่สิบต้นๆ ขณะเดียวกันพวกนางก็มีลูกติด หากทว่าพวกนางไม่ได้แต่งงานใหม่ แม้ว่าพวกนางมีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้น ทั้งนี้เป็นไปได้ว่าพวกนางต้องการทุ่มเทแรงกายแรงใจในการอบรมเลี้ยงดูลูกๆ ของพวกนางให้เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ในอิสลาม .. ยกตัวอย่างเช่น อีหม่ามอะหมัด อีหม่ามมาลิก อีหม่ามอัชชาฟีอียฺ เป็นต้น

เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งในบรรยายของดร ฮิชาม อัลอะลาวะดียฺ
เรียบเรียง:: บินติ อัลอิสลาม

Read Full Post »

สำคัญมากที่เราจะพูดคุย สื่อสารกับผู้คนตามระดับความเข้าใจของเขา เพื่อนำพาเขาไปสู่สิ่งที่ดีงาม เพราะบางครั้งการที่เราสื่อสารในระดับที่สูงกว่าความเข้าใจของเขา อาจทำให้เขาผละหนีออกจากความดีงามที่คุณพยายามหยิบยื่นให้เขา

(สรุปจากบรรยายของมุฟตี เมงกฺ หัวข้อ social networking)

Read Full Post »

ว่าด้วยเรื่องของการบริจาค.. บางครั้งเราก็ทำเหมือนว่า ‘คนยากจน ขัดสน’ เป็น เพียง ‘ถังขยะ’ ที่จะโยนอะไรใส่ลงไปก็ได้ การบริจาคที่ดี คือการที่ให้สิ่งของที่อยู่ในสภาพดีกับผู้รับบริจาค ไม่ใช่การให้ของเน่า ของเสีย ของชำรุด สภาพแย่ๆ กับพวกเขา แล้วบอกว่านี่คือการบริจาค

ถ้าของเสียก็ควรนำไปซ่อมให้ใช้การได้ก่อน อย่าคาดหวังว่าพวกเขาจะสามารถนำไปซ่อมได้ จะบริจาคอะไรให้ใคร ควรทำให้เขารู้สึกดีใจ ตื้นตันใจกับสิ่งที่ได้รับ ให้เขาได้มีความสุขเล็กๆ น้อยๆ บางเถอะ

-สรุปจากการบรรยายของมุฟตี เมงก หัวข้อ what a waste-

Read Full Post »

« Newer Posts - Older Posts »