Feeds:
Posts
Comments

Archive for the ‘จรรยามรรยาทแห่งอิสลาม’ Category

🍃🍃🍃🍃คำอธิบาย ซูเราะฮฺ อัลมาอูน🍃🍃🍃🍃

🌱เจ้าเห็นสภาพของผู้ที่ปฏิเสธการฟื้นคืนชีพและการตอบแทนหรือไม่

🌱นั่นคือ ผู้ที่ผลักไส กดขี่ ข่มเหงเด็กกำพร้า ปฏิเสธที่จะให้สิทธิที่พวกเขาพึงได้รับ ไม่ให้อาหาร หรือความช่วยเหลือใดๆ เลย

🌱เขาไม่เชิญชวน ส่งเสริมให้ผู้อื่นให้อาหารแก่คนยากจน และนอกจากตัวเขาจะไม่ช่วยเหลือเองแล้ว เขายังไม่ให้ผู้อื่นกระทำด้วย (นั่นคือเมื่อมีคนที่กำลังทุกข์ร้อน ขัดสน ขาดแคลน ต้องการความช่วยเหลือ คนที่เห็นแก่ตัวก็จะไม่สนับสนุนช่วยเหลือคนทุกข์ยากเหล่านั้น)

🌱ความหายนะจงประสบแด่บรรดาผู้ละหมาด (ที่ละเลยการละหมาดของเขา หมายถึงผู้ที่ละหมาดในที่สาธารณะ แต่ไม่ละหมาดในที่ส่วนตัว หรือผู้ที่รักษาการละหมาดอย่างดีในตอนเริ่มต้น และหลังจากนั้นเขาก็ละเลยการละหมาด หรือผู้ที่ละเลยการละหมาดในเวลาของมัน จนกระทั่งทำให้พวกเขาต้องละหมาดนอกเวลาที่กำหนด — จากการรายงานของท่านอิบนุ อับบาส) 

🌱บรรดาผู้ที่โอ้อวด แสดงตนด้วยการทำดีให้ผู้อื่นได้เห็นได้ชื่นชม 

อีหม่ามอะหฺมัดรายงานว่า นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามกระทำการใดการหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเสียงที่ดี อัลลอฮฺจะทรงลดเกียรติของเขาและทำให้เขาต่ำต้อย” 

🌱ผู้ที่หวงแหนของใช้เล็กๆ น้อยๆ แก่เพื่อนบ้าน คนในชุมชน หรือปฏิเสธที่จะแสดงความเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก พวกเขาไม่ยอมแม้แต่จะให้การหยิบยืม แก่ผู้ที่ลำบากขัดสน แม้ว่ามันจะเป็นการยืมที่จะได้รับคืนภายหลัง

สรุปเรียบเรียงจาก 

✏คัมภีร์อัลกุรอานแปลไทย

✏อรรถาธิบายอัลกุรอาน 3 ญุซอ์สุดท้าย จากอัตตัฟสีรฺ อัลมุยัสสัรฺ

✏Tafseer Ibn Katheer – part 30 juz amma

Read Full Post »

​บททดสอบของคุณ ไม่ใช่ตอนที่คุณต้องสวมใส่ฮิญาบ หรือไว้เครา แต่บททดสอบของคุณ เกิดขึ้นภายหลังเมื่อคุณได้พบกับพี่น้องมุสลิมของคุณที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง .. และมีอะไรเกิดขึ้นกับหัวใจของคุณต่างหาก 

มันคือ “ความหลงตัวเอง ความยโสทะนงตน ต่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องของคุณ” หรือ “ความอ่อนน้อมถ่อมตน ต่อทางนำของอัลลอฮฺประทานแก่คุณ พร้อมกับความพยายามและการดุอาอฺที่จริงใจของคุณต่อพวกเขาเหล่านั้น ให้เปลี่ยนแปลงตัวเองได้เช่นคุณในวันหนึ่ง” 

ตรวจสอบหัวใจของคุณ เพราะว่าความทะนงตนเพียงเศษเสี้ยวเดียวจะไม่นำพาคุณไปสู่สวนสวรรค์ (นักวิชาการเตาฟีก เชาษุรียฺ)

Read Full Post »

เพิ่มพูนริสกี ด้วยการบริจาค
@@@@@@@@@@@@
ในซูเราะอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะที่ 261 อัลลอฮฺตรัสว่า “อุปมาบรรดาผู้ที่บริจาคทรัพย์ของพวกเขาในหนทางของอัลลอฮฺนั้น ดังอุปมัยเมล็ดพืชเมล็ดหนึ่งที่งอกขึ้นเป็นเจ็ดรวง ซึ่งในแต่ละรวงนั้นมีร้อยเมล็ด และอัลลอฮฺนั้นจะทรงเพิ่มพูนแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้” (คัดลอกจากโปรแกรมอัลกุรอานแปลไทย)

ทรัพย์สินของคุณจะไม่ลดน้อยลง เมื่อคุณทำการบริจาคไปในหนทางของอัลลอฮฺ ไม่มีใครต้องยากจน อันเนื่องมาจากการบริจาค พวกเขาต่างได้รับการตอบแทนคืนกลับมา พวกเขาต่างประสบความสำเร็จ โดยที่ทรัพย์สิน และริสกีของพวกเขาเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “พวกเขาได้รับการอำนวยพรจากอัลลอฮฺมากมาย ทรัพย์สินของพวกเขามีบะเราะกัต” หมายความว่า “ทรัพย์สิน หรือปัจจัยยังชีพที่เขามี แม้ว่ามันจะมีจำนวนไม่มาก แต่มันจะคงอยู่กับเขาได้นาน ด้วยเพราะว่ามันมีบะเราะกัต อันเนื่องมาจากการบริจาคของเขา ในขณะที่ทรัพย์สินของบางคนอาจจะมีมากมายแต่มันอยู่กับเขาได้ไม่นาน เพราะมันไม่มีบะเรากัต”

เมื่อเราทำให้ทรัพย์สินของเราสะอาดบริสุทธ์ ด้วยการบริจาค หัวใจของเราก็จะบริสุทธ์ไปด้วย โดยที่มันจะไม่ยึดติดกับวัตถุทางโลก ปัญหามากมายที่เราต่างเผชิญบนโลกใบนี้ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการยึดติดกับวัตถุ ดังนั้นเมื่อเราใช้จ่ายทรัพย์สินที่มีไปในหนทางที่ถูกต้อง หัวใจเราก็จะดีไปด้วย

แน่นอนว่าพวกเราส่วนมากต่างก็รักการมีเงิน การมีทรัพย์สิน แต่ผู้ที่ใช้จ่ายทรัพย์สินของเขาไปในหนทางที่ถูกต้องดีงาม บุคคลนั้นคือคนร่ำรวยที่แท้จริง

ปัจจุบันนี้มีหลายคนเต็มใจที่จะฝากเงินของเขาไว้กับธนาคาร เพื่อที่พวกเขาจะได้รับดอกเบี้ยเป็นการตอบแทน ซึ่งเป็นหนทางที่หะรอม หนทางที่อัลลอฮฺทรงสังห้าม แน่นอนว่าเขาอาจจะได้รับดอกเบี้ย 6% 10% 20%  และมันอาจดูเหมือนว่าทรัพย์สินของเขาเพิ่มพูนขึ้นมามากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่ ดังนั้นขอให้เราปกป้องตัวเราให้พ้นจากสิ่งที่หะรอม เพราะอัลลอฮฺจะมิทรงปล่อยให้คุณประสบความสำเร็จด้วยสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งห้าม คุณจำต้องขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ และใช้จ่ายทรัพย์สินที่คุณมีไปในหนทางของพระองค์ เพราะอัลลอฮฺทรงแจ้งว่า หากเราลงทุนกับพระองค์ เราจะได้เห็นผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่กลับมา พระองค์ทรงแจ้งไว้แล้วว่า เราจะได้รับการตอบแทนเป็น 700 เท่าจากการบริจาค ดังนั้นไม่ว่าคุณจะมีมาก หรือน้อย ก็ขอให้คุณทำการบริจาคตามความสามารถ บางที “บะเราะกัตที่คุณจะได้รับจากการบริจาค” นั้น จะส่งผลให้คุณได้รับการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ไม่ด้วยหนทางใดก็หนทางหนึ่ง ซึ่งหมายรวมถึงทรัพย์สินของคุณ สุขภาพของคุณ ลูกๆ ของคุณหรือชีวิตการแต่งงานของคุณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลมาจากการใช้จ่ายทรัพย์สินของคุณทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม อัลลอฮฺได้ทรงเตือนเราด้วยว่า “ให้เราปกป้องตัวเราจากการทำลายรางวัลการตอบแทนจากการบริจาค ด้วยการล้ำเลิกบุญคุณ” เราไม่ควรล้ำเลิกบุญคุณ หรือพูดย้ำบ่อยๆ ถึงสิ่งที่เราได้ให้ใครคนหนึ่่่งไปกับเขา หรือบอกให้คนทั่วไปรับรู้ว่าเราให้อะไรใครไปบ้าง

อัลลอฮฺจะทรงตอบแทนให้คุณอย่างครบถ้วน หากว่าคุณบริจาคในหนทางของพระองค์ และคุณมีความถ่อมตนภายหลังการบริจาค โดยที่คุณไม่ล้ำเลิกบุญคุณ หรือป่าวประกาศให้ผู้อื่นรับรู้ และไม่ทำร้ายคนอื่น

อัลลอฮฺจะทรงคอยให้ความช่วยเหลือผู้ศรัทธา ตราบเท่าที่เขาให้ความช่วยเหลือผู้ศรัทธาคนอื่น หากคุณให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ อัลลอฮฺก็จะทรงช่วยเหลือคุณ หรือหากคุณให้ความช่วยเหลือสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง อัลลอฮฺก็จะทรงช่วยเหลือคุณเช่นกัน เช่นสตรีนางหนึ่งให้ความช่วยเหลือสัตว์ จนทำให้นางพ้นจากไฟนรก

อีกทั้งอัลลอฮฺยังทรงแจ้งไว้ด้วยว่า สำหรับผู้ที่ทำการบริจาค และไม่ล้ำเลิกบุญคุณ พวกเขาจะไม่มีความหวาดกลัว และไม่มีซึ่งความโศกเศร้า อัลลอฮฺจะทรงปกป้องเขาจากความโศกเศร้า อันเนื่องมาจากการบริจาค

“บรรดาผู้บริจาคทรัพย์ของพวกเขาในทางของอัลลอฮฺ แล้วพวกเขามิให้ติดตามสิ่งที่พวกเขาบริจาคไป ซึ่งการล้ำเลิกและการก่อความเดือดร้อนใดๆ นั้น พวกเขาจะได้รับรางวัลของพวกเขา ณ พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา และไม่มีความกลัวใดๆ แก่พวกเขา และทั้งพวกเขาก็จะไม่เสียใจ” {อัลบะเกาะเราะฮฺ 262}

มีหลายคนต้องประสบกับความทุกข์ทรมาน อยู่ในภาวะซึมเศร้า ความเครียด ความกดดัน นั่นเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่รักการบริจาค

คุณรู้ไหมว่า “การบริจาคของคุณ” จะเป็นสิ่งที่ช่วยคุณไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ จิตใจ ทรัพย์สิน สถานะของคุณ ลูกๆ ของคุณ ในทุกๆ ด้านของการใช้ชีวิตของคุณ และแม้แต่โลกอาคิเราะห์ของคุณ

ดังนั้น คุณควรฝึกให้ตัวคุณเป็นผู้ที่รักการบริจาค และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อยู่เสมอ

แปลเรียบเรียงบางส่วนจาก บรรยายมุฟตี อิสมาอีล เมงกฺ หัวข้อ Save yourself series-4/ โดย bint Al Islam

Read Full Post »

ปัจจุบันนี้ พวกเราต่างโชว์ โอ้อวดทุกสิ่งทุกอย่างทาง whats app, tweeter, IG, facebook โชว์แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ผู้คนเข้ามาดู สำหรับคนที่ไม่มีในสิ่งที่คุณโชว์ ก็ได้แต่นั่งมองดูด้วยหัวใจที่เจ็บปวด จากนั้นพวกเขาก็เกิดความรู้สึกอิจฉา

เราไม่จำเป็นต้องโชว์ทุกอย่างก็ได้ แน่นอนว่าบางครั้งเราอาจจะอยากโชว์สิ่งที่ดีงามสัก 2-3 อย่าง ด้วยเหตุผลที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้พบเห็น

แต่คำเตือน ก็คือ “หากคุณปรารถนาที่จะได้รับเราะฮฺมัต ความเมตตาจากอัลลอฮฺ คุณก็ควรนึกถึง และเห็นใจคนที่ไม่มีเช่นคุณ ที่คุณกำลังโชว์พวกเขาผ่านทาง social media ด้วย”

อีกทั้งยังมีคนบางประเภทที่โชว์สิ่งของที่ไม่ใช่ของตน แต่แสร้งทำเสมือนว่าเป็นของตัวเอง บางคนไปตามร้านค้า ลองสินค้า ถ่ายรูป โดยไม่ซื้อ แสร้งว่าเขาครอบครองมัน และมันก็กลายเป็นการสร้างชีวิตใหม่เพื่อการหลอกลวง

คุณโชว์ โอ้อวดผู้คนในสิ่งที่คุณไม่มี ที่คุณไม่ได้เป็น ความเมตตาประเภทใดที่คุณมี ในเมื่อจริงๆ แล้วคุณไร้ความเมตตาต่อผู้อื่น ทำไมต้องอวด ทำไมต้องสร้างความเจ็บปวดต่อจิตใจของผู้อื่น

ใช้ชีวิตด้วยวิถีของอิสลาม ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย มีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณมี ให้ความช่วยเหลือผู้คน หากคุณอยากได้รับความเมตตาจากอัลลอฮฺ ขอให้คุณมีความเมตตาต่อผู้คนที่อัลลอฮฺทรงสร้างพวกเขา

มีความกรุณา มีความเมตตา ไม่มีความตระหนี่ ไม่คิดถึงแต่ตัวเอง

หะดีษบทหนึ่ง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “จงแสดงความเมตตาต่อผู้คนบนผืนแผ่นดิน และผู้ที่ทรงอยู่บนฟากฟ้าจะแสดงความเมตตาต่อท่าน”
———-
สรุปบางส่วนจากบรรยายของมุฟตี อิสมาอีล เมงกฺ หัวข้อ Mercy to the worlds/โดย บินติ อัลอิสลาม

อัสตัฒฟิรุลลอฮฺ ขออภัยเพื่อนๆ หากการโพสต์บางอย่าง ทำร้ายจิตใจเพื่อนๆ ค่ะ

Read Full Post »

ให้อภัยผู้อื่น ให้อภัยคนที่เคยทำผิดต่อคุณหรือทำให้คุณเจ็บปวด
๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑
เมื่อนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม พิชิตมักกะฮฺและเอาชนะศัตรูของท่านได้ ท่านได้รวบรวมตัวของพวกเขามา และถามพวกเขาว่า “พวกท่านคิดว่าฉันจะทำการตัดสินกับพวกท่านเช่นไร” พวกเขาตอบว่า “ด้วยความเมตตา เพราะท่านคือผู้ที่มีคุณธรรมและเป็นบุตรของพี่ชายผู้ซึ่งมีคุณธรรมของเรา” จากนั้นท่านได้ตอบพวกเขาว่า “พวกท่านได้รับอิสระแล้ว พวกท่านได้รับการให้อภัย”

ข้อแนะนำที่จะช่วยให้คุณสามารถให้อภัยต่อผู้อื่นมีสามขั้นตอนต่อไปนี้

๑. คิดถึงคนที่สร้างความเจ็บปวดให้แก่คุณ และตั้งใจว่าจะให้อภัยพวกเขา จากนั้นก็วิงวอนขอต่ออัลลอฮด้วยความจริงใจว่า “โอ้ อัลลอฮฺ ข้าพระองค์รู้ว่าพระองค์ทรงพึงพอพระทัยต่อผู้ที่ปฏิบัติ เช่นศาสนทูตที่รักของพระองค์ได้เคยปฏิบัติ โอ้ อัลลอฮ ข้าพระองค์จะให้อภัยพวกเขาเช่นที่ศาสนทูตเคยให้อภัย ขอพระองค์ได้โปรดพึงพอพระทัยในข้าพระองค์ด้วยเถิด โอ้ อัลลอฮฺ โปรดทรงอภัยโทษแก่ความผิดบาปของข้าพระองค์ เช่นนี้ข้าพระองค์ได้ให้อภัยสิ่งที่คนเหล่านั้นได้กระทำต่อข้าพระองค์ด้วยเถิด”

๒. กล่าวทักทายด้วยถ้อยคำแห่งสันติ “อัสลามุอะลัยกุม” แก่ผู้ที่คุณไม่ปรารถนาที่จะกล่าวทักทายพวกเขาในอดีต ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในหะดีษบทหนึ่งบอกเล่าว่า มีคนคนหนึ่งถามท่านนบีมุหัมมัดว่า “การงานใดที่เป็นการงานที่ดียิ่ง” ท่านตอบว่า “การให้อาหาร และทักทายคนที่ท่านรู้จัก และคนที่ท่านไม่รู้จัก”

แน่นอนว่าเราคงไม่จำเป็นต้อง “ชอบ” คนทุกคนที่เรากล่าวทักทายพวกเขา ไม่ว่าเราจะรู้จัก หรือไม่รู้จักพวกเขาก็ตาม

อีกทั้งในหะดีษบทหนึ่ง ท่านนบีมุหัมมัด กล่าวว่า “ฉันควรจะบอกแก่พวกท่านให้ทราบถึงสิ่งหนึ่งหรือไม่ เพราะหากว่าท่านกระทำมัน ท่านจะมีความรักต่อกัน นั่นคือการกล่าวทักทายด้วยถ้อยคำแห่งสันติระหว่างกันในหมู่พวกท่าน” ซึ่งนี่หมายถึงการกล่าวทักทายเพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีที่เป็นด้านบวก มากกว่าเพื่อให้เกิดความรู้สึกชื่นชอบต่อคนที่คุณกล่าวทักทายพวกเขา

๓. ฟังหรืออ่านเรื่องราวที่เกี่ยวกับการให้อภัยผู้อื่น

แปลจากบทความของ ดร. ฮิชาม อัลอะวาดียฺ
-Bint Al Islam-

Read Full Post »

อบู อุมามะฮฺรายงานว่า นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ฉันขอรับรองซึ่งสถานที่พำนักในสวรรค์ญันนะฮฺต่อบรรดาผู้ที่ละทิ้งการโต้เถียง (ทะเลาะ) แม้ว่าเขาจะเป็นฝ่ายที่ถูกต้องก็ตาม และฉันขอรับรองซึ่งสถานที่พำนักกลางสวรรค์ญันนะฮฺ ต่อผู้ที่ละทิ้งการกล่าวเท็จแม้ว่าจะเป็นไปเพื่อความสนุกสนานก็ตาม และฉันขอรับรองซึ่งส่วนที่สูงสุดในสวรรค์ญันนะฮฺต่อผู้ที่มีพฤติกรรมมรรยาทที่ดีงาม” (สุนันอบีดาวูด 4800 หะซัน)

ท่านหญิงอาอิชะฮฺรายงานว่า “นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “แท้จริงนั้น ผู้เป็นที่เกลียดชังยิ่งต่ออัลลอฮฺ คือผู้ที่ก้าวร้าว หยาบคายในการโต้แย้ง” (เศาะหีฮฺมุสลิม เล่มที่สามสิบสี่ เลขที่หกพันสี่ร้อยสี่สิบเจ็ด)

ท่านอบู อุมามะฮฺรายงานว่า “นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “จะไม่มีผู้ใดที่หลงทาง หลังจากที่ได้รับทางนำแล้ว เว้นแต่ว่าพวกเขาหมกมุ่นอยู่กับการโต้เถียง (ทะเลาะเบาะแว้ง)” จากนั้นท่านก็อ่านอายะฮฺ “พวกเขายกตัวอย่างแก่เจ้าเพียงเพื่อการโต้แย้ง พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ชอบการโต้เถียง” (อัลกุรอาน 43:58) (สุนัน อัตติรฺมิซียฺ Book of Exegesis, 3253, เศาะหีฮฺ)

และมีการรายงานว่า มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มาจากกลุ่มชนแห่งความรู้ เขามักจะเสนอตัวเองก่อนใครอยู่เสมอ อีกทั้งยังพูดและประพฤติตัวด้วยความยโสทะนงตนในความรู้ของเขาต่อหน้าบรรดาผู้ที่อาวุโสกว่าเขา ซึ่งการกระทำนี้สร้างความขุ่นเคืองต่อท่านสุฟยาน อัษเษารียฺ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวว่า “บรรดาสลัฟนั้นไม่เคย (ประพฤติตัว) เช่นนี้ พวกท่านไม่เคยกล่าวอ้างถึงความเป็นผู้นำ หรือนั่งอยู่ตรงส่วนหัวของการชุมนุมจนกว่าพวกเขาจะได้แสวงหาความรู้แล้วเป็นระยะเวลาสามสิบปี และท่านกลับแสดงความยโสต่อหน้าบรรดาผู้ที่อาวุโสมากกว่าท่าน จงลุกขึ้นเถอะ ฉันไม่แม้แต่ต้องการที่จะเห็นท่านอยู่ใกล้ๆ กับวงสนทนาของฉัน” (อัลบัยฮากียฺ Al Madhkal Ila Al-Sunan al-Kubra 2:74)

แหล่งที่มา App: Shortcuts to Jannah
แปล บินติ อัลอิสลาม

Read Full Post »

ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ดีที่สุด
๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑
เขียนโดย อบู มุฮาวิยะฮฺ กัมดัร/ แปล บินติ อัลอิสลาม

หากพูดถึงเรื่องของการพัฒนาตนเองนั้น โดยส่วนใหญ่มักจะมีการให้ความสำคัญว่า “เราควรจะทำอย่างไรเพื่อให้เราดีที่สุด เก่งที่สุดในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่” อีกทั้งยังมีเคล็ดลับมากมายที่เราสามารถเรียนรู้ได้เกี่ยวกับการที่จะเป็นคนที่เก่งที่สุดในเรื่องทางโลกทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม บทความต่อไปนี้ เราจะมาค้นหาว่า “ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นคนที่ดีเลิศที่สุดในพระเนตรของอัลลอฮฺ”

ซึ่งเราจะหาคำตอบกันจากหลายๆ หะดีษที่เน้นย้ำถึงคุณสมบัติของผู้ที่ดีที่สุดในบรรดามุสลิม

ในฐานะของผู้ศรัทธา เราจำต้องพยายามที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้นเรามาดูกันว่าในหะดีษกล่าวไว้เช่นไรบ้าง และเรามาพยายามที่จะเป็นคนที่ดีเลิศที่สุดในพระเนตรของอัลลอฮฺกัน เพราะในท้ายที่สุดแล้ว การเป็นคนที่ดีเลิศที่สุดในดุนยานั้นย่อมไม่มีคุณค่าใด หากว่าการใช้ชีวิตของเราไม่ได้ทำให้อัลลอฮฺพึงพอพระทัย

๑. “ผู้ที่ดีที่สุดในบรรดามุสลิมนั้น คือผู้ที่บรรดาพี่น้องมุสลิม (ท่านอื่นๆ) ของเขาปลอดภัยจากมือและลิ้นของเขา” (มุสลิม)

ในการที่จะเป็นผู้ศรัทธาที่ดีที่สุดนั้น เราจำต้องเป็นคนที่มีความสงบและความอ่อนโยนเป็นอย่างมาก ผู้คนที่อยู่รอบตัวเราควรรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้ชิดเรา ไม่ใช่เพียงแค่ปลอดภัยจากการถูกกระทำทางกาย แต่ยังรวมถึงความปลอดภัยจากคำพูด วาจาของเราด้วยเช่นกัน ลองพิจารณาดูตัวเราเองและวิเคราะห์การดำเนินชีวิตของเราออกมาด้วยความจริงใจ และถามตัวเองว่า
“ฉันมักจะพูดไม่ดีกับคนอื่นๆ หรือพูดไม่ดีเกี่ยวกับคนอื่นๆ เป็นประจำหรือเปล่า”
“คนรอบตัวฉันเกรงกลัวอารมณ์ที่รุนแรงของฉันหรือเปล่า”
“คนส่วนใหญ่รู้สึกไม่ไว้ใจฉันหรือเปล่า”

คำถามเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากในการที่จะช่วยเราเพื่อปรับปรุงตัวเองให้กลายเป็นคนที่ผู้อื่นรู้สึกปลอดภัยที่จะอยู่ใกล้ชิดด้วย กฎทั่วไปก็คือ “อย่าทำร้าย” และ นี่คือหนึ่งในหลักการขั้นพื้นฐานของอิสลาม

๒. “ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่านคือผู้ที่มีมารยาทและอุปนิสัยที่ดีที่สุด” (บุคอรียฺ)

ศาสนาของเราคือศาสนาที่เน้นย้ำในเรื่องของการมีมารยาทที่ดีและการมีอุปนิสัยที่ดี “การปฏิบัติตัวของเราต่อผู้คนเป็นเช่นไร” คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าเราเข้าใจศาสนาของเราดีเพียงใด

แต่เป็นที่น่าเศร้าที่บางคนกลับกลายเป็นคนที่แข็งกระด้าง ไม่สุภาพ และหยิ่งยโสเมื่อพวกเขาเพิ่งจะเริ่มปฏิบัติตัวตามหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่อิสลามสอน การที่จะเป็นผู้ศรัทธาที่ดีที่สุดนั้น เราจำต้องแสดงออกซึ่งมารยาทที่ดีที่สุดอยู่เสมอ รวมถึงการรับมือ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนประเภทต่างๆ  “มารยาทคือสิ่งที่มึความสำคัญเป็นอย่างมากในการที่จะทำให้ความศรัทธาของเรานั้นสมบูรณ์”

๓. “ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่ผู้คน คือผู้ที่สร้างประโยชน์อย่างมากที่สุดต่อมวลมนุษย์”(ดาเราะกุฎนียฺ, หะซัน)

อิสลาม ไม่ใช่ศาสนาที่เห็นแก่ตัว และไม่ใช่ศาสนาที่เน้นเพียงแค่การทำอิบาดะฮฺส่วนตัวของบุคคล หากทว่า มุสลิมที่ดีที่สุด คือผู้ที่อุทิศชีวิตของพวกเขาในการรับใช้อุมมะฮฺเพื่ออัลลอฮฺ

พวกเราแต่ละคนต่างมีทักษะและความรู้ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ มันคือหน้าที่ของเราในฐานะของมุสลิมในการที่จะใช้ทักษะเหล่านั้นเพื่อสร้างประโยชน์ต่ออุมมะฮฺ ไม่ใช่เพียงแค่การให้ความสำคัญต่อตัวเราเพียงอย่างเดียว ทำให้การรับใช้ชุมชนเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตของคุณ เพราะนี่คือสิ่งที่มุสลิมทำกัน

๔. “ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่านคือผู้ที่เรียนอัลกุรอานและสอนมัน (แก่ผู้คน)” (ดาริมียฺ เศาะเหียฮฺ)

อัลกุรอาน คือรากฐานของศาสนาของเรา มันคือหน้าที่ของเราในการที่จะศึกษาเรียนรู้มัน ทำความเข้าใจมัน และปฏิบัติตามมัน ใช้ชีวิตโดยให้มันเป็นแนวทาง และแผ่สารของมันไปยังผู้อื่น สิ่งที่ดีงามที่สุดที่มุสลิมสามารถอุทิศชีวิตของเขาได้ คือการเรียนอัลกุรอานและสอนอัลกุรอาน

ซึ่งรวมไปถึงการสอนการอ่านอัลกุรอานแก่ผู้คน การสอนตัจวีด ตัฟซีรฺ อาหรับ ฮิฟซ์ และแม้แต่การสอนศาสนา เพราะวิชาศาสนาทั้งหมดจำต้องอาศัยการเรียนรู้ความหมายอายะฮฺที่แตกต่างกันออกไปในอัลกุรอาน ขอให้เราทั้งหลายแสวงหาหนทางที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานที่ดีงามนี้ เพื่อที่ว่าเราจะได้กลายเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ดีที่สุดในอุมมะฮฺนี้

๕. “ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่าน คือผู้ที่ดีที่สุด (ในการปฏิบัติ) ต่อครอบครัวของเขา และฉัน (นบีมุหัมมัด) คือผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่าน (ในการปฏิบัติ) ต่อครอบครัวของฉัน” (ติรมิซียฺ, เศาะเหียะฮฺ)ุ

เราปฏิบัติตัวเช่นไรกับครอบครัวของเราภายในบ้าน (ในที่ส่วนตัว) คือบททดสอบที่แท้จริงแห่งความศรัทธาและอุปนิสัยที่แท้จริงของเรา มันเป็นการง่ายมากที่จะเสแสร้งทำตัวเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นผู้ศรัทธา และมีมารยาทที่ดีงามในที่สาธารณะต่อหน้าผู้คน แต่การทำตัวให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรมความดีงาม มีความอ่อนน้อม น่ารักอ่อนโยน และมีมารยาทที่ดีงามภายในบ้านนั้น คือสัญญาณแห่งความศรัทธาที่แท้จริงของเรา

การที่จะเป็นบุคคลที่ดีเลิศที่สุดได้นั้น เราจำต้องปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และปฏิบัติต่อคนในครอบครัวของเราเป็นอย่างดี ผู้ศรัทธาที่แท้จริง คือมุสลิมที่ดีทั้งในที่สาธารณะและในที่ส่วนตัว

ข้อสรุปจากหะดีษทั้งห้าบทนี้ เราได้เรียนรู้ว่า ผู้ที่ดีที่สุดในบรรดามุสลิม คือผู้ที่
ไม่ทำร้ายผู้อื่น
-มีมารยาทและอุปนิสัยที่ดีงาม
-สร้างประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์
-เรียนและสอนอัลกุรอาน
-ปฏิบัติต่อคนในครอบครัวของเขาเป็นอย่างดี

ขอให้เราพยายามอย่างหนักที่จะปฏิบัติตามหะดีษทั้งห้าบทนี้

รูป จากอินเตอร์เนต

image

Read Full Post »

image

ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเพื่ออัลลอฮฺ เป็นพยานด้วยความเที่ยงธรรม และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใด ทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า และพึงยำเกรง อัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน (ซูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺ 05:08) *คัดลอกจากโปรแกรมอัลกุรอาน

ความยุติธรรม คือองค์ประกอบสำคัญของความตักวา (ซูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺ 05:08)
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
เขียนโดย อบู มุอาวิยะฮฺ อิสมาอีล กัมดัรฺ
แปล บินติ อัลอิสลาม

ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเพื่ออัลลอฮฺ เป็นพยานด้วยความเที่ยงธรรม และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใด ทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า และพึงยำเกรง อัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน (ซูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺ 05:08) *คัดลอกจากโปรแกรมอัลกุรอาน

อายะฮฺนี้คือหนึ่งในถ้อยคำที่มีความหมายทีทรงพลังที่สุดในอิสลาม อันเกี่ยวกับความสำคัญของความยุติธรรม ในอายะฮฺนี้ อัลลอฮฺทรงชี้แจงว่า “ความยุติธรรม” เป็นสิ่งที่ใกล้ชิดที่สุดกับ “ความตักวา (ยำเกรง)”  หมายความว่า ความยุติธรรมคือ  ส่วนสำคัญของคุณธรรมความดีงาม ‘มุสลิมคนหนึ่ง จะไม่ถือว่าเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง ณ ที่อัลลอฮฺ  หากว่าเขาเป็นผู้ที่ไร้ซึ่งความยุติธรรมต่อสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้าง แม้ว่าเขาจะละหมาดและถือศีลอดอย่างมากมายก็ตาม นี่เป็นเพราะว่า ‘ความยุติธรรม’ คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความศรัทธาที่แท้จริง ผู้ใดก็ตามที่เชื่อว่าอัลลอฮฺทรงรับรู้ถึงทุกสิ่งที่เขาทำ และเขาจะต้องตอบคำถาม ณ ที่อัลลอฮฺในทุกๆ การกระทำของเขาย่อมได้รับความชอบธรรม

นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าความเข้าใจของเราที่มีต่อ “ความตักวา” นั้นผิดเพี้ยนไปไกลจากความเข้าใจของมุสลิมยุคแรกเพียงใด พวกเขาต่างให้คุณค่าความสำคัญต่อความยุติธรรมมากกว่าการละหมาดนะฟีลและการถือศีลอดนะฟีล (สมัครใจ สุนนะฮฺ) เพราะความยุติธรรมคือหนึ่งปัจจัยขั้นพื้นฐานของกฏแห่งอิสลามและหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ศรัทธาทุกคน

ท่านอุมัรฺ อิบนุ อับดุล อะซีซ ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในบรรดาเคาะลีฟะฮฺที่มีคุณธรรมที่สุดในยุคต้นๆ ซึ่งภรรยาของท่าน นางฟาติมะฮฺ บินตฺ อับดุลมาลิก บรรยายคุณลักษณะของท่านไว้ว่า “ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ท่านจะไม่ละหมาดหรือถือศีลอดมากกว่าใครอื่นใด หากทว่า ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ฉันเองไม่เคยพบเห็นใครคนใดที่มีความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺมากไปกว่าท่านอุมัรฺ!”

หากว่าท่านอุมัรฺไม่ได้ละหมาดหรือถือศีลอด (นะฟีล) มากไปกว่ามุสลิมทั่วไป เหตุใดท่านจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่อยู่กลุ่มคนที่มีคุณธรรมที่สุดในยุคสมัยของท่าน แม้แต่ภรรยาของท่านเองก็ยืนยันเช่นนั้น? นั่นเป็นเพราะความรับผิดชอบของท่านที่มีต่อความยุติธรรมในทุกๆ ด้านของการใช้ชีวิตของท่าน แบบอย่างนี้แสดงให้เห็นว่ามุสลิมในยุคแรกนั้นเชื่อม “ความยุติธรรม” กับ “ความตักวา” เข้าไว้ด้วยกัน

ปัจจุบันนี้ เมื่อพูดถึงเรื่องของ “ความไม่ยุติธรรม” เราก็มักจะคิดในเรื่องของการเมืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มุสลิมหลายคนมองข้ามอายะฮฺนี้ไปและคิดว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับเขา แต่ในความเป็นจริง “ความยุติธรรม” คือคุณสมบัติที่ควรมีในมนุษย์ทุกคน ส่วน “ความไม่ยุติธรรม” นั้นเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ และมีมุสลิมหลายคนที่มักวิพากษ์วิจารณ์ความเผด็จการ การใช้อำนาจกดขี่ของผู้นำ ในขณะที่ตัวของพวกเขาเองก็เผด็จการ กดขี่ข่มเหงคนจำนวนหนึ่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของพวกเขา

สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้คือรูปแบบของความอธรรมที่เกิดขึ้นได้ด้วยน้ำมือของมุสลิมเอง

1. ทารุณ สบประมาทคนในครอบครัว
2. ข่มเหงลูกจ้าง
3. ทำร้ายสัตว์และทำลายสิ่งแวดล้อม
4. เข้าข้างสมาชิกครอบครัว ทั้งที่เขาเป็นฝ่ายผิด
5. แสดงความรักต่อลูกคนใดคนหนึ่งมากกว่าอีกคนหนึ่ง หรือต่อภรรยาคนหนึ่งมากกว่าอีกคนหนึ่ง
6. ปล่อยข่าวลือ เรื่องโกหก ใส่ร้ายเกี่ยวกับผู้อื่น

ดังนั้นก่อนที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์ความไม่ยุติธรรมของผู้อื่น เราจำต้องย้อนมองดูการใช้ชีวิตของตัวเราเองด้วย หากเราต้องการเห็นความยุติธรรมในระดับการเมือง มันควรต้องเริ่มจากตัวเราแต่ละคนก่อนในการที่จะแพร่ขยายความยุติธรรมในระดับของบุคคล เมื่อเรามีความยุติธรรม เที่ยงตรงต่อสิ่งถูกสร้างของอัลลอฮฺ เราก็จะสัมผัสได้ถึงความดีงามที่แท้จริง และความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ

Read Full Post »

image

และจงให้แก่บรรดาเด็กกำพร้าซึ่งทรัพย์สมบัติของพวกเขา และจงอย่าเปลี่ยนเอาของเลวด้วยของดี และจงอย่ากินทรัพย์ของพวกเขาร่วมกับทรัพย์ของพวกเจ้า แท้จริงมันเป็นบาปอันยิ่งใหญ่ (ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ 04:02) คัดลอกจากโปรแกรมอัลกุรอาน

ทรัพย์สินที่ต้องถูกสอบสวน (ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ 04:02)
~~~~~~~~~~~~
เขียนโดย อบู มุอาวิยะฮฺ อิสมาอีล กัมดัรฺ
แปล บินติ อัลอิสลาม

“และจงให้แก่บรรดาเด็กกำพร้าซึ่งทรัพย์สมบัติของพวกเขา และจงอย่าเปลี่ยนเอาของเลวด้วยของดี และจงอย่ากินทรัพย์ของพวกเขาร่วมกับทรัพย์ของพวกเจ้า แท้จริงมันเป็นบาปอันยิ่งใหญ่ ” (ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ 04:02)

อายะฮฺนี้ถูกประทานลงมาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตัวต่อบรรดาเด็กกำพร้าของคนนอกรีต (มุชริก) ชาวอาหรับ

คำว่า “เด็กกำพร้า” ในความหมายตามหลักอิสลาม คือ เด็กที่ “บิดาของเขาได้เสียชีวิต” ซึ่งเด็กเหล่านี้จะถูกจัดประเภทว่าเป็น “เด็กกำพร้า” ในชารีอะฮฺจนกระทั่งพวกเขาเข้าสู่วัยบรรลุนิติภาวะ และมันเป็นธรรมเนียมของชาวอาหรับที่สมาชิกอาวุโสของครอบครัวจะทำหน้าที่ดูแลเด็กกำพร้าและมรดก (ทรัพย์สิน) ของพวกเขา จนกระทั่งเด็กกำพร้าเหล่านั้นมีอายุมากพอที่จะเรียกร้องขอสิทธิในมรดกนั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองเด็กกำพร้าหลายคนมักจะละเมิดทรัพย์สินของพวกเขาและใช้จ่ายมรดกของพวกเขาเสมือนว่าเป็นทรัพย์สินของตัวเอง  และปฏิเสธที่จะมอบมรดกให้แก่พวกเขาเมื่อพวกเขาบรรลุวัยผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้อายะฮฺนี้จึงถูกประทานลงมาเพื่อตำหนิและสั่งห้ามการกระทำดังกล่าว

ในความหมายที่กว้างกว่านั้นสำหรับอายะฮฺนี้นั้นยังใช้ได้ในสถานการณ์ที่เมื่อมีใครคนหนึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลทรัพย์สินของผู้อื่น ทรัพย์สินเหล่านั้นจำต้องได้รับการให้เกียรติ (ไม่ถูกละเมิด) อีกทั้งนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้จัดประเภทของการละเมิดทรัพย์สินเช่นนี้ว่าเป็นคุณสมบัติของ “คนกลับกลอก” ซึ่งสิ่งนี้ได้สอนเราในหลักการศาสนาอิสลามว่า เราจะต้องถูกสอบสวน ณ ที่อัลลอฮฺว่าเราได้ใช้จ่ายทรัพย์สินอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินของเราเอง หรือทรัพย์สินที่เราได้รับการมอบหมายให้ดูแล

ส่วนหนึ่งของความดีงามในอิสลาม คือ การมีความเข้าใจว่าเราต่างต้องถูกสอบสวนว่าเราได้รับรายได้มาอย่างไร และเราได้ใช้จ่ายทรัพย์สินของเราออกไปอย่างไร มันไม่มีการกำหนดขอบเขตในอิสลามว่าเราได้รับรายได้มาจำนวนเท่าไร หากทว่ามันเป็นเรื่องของ “การหามา” และ “การใช้จ่ายออกไป” ที่เราจะต้องถูกสอบสวน การตระหนักรู้ถึงหน้าที่ความรับผิดชอบนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในความสัมพันธ์ของเราที่มีต่ออัลลอฮฺ เพราะผู้ที่สามารถละเมิดทรัพย์สินได้นั้นก็มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะทำการละเมิดอำนาจและทรัพยากรอื่นๆ ได้เช่นกัน  ในขณะที่คนคนหนึ่งที่รู้ว่า “ทรัพย์สิน” คือของขวัญ และบททดสอบจากอัลลอฮฺ ย่อมจะทำให้การได้มาซึ่งรายได้ของเขานั้นมีความสุจริต เที่ยงตรง และการใช้จ่ายของเขานั้นมีความสะอาดบริสุทธิ์

ตัวอย่างของของบรรดาผู้ปกครองของเด็กกำพร้าที่กล่าวมาข้างต้นได้สอนพวกเราไม่ให้ทำการละเมิดอำนาจที่มีอยู่ และโดยปกติแล้ว บรรดาเด็กกำพร้าเองก็ไม่มีความสามารถหรือหนทางใดๆ ที่จะต่อกรกับผู้ปกครองที่อธรรมได้ และมีหลายคนที่ฉวยโอกาส หาผลประโยชน์จากสถานการณ์เช่นนี้ด้วยการละเมิดเด็กกำพร้าด้วยหนทางใด หนทางหนึ่ง อายะฮฺนี้จึงเป็นการตักเตือนที่รุนแรงต่อคนประเภทนั้น

หากว่าอัลลอฮฺทรงมอบหมายอำนาจในการดูแลใครก็ตามให้แก่คุณ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว ลูกจ้าง หรือเด็กกำพร้า นั่นหมายความว่าคุณต้องรับผิดชอบกับอัลลอฮฺว่าคุณปฏิบัติต่อผู้คนเหล่านั้นอย่างไร โปรดใคร่ครวญถึงอายะฮฺนี้ หากว่าคุณเคยสัมผัสถึงการถูกล่อลวงให้ทำการละเมิดอำนาจของตำแหน่งหน้าที่การงานกับผู้อื่น

Read Full Post »

บทบาทมุสลิมะฮฺต่อเพื่อนและพี่น้องแห่งอิสลาม ตอนที่ 5

wpid-29514_126460667371680_7043764_n.jpg

Source: หนังสือ Ideal Muslimah: The Muslim Woman and her friends and sisters in Islam
แปลโดย บินติ อัลอิสลาม และเรียบเรียงโดย พี่สาวมุสลิมะฮฺใจดี

เธอรังเกียจการนินทาพี่น้องของเธอ

มุสลิมะฮฺผู้มีความตื่นตัวย่อมไม่ปล่อยให้ตัวเธอตกอยู่ในวงจรของ “การนินทาหรือเข้าร่วมกลุ่มที่มีการนินทา เธอจะยับยั้ง ลิ้น ให้ออกห่างและหลีกเลี่ยงการใส่ร้ายเพื่อนหรือพี่น้องของเธอในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เธอให้ความใส่ใจต่อสิ่งนี้และถือว่าเป็นหน้าที่ที่เธอต้องปกป้องตัวเธอออกจากการนินทาอันต่ำช้า เพราะการนินทานั้นเป็นสิ่งที่หะรอมโดยชัดแจ้งดังที่กล่าวไว้ในอัลกุรอาน ว่า

และพวกเจ้าอย่าสอดแนม อย่านินทาซึ่งกันและกัน คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ พวกเจ้าย่อมเกลียดมันและจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ (อัลหุญร็อต 49.12)

มุสลิมะฮฺจะคอยระงับจากการปล่อยให้ตัวเองพูดคุยในเรื่องที่อาจนำไปสู่การนินทาอยู่เสมอ และด้วยความเข้าใจในอิสลาม เธอย่อมทราบดีว่า ลิ้น นั้นเป็นสิ่งที่อาจทำให้เจ้าของมันตกลงสู่ไฟนรก

ดังที่มีการกล่าวไว้ในหะดีษ ซึ่งท่านศาสนทูต  เคยกล่าวเตือน มูอ๊าซ อิบนุ ญะบัล และท่านได้จับที่ลิ้นของท่าน และกล่าวว่า จงยับยั้งสิ่งนี้ มูอ๊าซ กล่าวว่า โอ้ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ เราจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราพูดด้วยหรือ ท่านศาสนทูตกล่าวว่า โอ้ ขอให้มารดาของท่านทำให้ท่านต้องหมดอายุขัยเถอะ! มันมีอะไรบ้างเล่า ที่เป็นเหตุให้ใบหน้าของประชาชาติต้องถูกโยนลงไปในไฟนรก  (หรือท่านกล่าวว่า ด้วยจมูกของพวกเขา) หากแต่เป็นผลผลิตที่ออกมาจากลิ้นของเขา[1]

การนินทา คือคุณลักษณะอันชั่วร้าย ที่ไม่คู่ควรกับสตรีผู้ได้รับทางนำแห่งอิสลาม สตรีเหล่านี้ปฏิเสธการเป็นคนสองหน้า กลับกลอกรวมไปถึงการนินทาใส่ร้ายเพื่อนพี่น้องของเธอในยามที่พวกเขาไม่อยู่ และในขณะเดียวกันเมื่อเธอพบพวกเขา เธอกลับมีรอยยิ้มที่อบอุ่นและแสดงออกถึงมิตรภาพอันดี

เธอตระหนักดีว่า การเป็นคนแปรปรวนโลเล ไม่จริงใจเช่นนี้เป็นสิ่งที่ หะรอม ตามหลักการอิสลาม อันมีพื้นฐานอยู่บนความซื่อตรงจริงใจ ยุติธรรม เปิดเผยความจริง ลักษณะนิสัยที่ดีดังกล่าวนี้ มีในบุรุษและสตรีผู้ศรัทธา เพราะอิสลามได้ประณามลักษณะนิสัยที่ตรงกันข้ามคือ การเป็นผู้ที่มีความโลเล ไม่จริงใจ กลับกลอก เป็นลักษณะนิสัยที่น่ารังเกียจ โดยที่บุคคลใดก็ตามมีลักษณะที่ว่านี้ได้ถูกระบุว่าเป็น คนสองหน้า และบรรดาคนสองหน้าเหล่านี้ ถือว่าเป็นมนุษย์ประเภทที่ชั่วร้ายที่สุด ณ สายตาของอัลลอฮฺ  ดังที่ท่านศาสนทูต  เคยกล่าวไว้ว่า  ท่านจะพบหมู่คนที่มีลักษณะที่ชั่วร้าย ณ สายตาของอัลลอฮฺในวันแห่งการตัดสิน เขาเหล่านั้นคือผู้ที่มีลักษณะนิสัยเป็นคนสองหน้า ผู้ที่เข้าหาผู้คนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง (ด้วยการกระทำกลับกลอก) [2]

สตรีผู้ศรัทธาคือผู้ที่มีความซื่อตรงและมั่นคง ไม่อ่อนไหว ไม่เป็นคนสองหน้า เธอจะมีความสดใส ร่าเริงและปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมด้วยคุณธรรมและมรรยาท เธอไม่ลืมว่าการเป็นคนสองหน้านั้นคือ การเป็นคนกลับกลอกอิสลามและลักษณะนิสัย กลับกลอก ย่อมไปด้วยกันไม่ได้ และสตรีผู้มีลักษณะเป็นผู้กลับกลอกจะได้อยู่ในชั้นต่ำสุดของนรก

เธอหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้ง และการล้อเล่นที่เลยเถิด อีกทั้งการผิดคำสัญญาต่อพี่น้องของเธอ

หนึ่งในมรรยาทอันดีของมุสลิมะฮฺ คือการมีความพอดี การมีไหวพริบและปฏิภาณ เธอหลีกเลี่ยงการทะเลาะที่ก่อให้เกิดโทสะกับพี่น้อง เธอจะไม่สร้างความรำคาญกับพวกเขาด้วยการล้อเล่นที่เลยเถิด (อันสร้างความเสียใจแก่พวกเขา) และเธอไม่ผิดคำสัญญาที่เคยให้ไว้ต่อพวกเขา ด้วยเพราะว่าเธอดำเนินชีวิตตามแนวทางของท่านศาสนทูต จงอย่าทะเลาะกับพี่น้องของท่าน จงอย่าล้อเล่นกับเขาจนเลยเถิด จงอย่าให้คำสัญญาต่อเขาและผิดคำสัญญา (ภายหลัง)[3]

การโต้เถียงหรือทะเลาะกันจนเกินขอบเขตถือเป็นพฤติกรรมชั่วร้ายอันเป็นเหตุให้หัวใจของเรานั้นเต็มไปด้วยความเกลียดชังและความน่ารังเกียจ และ การล้อเล่นที่สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้อื่นนั้นเป็นตัวทำลายความบริสุทธิ์ของความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง อีกทั้ง การผิดคำสัญญานั้นบั่นทอนความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น และยังทำลายเกียรติระหว่างพวกเขา มุสลิมะฮฺที่มีความตื่นตัวและตระหนักในเรื่องนี้จึงต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าว อันเป็นสาเหตุให้บุคคลคนหนึ่งกลายเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจ

เธอมีน้ำใจและให้เกียรติต่อพี่น้องของเธอ

มุสลิมะฮฺผู้ที่เข้าใจคำสอนของศาสนาจะเป็นผู้ที่มีน้ำใจไมตรีและเป็นผู้ให้ต่อพี่น้องของเธอ ลักษณะที่ทำให้เธอเป็นผู้ที่น่าคบหา คือการที่เธอเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและมีความจริงใจเมื่อเธอเชิญชวนพวกเขา และให้การต้อนรับพวกเขาอย่างอบอุ่นอีกทั้งยังให้อาหารแก่พวกเขาอย่างสมบูรณ์ด้วยความเต็มใจ

การเลี้ยงอาหารร่วมกันนั้น เป็นส่วนช่วยกระชับความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องระหว่างกันให้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น และเติมเต็มชีวิตของพวกเขาด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความดีงาม ซึ่งสิ่งนี้เราไม่สามารถพบในการดำเนินชีวิตของบรรดาสตรีตะวันตกที่เกิดมาในสังคมวัฒนธรรมวัตถุนิยม และถูกเติมเต็มด้วยจิตวิญญาณของการฉวยโอกาส ความเห็นแก่ตัว การแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองเท่านั้น แท้จริงแล้ว สตรีตะวันตกเหล่านี้ต่างทนทุกข์ทรมานจากความว่างเปล่าของจิตวิญญาณและอารมณ์ความรู้สึกที่ด้านชา เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกถูกกีดกันจากการมีความสัมพันธ์อันบริสุทธิ์และมิตรภาพที่แท้จริง ปราศจากเพื่อนที่จริงใจ นี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวตะวันตกทั่วไป โดยเฉพาะสตรี พวกเธอจึงพยายามทดแทนมันด้วยการอุทิศเวลาที่มีอยู่ไปกับการเลี้ยงดูสุนัข และเติมส่วนอารมณ์ความรู้สึกที่ขาดหายไปซึ่งควรได้รับจากมนุษย์ด้วยกัน โดยใช้ปรัชญาการหลงใหลคลั่งไคล้ในวัตถุนิยมเข้ามาทดแทน

นักข่าวชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเล่าว่า มีสุนัขจำนวนเจ็ดล้านตัวในฝรั่งเศส ประเทศซึ่งมีจำนวนประชากรทั้งหมด 52 ล้านคน สุนัขเหล่านี้อาศัยอยู่กับเจ้านายของมันดังเช่นสมาชิกในครอบครัว จึงไม่ถือเป็นเรื่องแปลกที่จะพบเห็นสุนัขและเจ้านายของมันกินอาหารบนโต๊ะเดียวกันตามร้านอาหารในฝรั่งเศส เมื่อเจ้าหน้าที่องค์กรสวัสดิการสัตว์ในเมืองปารีสถูกถามว่า เหตุใดชาวฝรั่งเศสจึงให้การปฏิบัติต่อสุนัขของพวกเขาเหมือนที่เขาปฏิบัติต่อตัวเขาเอง เจ้าหน้าที่ตอบว่า เพราะพวกเขาต้องการมอบความรักให้ใครสักคน หากแต่พวกเขาไม่สามารถที่จะหาใครที่เหมาะสมพอที่จะรับความรักนี้ได้[4]

สังคมของผู้หลงใหลวัตถุนิยมไม่ว่าในตะวันตกหรือตะวันออกนั้น พวกเขาไม่สามารถพบเจอมิตรแท้ที่จะมอบความรัก ความรู้สึกดีๆ ให้ได้ ดังนั้นเขาจึงเลือกที่จะมอบความรักให้แก่สัตว์เลี้ยงทั้งหลาย ซึ่งเขาคิดว่าพวกมันนั้นมีความอ่อนโยน ซื่อสัตย์มากกว่ามนุษย์ที่อยู่ล้อมรอบตัวเขา – การมอบความรักจนเกินขอบเขตต่อสัตว์แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่เสื่อมทรามขั้นรุนแรงของมนุษย์ เมื่อเขาปราศจากซึ่งความศรัทธาและทางนำ ??

อารมณ์ทุกข์ทรมานและความรู้สึกภายในจิตวิญญาณของชาวตะวันตกเสื่อมทรามลงเรื่อยมา  และเป็นหนึ่งในอันดับต้นๆ ที่ดึงดูดความสนใจจากนักเขียนอาหรับซึ่งอพยพไปยังประเทศตะวันตก ทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม — พวกเขาสังเกตว่าวิถีชีวิตวัตถุนิยมที่ครอบงำสังคมตะวันตกนั้นทำให้มนุษย์กลายเป็นดังเช่น เครื่องจักร ที่ไม่รับรู้ถึงสิ่งใดเลยในชีวิต นอกจากการทำงาน ผลผลิตและการแข่งขันอันดุเดือด พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรคือรอยยิ้มอันอบอุ่นที่ควรมีต่อเพื่อนมนุษย์ พวกเขาถูกครอบงำด้วยความเกลียดชังและการใช้ชีวิตเสมือนเครื่องจักร

สัญญาณร้ายเหล่านี้สัมผัสได้จริง บรรดานักเขียนชาวอาหรับที่เติบโตมาในโลกอิสลามและดำเนินชีวิตด้วยจิตวิญญาณที่เปี่ยมความอดทนอดกลั้นและหัวใจที่ถูกเติมเต็มและพร้อมเผื่อแผ่ความรักต่อพี่น้องเพื่อนฝูง เริ่มทำการเรียกร้องชาวตะวันตกให้เห็นถึง คุณค่าของความรักและความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องระหว่างมนุษย์ ด้วยกัน หนึ่งในบรรดาผู้เรียกร้องนั้นคือ นาซิบ อริดาฮฺ  ผู้ริเริ่มทำการปลุกระดมให้เกิด การมีมนุษยธรรม ในจิตใจของชาวตะวันตก ผู้ซึ่งหัวใจของพวกเขาเปรอะเปื้อนด้วยรสนิยมวัตถุและถูกทำให้ตาบอด หูหนวกด้วยเสียงดังกึกก้องของเครื่องจักร

โอ้ เพื่อนของฉัน โอ้ ผู้ร่วมทางของฉัน โอ้ เพื่อนร่วมงานของฉัน ความรักที่ฉันมีต่อท่านนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือเป็นความปรารถนาเพื่อที่จะตั้งเงื่อนไขบางอย่างกับท่าน จงตอบฉันด้วยการกล่าวว่า โอ้ พี่น้องของฉัน โอ้ เพื่อนของฉัน และกล่าวซ้ำอีกครั้ง เพราะว่ามันเป็นคำพูดที่สวยงามที่สุด หากท่านปรารถนาที่จะเดินเพียงลำพัง หรือหากท่านเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายในตัวฉัน ก็ไม่เป็นไร ท่านจงเดินตามทางของท่านต่อไปเถิด หากแต่ท่านจะได้ยินเสียงของฉัน ร้องเรียกว่า โอ้ พี่น้องของฉัน ขอให้ท่านรับข้อความนี้เถิด และเสียงสะท้อนของความรักจากฉันจะไปถึงท่านไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม แล้วท่านจะเข้าใจความงดงาม และความประเสริฐของมัน[5]

ความหนักหน่วงของชีวิตแบบวัตถุนิยมในตะวันตกกลายเป็นเรื่องหนักหนาเกินกว่าที่ ยูซูฟ อัซอัส ฆอนิม  จะทนรับได้ ทำให้เขาไม่สามารถฝืนทนกับการมีชีวิตที่เต็มไปด้วยปัญหาและจมอยู่ในทะเลแห่งวัตถุนิยมนี้ได้อีกต่อไป อีกทั้งมันยังทำให้จิตวิญญาณของเขาขาดซึ่งความสดชื่น ความเป็นสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง ความรู้สึกอ่อนโยนทางอารมณ์นั้นหายไป เช่นนั้นแล้วเขาจึงปรารถนาที่จะไปอยู่ในดินแดนอาหรับที่เป็นโลกแห่งอิสลาม ดินแดนที่ท่านศาสนทูตถือกำเนิด และบ้านแห่งความรัก ความเป็นพี่น้อง และความบริสุทธ์ เขาปรารถนาว่าเขาจะได้อาศัยในเต็นท์อาหรับและละทิ้งโลกอันศิวิไลซ์ที่เต็มไปด้วยเสียงและแสงไฟอันเร่าร้อน

หากว่าฉันนั้นเกิดมามีชีวิตในดินแดนอาหรับ ฉันจะทำการสรรเสริญต่ออัลลอฮฺ  สำหรับชีวิตที่แสนสั้น หากแต่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์บนโลกนี้ที่ซึ่งพระองค์นั้นถูกรักโดยหัวใจของประชาชาติ ฉันเหน็ดเหนื่อยกับความเป็นไปของโลกตะวันตก ซึ่งความเหน็ดเหนื่อยของมันก็เบื่อหน่ายตัวฉันเช่นกัน จงนำเอารถยนต์ทั้งหลายของท่าน เครื่องบินหลายลำของท่านออกไป และนำเอาอูฐและม้ามาให้แก่ฉัน จงนำเอาโลก ดินแดน ทะเล ท้องฟ้าของชาวตะวันตกออกไป และนำเอาเต้นท์ของชาวอาหรับมาให้แก่ฉัน เต็นท์ที่ฉันจะนำไปปัก ณ ที่ใดที่หนึ่งบนภูเขาลูกใดลูกหนึ่งในบ้านเกิดของฉัน เลบานอน หรือ หาดบาราด้า หรือชายฝั่งของไทกริสและยูไฟรติส หรือชนบทของอัมมาน หรือ ทะเลทรายแห่งซาอุดิอารเบีย หรือในแคว้นที่ไม่มีใครรู้จักในเยเมน หรือบนเนินของปิระมิด หรือโอเอซิสแห่งลิเบีย … จงนำเอาเต็นท์อาหรับมาให้ฉัน และฉันจะถ่วงมันไว้เพื่อต้านโลกทั้งใบ และ..[6]

งานเขียนของนักเขียนชาวอาหรับที่อพยพเหล่านั้นมีการแสดงออกในท่วงทำนองที่เหมือนกัน หากแต่มันก็เพียงพอที่จะยกตัวอย่างได้ว่า งานเขียนของพวกเขานั้นได้แสดงออกซึ่งความรู้สึกของผู้ที่รอคอยความสมบูรณ์ของอารมณ์ที่พวกเขาระลึกถึงเมื่อย้ายเข้ามาอยู่ในโลกตะวันตก ประสบการณ์ที่ปลุกให้พวกเขารอคอยการกลับไปยังโลกตะวันออกที่ซึ่งมี อิสลามซึ่งแพร่ไปด้วยความรัก ความเป็นพี่น้อง ความรู้สึกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแน่นแฟ้น

อิสลามได้เพาะหว่านเมล็ดพันธ์แห่งความรักและการสานสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องขึ้นในจิตวิญญาณของผู้ที่ปฏิบัติตามหลักการศาสนา อีกทั้งยังสร้างแรงสนับสนุนให้พวกเขาทำความรู้จักและแบ่งปันกัน การเยี่ยมเยียนกันในหมู่พวกเขา การเชิญชวนผู้อื่นสู่การรวมตัวกันนั้น ได้ถูกบรรยายไว้ว่าเป็นหมู่คนที่ประเสริฐที่สุดผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่านคือผู้ที่ให้อาหาร (แก่พี่น้อง) ด้วยความเต็มใจ และตอบรับการทักทายด้วย สลาม[7]

ท่านศาสนทูต  ได้บอกข่าวดีแก่ผู้ที่มีจิตใจเมตตากรุณา ต่อบรรดาบุรุษและสตรี ว่าพวกเขาจะเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ได้เข้าสู่สวนสวรรค์ด้วยความสันติ จงแพร่ สลาม ให้อาหาร (แก่พี่น้อง) อย่างสมบูรณ์ รักษาความสัมพันธ์กับเครือญาติ และละหมาดยามค่ำคืน ในยามที่ผู้คนต่างหลับไหน และเข้าสู่สวนสวรรค์อย่างสันติ[8]

ท่านศาสนทูต  ได้ให้สัญญาต่อบรรดาผู้ที่มีจิตใจเมตตา เอื้อเฟื้อ ด้วยสถานที่อันพิเศษในสวนสวรรค์แก่พวกเขา ในสวนสวรรค์นั้น มีห้องจำนวนหลายห้องที่ภายนอกสามารถมองเห็นได้จากภายใน และภายในมองเห็นได้จากภายนอก อัลลอฮฺ ตะอาลาได้ทรงเตรียมสถานที่เหล่านั้นให้แก่ผู้ที่ให้อาหารแก่พี่น้องของเขาอย่างอุดมสมบูรณ์ ผู้ที่อ่อนโยนในคำพูด ผู้ที่ถือศีลอดอย่างสม่ำเสมอ และผู้ที่ละหมาดยามค่ำคืน ในเวลาที่ผู้คนต่างหลับใหล[9]

เธอไม่ลืมขอดุอาอฺให้แก่พี่น้องของเธอ

มุสลิมะฮฺผู้ที่หัวใจของเธอถูกเติมเต็มด้วยความหอมหวานของความศรัทธาย่อมมีความปรารถนาต่อพี่น้องของเธอ เช่นเดียวกับที่เธอปรารถนาแก่ตัวเธอเอง เช่นนั้นแล้ว เธอจะไม่ลืมที่จะขอดุอาอฺให้กับพี่น้องของเธอ แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนก็ตาม ซึ่ง ดุอาอฺ นี้เปี่ยมด้วยความอบอุ่น ความรักอันบริสุทธิ์และความเป็นพี่น้องแห่งอิสลาม เธอรู้ดีว่าการดุอาอฺเช่นนั้น จะเป็นวิธีการที่ทำให้เธอได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ  อย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากความรู้สึกที่บริสุทธิ์และอบอุ่น และเจตนาอันงดงามของเธอ — ซึ่งมีการยืนยันถึงการตอบรับของอัลลอฮฺ   จากคำพูดของท่านศาสนทูต  การขอดุอาอฺที่จะได้รับการตอบรับอย่างเร็วที่สุด คือการวอนขอของบุคคลหนึ่งที่มีต่อพี่น้องของเขา ในยามที่เขาไม่อยู่ (ลับหลัง) [10]

บรรดาเศาะฮาบะฮฺต่างเข้าใจใน การขอดุอาอฺ ดังกล่าวนี้เป็นอย่างดี เพราะพวกท่านเองก็เคยขอให้กับพี่น้องของท่าน  การขอดุอาอฺในขณะที่ประสบกับสถานการณ์นั้น การวิงวอนดุอาอฺจะได้รับการตอบรับ บรรดาบุรุษและสตรีต่างได้รับสิทธิในการวิงวอนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถือเป็นการแสดงออกขั้นสูงของผู้คนในสังคม ตลอดช่วงเวลาทองของประวัติศาสตร์

อิหม่ามบุคอรียฺรายงาน ในอัล-อะดาบ อัล-มุฟร็อด จากซอฟวาน อิบนุ อัลดุลลอฮฺ อิบนุ ซอฟวาน ภรรยาของเขา คือ อัล-ดัรดาอฺ บินติ อบีดัรดาอฺ กล่าวว่า ฉันเดินทางไปเยี่ยมพวกเขาที่ดามัสกัส และได้พบกับ อุมมุ อัลดัรดา อยู่ในบ้าน หากแต่ อะบู ดัรดา ไม่อยู่ที่นั่น นาง (อุมมุ อัลดัรดา) ถามฉันว่า ท่านต้องการไปทำพิธีฮัจญ์หรือ ฉันจึงตอบว่า ใช่แล้ว นางจึงกล่าวว่า ท่านจงดุอาอฺให้แก่ฉันด้วยเพราะท่านศาสนทูต  เคยกล่าวว่า การวอนขอของมุสลิมต่อพี่น้องของเขานั้นจะได้รับการตอบรับ มลาอิกะฮฺอยู่ที่ศีรษะของเขา เมื่อใดก็ตามที่เขาขอดุอาอฺให้แก่พี่น้องของเขา และมลาอิกะฮฺจะกล่าวว่า อามีน.. ขอให้ท่านได้รับสิ่งนั้นเช่นกัน  เขา (ซอฟวาน) กล่าวว่า ฉันได้พบอะบูดัรดาที่ตลาดและเขาก็กล่าวแก่ฉันถึงสิ่งที่ท่านศาสนทูต  ได้กล่าวไว้ ดังที่นางกล่าวเช่นกัน [11]

ท่านศาสนทูต  ได้ปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันให้แก่มุสลิมีนและมุสลิมะฮฺในทุกๆ โอกาส รวมทั้งการทำให้เกิดความรักอันมั่นคงต่อกันระหว่างมุสลิมด้วยกันเพื่ออัลลอฮฺ  และการปลูกฝังในทัศนคติเรื่อง ไม่ยึดเอาตนเป็นที่ตั้ง และ ขจัดความลำเอียงต่อตัวบุคคลและความเห็นแก่ตัว เพื่อให้สังคมมุสลิมนั้นซึมซาบไปด้วยความรัก ความสัมพันธ์ใกล้ชิด ความสามัคคี และการไม่ถือตนเป็นใหญ่

หนึ่งในวิธีหลายวิธีที่ท่านศาสนทูต  ได้บ่มเพาะความเป็นหนึ่งเดียวกันของบรรดามุสลิม คือ การโต้ตอบของท่านต่อชายผู้หนึ่ง ที่ทำการดุอาอฺเสียงดังว่า โอ้ อัลลอฮฺ ได้โปรดอภัยโทษให้แก่ฉัน และมุหัมมัดเท่านั้นด้วยเถิด ท่านศาสนทูต  จึงกล่าวแก่ชายผู้นั้นว่า ท่านได้ปฏิเสธ (การดุอาอฺ) ต่อพี่น้องอีกหลายคน[12]

ด้วยวิธีการนี้ ท่านศาสนทูต  ไม่ได้เพียงแค่ตักเตือนชายผู้นั้นเพียงคนเดียว หากแต่ท่านได้ปลูกฝังความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแก่ประชาชาติทั้งมวล ตลอดจนได้อบรมบรรดามุสลิมีนและมุสลิมะฮฺทุกๆ คน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน หรือเมื่อใดก็ตาม จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่ใครคนใดคนหนึ่งจะกล่าว ชะฮาดะฮฺ เพียงเพื่อที่จะสะสมความดีงามให้แก่ตัวเขาเพียงผู้เดียว เพราะว่าผู้ศรัทธาที่แท้จริงนั้นย่อมปรารถนาต่อพี่น้องของเขา ดังเช่นที่เขาปรารถนาต่อตัวเขาเอง

ในบทสรุปตอนท้ายนี้

เราสามารถกล่าวได้ว่า ทั้งหมดคือคุณสมบัติที่บรรดามุสลิมะฮฺผู้ได้รับการศึกษาแห่งอิสลามพึงมี

เธอรักพี่น้องของเธอเพื่ออัลลอฮฺ  และความรักที่มีต่อพวกเขานั้นมีความบริสุทธิ์

เธอมีความปรารถนาต่อพวกเขา ดังเช่นที่เธอปรารถนาต่อตัวเธอเอง

เธอปรารถนาที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในอิสลาม ให้มีความเข้มแข็ง

เธอจะไม่ตัดความสัมพันธ์หรือทอดทิ้งพวกเขา

เธออดทนและให้อภัยในความผิดพลาดของพวกเขา

เธอจะไม่มีความเกลียดชัง รังเกียจและความอิจฉาริษยาต่อพวกเขา

เธอทักทายพวกเขาด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ

เธอมีความโอบอ้อมอารีและซื่อสัตย์ต่อพวกเขา

เธอไม่นินทาว่าร้ายพวกเขา

เธอไม่ทำร้ายความรู้สึกของพวกเขาโดยการสร้างความเป็นศัตรู หรือทะเลาะเบาะแว้งกับพวกเขา

เธอมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อพวกเขา

เธอขอดุอาอฺแก่พวกเขาในยามที่พวกเขาไม่อยู่ (ลับหลัง)”

จึงไม่น่าแปลกใจว่าบุคลิกภาพของบรรดามุสลิมะฮฺที่ได้รับการอบรมขัดเกลาด้วย อิสลาม ย่อมมี คุณสมบัติอันงดงามเช่นนี้เป็นแน่แท้นี่ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่อิสลามได้นำมาซึ่งการศึกษาและการออกแบบของคุณลักษณะของมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด หรือยุคสมัยไหนก็ตาม

[1] หะดีษ เศาะหิฮฺ หัซซัน รายงานโดย ท่านติรฺมิซียฺ

[2] มุสลิม

[3] บุคอรียฺ

[4] ศาสตราจารย์ วาฮีดอุดดิน คาน

[5] ดิวาน อัล อัรวะฮฺ อัล ฮิยเราะฮฺ

[6] ดู อีซา อัล-นะอูรี, อะดาบ อัล-มะฮฺญัร  ดาร อัล-มะอาริฟ บิ มิสรฺ หน้า 527

[7] หะดีษหะซัน รายงานโดย อะหฺมัด

[8] หะดีษเศาะหิฮฺ รายงานโดย อะหฺมัด และอัล ฮากีม

[9] หะดีษหะซัน รายงานโดย อะหฺมัด และ อิบนุ ฮิบบาน

[10] บุคอรียฺ

[11] บุคอรียฺ

[12] บุคอรียฺ

Read Full Post »

Older Posts »