Feeds:
Posts
Comments

Archive for the ‘ชัยฎอน ญิน ความชั่วร้าย’ Category

🍃🍃🍃🍃คำอธิบายซูเราะฮฺ อันนาส🍃🍃🍃🍃

เป็นหนึ่งในสองซูเราะฮฺที่มีการขอความคุ้มครองด้วยพระเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่ให้พ้นจากความชั่วร้ายของศัตรูตัวฉกาจ คือ อิบลีสและพรรคพวกของมัน ที่เป็นชัยฏอนมารร้ายแห่งมนุษย์และญิน ซึ่งหลอกล่อมนุษย์ด้วยการกระซิบกระซาบ และกระทำชั่วด้วยวิธีการต่างๆ 

🌱จงกล่าวเถิด ข้าขอความคุ้มครองและการปกป้องด้วยพระผู้อภิบาลของมวลมนุษย์ผู้ทรงพระเดชานุภาพเพียงพระองค์เดียวในการขจัดความชั่วร้ายของการกระซิบกระซาบ

🌱พระองค์ผู้ทรงเป็นราชาแห่งมนุษยชาติ ผู้ทรงบริหารจัดการทุกเรื่องทุกกิจการของพวกเขา ผู้ทรงมั่งมีไม่ต้องพึ่งพวกเขา

🌱พระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าของมวลมนุษย์ ผู้ซึ่งไม่มีสิ่งเคารพอื่นใดที่สัตย์แท้นอกเหนือไปจากพระองค์

👉👉สามอายะฮฺแรกจะกล่าวถึงคุณลักษณะของพระองค์ พระองค์ทรงสั่งใช้ให้เราขอความคุ้มครองจากพระองค์ด้วยการใช้ “คุณลักษณะอันโดดเด่นของพระองค์” ให้พ้นจาก 👿ความชั่วร้ายของชัยฏอน👿 ที่คอยกระซิบกระซาบในหูของเรา เพราะแท้จริงแล้ว ไม่มีมนุษย์คนใดที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่มีญินเป็นสหายของเขาซึ่งมันจะอยู่เคียงข้างเขาเสมอ โดยมันจะพยายามทำให้  🚨ความชั่วร้าย🚨 ดูน่าหลงใหลสำหรับเขา และมันไม่ได้ใช้ความพยายามในการโกหกหลอกลวง และความเพ้อฝันของมันแต่อย่างใด และ 🔰การปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากมัน🔰 นั้นอยู่ ณ ที่อัลลอฮฺ👈👈

🌱ขอความคุ้มครองให้พ้นจากภัยของชัยฏอนที่คอยกระซิบกระซาบยุแหย่เมื่อผลั้งเผลอ และมันก็จะหลบซ่อนหนีหายเมื่อมีการรำลึกถึงอัลลอฮฺ

🌱ชัยฏอนที่คอยกระจายความชั่วร้ายและความเคลือบแคลงในหัวอกมนุษย์

🌱เป็นชัยฏอนจากหมู่ญินและมนุษย์

🎋🎋นบีมุหัมมัด เคยกล่าวว่า อย่าพูดว่า “จงประสบความย่อยยับเถิดชัยฏอน (Perish Satan!)” เพราะเมื่อท่านพูดเช่นนั้น ชัยฏอนจะตัวใหญ่ขึ้น และกล่าวว่า “ด้วยพลังอำนาจของข้า ข้าได้เอาชนะเขาแล้ว” แต่หากว่าท่านกล่าวว่า “บิสมิลลาฮฺ” ชัยฏอนจะตัวเล็กลง และเล็กลงไปอีกจนกระทั่งมันเล็กเหมือนแมลงวัน (รายงานโดยอะหฺมัด ด้วยสายรายงานที่ดี) 🎋🎋

ในหะดีษบทนี้ คือหลักฐานที่พิสูจน์ว่า เมื่อหัวใจรำลึกถึงอัลลอฮฺ มันจะทำให้ชัยฏอนตัวเล็กลง ในขณะที่หากว่าไม่มีการกล่าวถึงอัลลอฮฺ ชัยฏอนก็จะสามารถเอาชนะเขาได้ และมันก็จะเข้มแข็งมากขึ้น

สรุปเรียบเรียงจาก 

✏คัมภีร์อัลกุรอานแปลไทย

✏อรรถาธิบายอัลกุรอาน 3 ญุซอ์สุดท้าย จากอัตตัฟสีรฺ อัลมุยัสสัรฺ

✏Tafseer Ibn Katheer – part 30 juz amma

Read Full Post »

image

“พระองค์ตรัสว่า อะไรที่ขัดขวางเจ้ามิให้เจ้าสุญูด ขณะที่ข้าได้ใช้เจ้า มันกล่าวว่า ข้าพระองค์ดีกว่าเขา โดยที่พระองค์ทรงบังเกิดข้าพระองค์จากไฟ และได้บังเกิดเขาจากดิน” (ซูเราะฮฺ อัลอะอฺรอฟ 07:12)

คุณลักษณะของชัยฏอน (ซูเราะฮฺ อัลอะอฺรอฟ 07:12)
~~~~~~~~~~~~
เขียนโดย อบู มุอาวิยะฮฺ อิสมาอีล กัมดัรฺ
แปล บินติ อัลอิสลาม

“พระองค์ตรัสว่า อะไรที่ขัดขวางเจ้ามิให้เจ้าสุญูด ขณะที่ข้าได้ใช้เจ้า มันกล่าวว่า ข้าพระองค์ดีกว่าเขา โดยที่พระองค์ทรงบังเกิดข้าพระองค์จากไฟ และได้บังเกิดเขาจากดิน” (ซูเราะฮฺ อัลอะอฺรอฟ 07:12)

เรื่องราวของนบีอาดัมและชัยฏอนคือหนึ่งในเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าบ่อยครั้งในอัลกุรอาน ด้วยเพราะว่าในเรื่องราวนี้มีบทเรียนมากมายสำหรับมวลมนุษย์ เรื่องราวนี้บอกเล่าถึงต้นกำเนิดของมนุษย์และต้นกำเนิดของความชั่วร้าย อย่างไรก็ตามมันก็ยังมีบทเรียนมากมายสำหรับมนุษย์เพื่อให้พวกเราได้ใคร่ครวญ อายะฮฺนี้ช่วยทำให้เราได้ทราบถึงกระบวนความคิดที่นำพาอิบลิสไปสู่การเป็นชัยฏอน เมื่ออัลลอฮฺทรงถามมันว่าเหตุใดมันจึงไม่ยอมโค้งคำนับต่อนบีอาดัม มันได้ตอบพระองค์ว่า “มันดียิ่งกว่าอาดัม ด้วยเพราะวิธีการที่มันถูกสร้างขึ้นมา”

ซึ่งสิ่งนี้เองที่ให้บทเรียนมากมายแก่เราเพื่อให้เราได้ใคร่ครวญ “การไม่เชื่อฟังต่ออัลลอฮฺของชัยฏอน เกิดจาก ความหลงตัวเอง ความทะนงตน” และจริงๆ แล้ว มันเป็นรูปแบบของความหลงตัวเองเช่นเดียวกับการแบ่งแยกชนชั้น เชื้อชาติ สีผิวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน “การแบ่งแยกชนชั้น” คือโรคร้ายชนิดหนึ่งที่มนุษย์คนหนึ่งคิดและเชื่อว่าเขานั้นดีกว่าคนอีกคนหนึ่ง เพียงเพราะเหตุผลง่ายๆ ที่ว่าเขาดูแตกต่างไป ซึ่งความคิดเช่นนั้นไม่ต่างอะไรมากนักจากความคิดของชัยฏอน ที่มันคิดว่ามันดีกว่านบีอาดัมเพราะมันคือญินและนบีอาดัมคือมนุษย์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้บ่งชี้ถึงคุณค่าของใครคนหนึ่งแต่อย่างใด เพราะไม่มีใครเลือกได้ว่าเขาจะเกิดมารูปร่างหน้าตาอย่างไร เกิดที่ไหน เกิดขึ้นมาอย่างไร ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงไม่สามารถนิยามความเป็นตัวตนของเราได้

นบีอาดัมดียิ่งกว่าชัยฏอน ไม่ใช่เพราะว่าท่านถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร หากแต่เป็นเพราะว่าเมื่อทั้งสอง (อิบลีสและนบีอาดัม) กระทำความผิด นบีอาดัมได้ทำการสำนึกผิดขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ในขณะที่ชัยฏอนยังคงดื้อดึงในความผิดพลาดที่มันได้กระทำจนกระทั่งกาลอวสาน นี่คือปัจจัยที่บ่งชี้ว่าใครที่เป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดในพระเนตรของอัลลอฮฺ ความสามารถในการสำนึกต่อความผิดพลาดของเราและลุกขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขและหันเข้าสู่ความดีงาม

และยังมีอีกมุมมองหนึ่งเพื่อใคร่ครวญถึงอายะฮฺนี้ที่คนหลายคนมองข้ามไป เช่น การกุฟรฺของชัยฏอน ชัยฏอนกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาได้อย่างไร มันเคยศรัทธาต่ออัลลอฮฺ แต่กระนั้นมันก็ยังฝ่าฝืนพระองค์และไม่ยอมขออภัยโทษกลับเนื้อกลับตัว แต่เราก็รู้ว่านั่นไม่ใช่การกุฟรฺ แต่มันคือบาปและการปฏิเสธที่จะขออภัยโทษต่อบาปนั้น แต่ทว่า “การกุฟรฺที่แท้จริง” คือถ้อยคำของมันที่กล่าวว่า “ข้าพระองค์ดีกว่าเขา” เมื่อชัยฏอนกล่าวในสิ่งที่เขาหมายความว่า “ข้าพระองค์ไม่โค้งคำนับต่ออาดัมเพราะข้าพระองค์ดีกว่าเขา ดังนั้นพระองค์ทรงทำความผิดพลาดด้วยการร้องขอให้ข้าพระองค์โค้งคำนับต่อเขาและพิจารณาว่าเขานั้นดีกว่าข้าพระองค์” อีกทั้งการปฏิเสธของชัยฏอนนั้นเกิดจากการที่เขาตัดสินความผิดพลาดของอัลลอฮฺและนึกคิดเอาเองว่าเขารู้ดียิ่งกว่าอัลลอฮฺ

บ่อยครั้งเพียงใดที่มุสลิมทำความผิดพลาดนี้ในปัจจุบัน พวกเราบางคนอาจพบว่ากฎหรือคำสั่งใช้ในอัลกุรอานหรือสุนนะฮฺ ขัดแย้งกับความปรารถนา ความต้องการ หรือวัฒนธรรมสมัยใหม่ของเรา ดังนั้นเราจึงนึกคิดเอาเองว่า “กฎเกณฑ์นั้น” ไม่ถูกต้อง เช่นข้อห้ามในเรื่องของการรักร่วมเพศ ในการทำเช่นนั้นหมายถึง การที่เรากำลังเดินตามรอยเท้าของชัยฏอน

อิสลามหมายถึงการยอมจำนน และนั่นหมายรวมถึงการยอมจำนนต่อข้อเท็จจริงที่ว่าอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่งและกฎของพระองค์นั้นดีที่สุด แม้ว่าผู้คนจะไม่พอใจก็ตาม

Read Full Post »

image

และจงให้แก่บรรดาเด็กกำพร้าซึ่งทรัพย์สมบัติของพวกเขา และจงอย่าเปลี่ยนเอาของเลวด้วยของดี และจงอย่ากินทรัพย์ของพวกเขาร่วมกับทรัพย์ของพวกเจ้า แท้จริงมันเป็นบาปอันยิ่งใหญ่ (ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ 04:02) คัดลอกจากโปรแกรมอัลกุรอาน

ทรัพย์สินที่ต้องถูกสอบสวน (ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ 04:02)
~~~~~~~~~~~~
เขียนโดย อบู มุอาวิยะฮฺ อิสมาอีล กัมดัรฺ
แปล บินติ อัลอิสลาม

“และจงให้แก่บรรดาเด็กกำพร้าซึ่งทรัพย์สมบัติของพวกเขา และจงอย่าเปลี่ยนเอาของเลวด้วยของดี และจงอย่ากินทรัพย์ของพวกเขาร่วมกับทรัพย์ของพวกเจ้า แท้จริงมันเป็นบาปอันยิ่งใหญ่ ” (ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ 04:02)

อายะฮฺนี้ถูกประทานลงมาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตัวต่อบรรดาเด็กกำพร้าของคนนอกรีต (มุชริก) ชาวอาหรับ

คำว่า “เด็กกำพร้า” ในความหมายตามหลักอิสลาม คือ เด็กที่ “บิดาของเขาได้เสียชีวิต” ซึ่งเด็กเหล่านี้จะถูกจัดประเภทว่าเป็น “เด็กกำพร้า” ในชารีอะฮฺจนกระทั่งพวกเขาเข้าสู่วัยบรรลุนิติภาวะ และมันเป็นธรรมเนียมของชาวอาหรับที่สมาชิกอาวุโสของครอบครัวจะทำหน้าที่ดูแลเด็กกำพร้าและมรดก (ทรัพย์สิน) ของพวกเขา จนกระทั่งเด็กกำพร้าเหล่านั้นมีอายุมากพอที่จะเรียกร้องขอสิทธิในมรดกนั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองเด็กกำพร้าหลายคนมักจะละเมิดทรัพย์สินของพวกเขาและใช้จ่ายมรดกของพวกเขาเสมือนว่าเป็นทรัพย์สินของตัวเอง  และปฏิเสธที่จะมอบมรดกให้แก่พวกเขาเมื่อพวกเขาบรรลุวัยผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้อายะฮฺนี้จึงถูกประทานลงมาเพื่อตำหนิและสั่งห้ามการกระทำดังกล่าว

ในความหมายที่กว้างกว่านั้นสำหรับอายะฮฺนี้นั้นยังใช้ได้ในสถานการณ์ที่เมื่อมีใครคนหนึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลทรัพย์สินของผู้อื่น ทรัพย์สินเหล่านั้นจำต้องได้รับการให้เกียรติ (ไม่ถูกละเมิด) อีกทั้งนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้จัดประเภทของการละเมิดทรัพย์สินเช่นนี้ว่าเป็นคุณสมบัติของ “คนกลับกลอก” ซึ่งสิ่งนี้ได้สอนเราในหลักการศาสนาอิสลามว่า เราจะต้องถูกสอบสวน ณ ที่อัลลอฮฺว่าเราได้ใช้จ่ายทรัพย์สินอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินของเราเอง หรือทรัพย์สินที่เราได้รับการมอบหมายให้ดูแล

ส่วนหนึ่งของความดีงามในอิสลาม คือ การมีความเข้าใจว่าเราต่างต้องถูกสอบสวนว่าเราได้รับรายได้มาอย่างไร และเราได้ใช้จ่ายทรัพย์สินของเราออกไปอย่างไร มันไม่มีการกำหนดขอบเขตในอิสลามว่าเราได้รับรายได้มาจำนวนเท่าไร หากทว่ามันเป็นเรื่องของ “การหามา” และ “การใช้จ่ายออกไป” ที่เราจะต้องถูกสอบสวน การตระหนักรู้ถึงหน้าที่ความรับผิดชอบนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในความสัมพันธ์ของเราที่มีต่ออัลลอฮฺ เพราะผู้ที่สามารถละเมิดทรัพย์สินได้นั้นก็มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะทำการละเมิดอำนาจและทรัพยากรอื่นๆ ได้เช่นกัน  ในขณะที่คนคนหนึ่งที่รู้ว่า “ทรัพย์สิน” คือของขวัญ และบททดสอบจากอัลลอฮฺ ย่อมจะทำให้การได้มาซึ่งรายได้ของเขานั้นมีความสุจริต เที่ยงตรง และการใช้จ่ายของเขานั้นมีความสะอาดบริสุทธิ์

ตัวอย่างของของบรรดาผู้ปกครองของเด็กกำพร้าที่กล่าวมาข้างต้นได้สอนพวกเราไม่ให้ทำการละเมิดอำนาจที่มีอยู่ และโดยปกติแล้ว บรรดาเด็กกำพร้าเองก็ไม่มีความสามารถหรือหนทางใดๆ ที่จะต่อกรกับผู้ปกครองที่อธรรมได้ และมีหลายคนที่ฉวยโอกาส หาผลประโยชน์จากสถานการณ์เช่นนี้ด้วยการละเมิดเด็กกำพร้าด้วยหนทางใด หนทางหนึ่ง อายะฮฺนี้จึงเป็นการตักเตือนที่รุนแรงต่อคนประเภทนั้น

หากว่าอัลลอฮฺทรงมอบหมายอำนาจในการดูแลใครก็ตามให้แก่คุณ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว ลูกจ้าง หรือเด็กกำพร้า นั่นหมายความว่าคุณต้องรับผิดชอบกับอัลลอฮฺว่าคุณปฏิบัติต่อผู้คนเหล่านั้นอย่างไร โปรดใคร่ครวญถึงอายะฮฺนี้ หากว่าคุณเคยสัมผัสถึงการถูกล่อลวงให้ทำการละเมิดอำนาจของตำแหน่งหน้าที่การงานกับผู้อื่น

Read Full Post »

คำแนะนำของอบู มุอาวิยะฮฺ อิสมาอีล กัมดัรฺ

ด้วยเพราะการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบัน “การทำซินา” จึงกลายเป็นเรื่องง่ายทุกวันนี้ แม้ว่าผู้คนจะพยายามอย่างหนักที่จะอยู่ในศีลธรรม แต่สุดท้ายก็ตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยีอยู่ดี เพราะชัยฏอนนั้นมีกลลวงมากมายไว้หลอกล่อพวกเรา

สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือ เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่จะปกป้องตัวคุณจากสิ่งนี้
๑. ทำอิสติฆฟารฺ (วิงวอนขอการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ) เป็นประจำทุกวัน สำหรับทุกๆ ความผิดพลาดที่เราทำ เช่นการมองในสิ่งที่ไม่ควรมอง
๒. อย่าสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพศตรงข้ามออนไลน์
๓. อย่าแบ่งปัน บอกเล่าเรื่องราวปัญหาความสัมพันธ์ภายในของคุณกับเพศตรงข้ามที่คุณไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ เกี่ยวข้องด้วย (เพิ่มเติม – ไม่ใช่มะหฺรอม)
๔. มีความโปร่งใส จริงใจกับคู่ครองของคุณ ในการใช้อินเตอร์เนตของคุณ
๕. หากว่าคุณมีปัญหาครอบครัว ก็ขอคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาโดยตรง อย่าหันหน้าเข้าหาเพศตรงข้ามเพื่อบรรเทาความทุกข์ของคุณ
๖. ออกห่างจากการอยู่ลำพังกับ “ผู้ที่ไม่ใช่มะหฺรอม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับคนที่คุณมีความชื่นชอบ หรือพอใจด้วย (มีเคมีตรงกัน)

แปล เรียบเรียง : บินติ อัลอิสลาม
รูป อินเตอร์เนต

image

Read Full Post »

ญินสามารถปรากฏตัวในรูปร่างของมนุษย์ได้หรือไม่ และญินมีรูปร่างที่แท้จริงของมันหรือไม่?

image

แหล่งที่มา http://islamqa.info/en/40703
แปล เรียบเรียง บินติ อัลอิสลาม

คำตอบ

อัลฮัมดุลิลลาฮฺ
คำถามข้างต้นนั้นประกอบด้วยสองส่วน
1. ญินสามารถปรากฏตัวในรูปร่างของมนุษย์ได้หรือไม่
2. ญินมีรูปร่างที่แท้จริงของมันหรือไม่

สำหรับคำถามแรกนั้น อาจกล่าวได้ว่า
——————————————-
ประการแรก เราควรทราบไว้ว่าคุณสมบัติพื้นฐานของญินนั้น คือ พวกมันถูกปกปิดตัวตนที่แท้จริงไว้ให้พ้นจาก (การมองเห็นของ) มนุษย์ ดังนั้นพวกมันจึงถูกเรียกว่า “ญิน” เพราะในรากศัพท์ของภาษาอาหรับ คำว่า “ญันนา” นั้นมีความหมายที่แท้จริงเพียงหนึ่งความหมายนั่นคือ “การปกปิด และ หลบซ่อน” ดังที่อิบนุ ฟารีส กล่าวไว้ใน Maqayis Al-Lughah

ดังนั้น มันจึงถูกเรียกว่า “ญิน” ด้วยเพราะ พวกมันถูกปกปิดจากการมองเห็นของมนุษย์ และ “ทารกในครรภ์” ก็ถูกเรียกว่า “ญะนีน” ในภาษาอาหรับ เพราะ เขาถูกปกปิดไว้ภายในมดลูกของมารดาของเขา คำว่า “สวน” ถูกเรียกว่า “ญันนะฮฺ” ในภาษาอาหรับ เพราะว่ามันถูกปกปิดไว้ด้วยต้นไม้  คำว่า “คนบ้า” ถูกเรียกว่า “มัจญนูน” เพราะสติปัญญาของเขานั้นถูกปิดเอาไว้ และคำอื่นๆ ที่แหล่งที่มาของมันมาจากรากศัพท์นี้

อัลลอฮฺทรงบอกแก่พวกเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ เมื่อพระองค์ตรัสว่า (ซึ่งมีความหมายว่า)
“โอ้ ลูกหลาน อาดัมเอ๋ย จงอย่าปล่อยให้ชัยฏอนล่อลวงสูเจ้า ดังเช่นที่พวกมันได้เคยล่อลวงบิดามารดาของเจ้า (อาดัม และเฮาวา) ให้ออกจากสวนสวรรค์มาก่อน ด้วยการทำให้พวกเขาปลดเปลื้องเครื่องนุ่งห่ม และเปิดเผยอวัยวะพึงสงวนของพวกเขา แท้จริงแล้ว มัน และกอบิลุฮุ (เหล่าทหารของมันที่มาจากกลุ่มญินและเผ่าของมัน) สามารถมองเห็นสูเจ้าได้จากที่ที่สูเจ้าไม่สามารถมองเห็นพวกมัน” (อัลอะรอฟ 7:27)

คำถามที่สอง พวกมันสามารถปรากฏตัวในรูปร่างของมนุษย์ได้หรือไม่
—————————————————————-
คำตอบของคำถามนี้นั้นได้มีหลักฐานที่แจ้งไว้แล้วในสุนนะฮฺ (คำสอนของศาสนทูต) และจากชีวิตจริงที่ว่าญินปรากฏตัวในรูปร่างที่แตกต่างกันไป เช่นในรูปร่างของผู้คน ของสัตว์ เป็นต้น และหลักฐานที่ระบุไว้อย่างชัดแจ้งที่สุดนั้นก็มาจากสุนนะฮ จากเรื่องราวที่ถูกรายงานโดยบุคอรียฺ จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ)

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า “ศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ได้มอบหมายให้ฉันทำหน้าที่ดูแลซะกาตในเดือนเราะมะฎอน ครั้งหนึ่งมีใครบางคนเข้ามาหาฉันและตักอาหารบางส่วนไป และฉันได้พูดขึ้นมาว่า “ขอสาบานด้วยพระนามของอัลอฮฺ ฉันจะพาท่านไปพบท่านนบี” จากนั้นเขาก็ได้พร่ำบ่นว่าเขาลำบากต้องการความช่วยเหลือ และที่พึ่งพา ดังนั้นฉันจึงเกิดความสงสารเขาและปล่อยให้เขาไป ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นถึงสามครั้ง และครั้งที่สาม ฉันได้บอกเขาว่า “ฉันจะพาท่านไปยังท่านนบี นี่มันเป็นครั้งที่สามแล้ว และแต่ละครั้งท่านก็บอกฉันว่า ท่านจะไม่กลับมาอีก แต่ท้ายที่สุด ท่านก็กลับมาอีก” เขาตอบกลับมาว่า “เช่นนั้นจงปล่อยฉันไปเสีย และฉันจะสอนบางสิ่งแก่ท่าน ด้วยหนทางที่อัลลอฮฺจะประทานความดีงามแก่ท่าน” ฉันจึงถามเขาว่า “มันคืออะไรหรือ”

เขาตอบว่า “เมื่อท่านจะเข้านอน จงอ่านอายะฮฺกุรซียฺ.. อัลลอฮฺ ลา อิลาฮะ อิลลา ฮุวะ (ไม่มีสิ่งอื่นใดที่คู่ควรแก่การสักการะ นอกจากอัลลอฮฺ).. อัล ฮัยยุล ก็อยยุม (ผู้ทรงมีชีวิตอยู่ตลอดไป ผู้ทรงช่วยเหลือและปกป้องคุ้มครองสิ่งที่มีอยู่ทั้งมวล) (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:255) ไปจนกระทั่งท่านอ่านจบทั้งอายะฮฺ แล้วท่านจะได้รับการปกป้องจากอัลลอฮฺอยู่เสมอ และจะไม่มีมารร้ายตนใดเข้ามาใกล้ท่านจนกระทั่งรุ่งเช้ามาถึง”

ด้วยเหตุนี้ ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺจึงปล่อยเขาไป และเช้าวันรุ่งขึ้น ท่านได้บอกเล่าให้กับท่านนบีรับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และท่านนบีได้กล่าวแก่ท่านว่า “เขาผู้นั้นได้บอกความจริงกับท่าน แม้ว่าเขาจะเป็นผู้ที่โกหกก็ตาม แล้วท่านทราบหรือไม่ว่า ผู้ที่ท่านพูดคุยด้วยถึงสามคืนนั้น คือใคร โอ้ อบูฮุร็อยเราะฮฺ” ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺตอบว่า “ไม่ทราบครับ” ท่านนบีจึงบอกท่านว่า “นั่นคือมารร้าย (ชัยฎอน)”

ท่านอัลฮาฟิซ อิบนุ ฮะญัรฺ กล่าวไว้ใน อัลฟัษว่า “หะดีษ (การรายงานนี้) ได้ให้บทเรียนหลายอย่างแก่เรา นั่นคือ หนึ่งในคุณลักษณะของชัยฏอนนัั้นคือ “การโกหก” และ มันอาจจะปรากฏให้เห็นในรูปร่างที่หลากหลาย และถ้อยคำของอัลลอฮฺที่ว่า “แท้จริงแล้ว มัน และกอบิลุฮุ (เหล่าทหารของมันที่มาจากกลุ่มญินและเผ่าของมัน) สามารถมองเห็นสูเจ้าได้จากที่ที่สูเจ้าไม่สามารถมองเห็นพวกมัน” (อัลอะรอฟ 7:27) ซึ่งหมายถึงว่า มันอยู่ในรูปร่างที่มันถูกสร้างขึ้นมา (โดยเฉพาะ)

และมีการรายงานว่าชัยฏอนปรากฎตัวขึ้นให้ชาวกุเรซได้เห็นในรูปร่างของสุเราะเกาะฮฺ อิบนุ มาลิก อิบนุ ญชัม และยุยงให้พวกเขาทำการต่อสู้กับศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมรภูมิรบบะดัรฺ

ท่านอิบนุ ญะรีร อัล เฏาะบะรียฺรายงานไว้ในตัฟซีรฺของท่านว่า อุรวะฮฺ อิบนุ อัล ซุบัยรฺ กล่าวว่า “เมื่อชาวกุเรซตัดสินใจที่จะเดินหน้า (เหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างชาวกุเรซและบนี บักรฺ หมายถึง สงคราม) และนั่นเกือบทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจ จากนั้นอิบลีสได้ปรากฏขึ้นในรูปร่างของสุเราะเกาะฮฺ อิบนุ มาลิก อิบนุ ญุซัม ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีคุณธรรมของเผ่าบนู กินานะฮฺ และกล่าวกับพวกเขาว่า “ฉันจะปกป้องท่านให้พ้นจากกินานะฮฺ เพื่อที่ว่ากินานะฮฺจะไม่สามารถทำอันตรายใดๆ ต่อพวกท่านได้” ดังนั้นพวกเขา (กุเรซ) จึงเดินหน้าต่อพร้อมกับแผนการของพวกเขา
(เหตุการณ์นี้มีการอ้างอิงโดยอิบนุ กะษีร ในอัลบิดายะฮฺ วัล นิฮายะฮฺ ด้วยเช่นกัน)

ในเศาะฮีหฺมุสลิม มีการรายงานว่า ท่านอบู สะอีด อัลคุดรียฺ (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า “ฉันได้ยินศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ในมาดีนะฮฺนั้นมีกลุ่มของญินที่กลายเป็นมุสลิม ดังนั้นใครก็ตามที่เห็นลักษณะของสิ่งมีชีวิต ขอให้เขากล่าวเตือนพวกมันสามครั้ง จากนั้นหากว่ามันยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ เขาก็จงฆ่ามันเสีย เพราะแท้จริง มันคือมารร้าย (ชัยฎอน)”

คำว่า “ลักษณะของสิ่งมีชีวิต” ในที่นี้ หมายถึงประเภทของงูชนิดต่างๆ ที่ปรากฎภายในบ้านเรือน พวกมันไม่ควรถูกฆ่า จนกว่าพวกมันจะได้รับการเตือนสามครั้ง เพราะพวกมันอาจจะเป็นญิน (ดู เฆาะรีบ อัลหะดีษ โดยอิบนุ กะษีรฺ)

อัลนะวาวียกล่าวว่า “มันมีความหมายว่า หากว่าพวกมันไม่หายไปภายหลังจากที่ได้รับคำเตือน นั่นหมายความว่าพวกมันไม่ใช่ประเภทของสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยภายในบ้าน และพวกมันไม่ใช่ญินที่กลายเป็นมุสลิม หากทว่านั่นคือ “ชัยฎอน” ดังนั้นจึงไม่มีบาปอันใดแก่ตัวท่านหากว่าท่านจะฆ่ามัน และอัลลอฮฺมิทรงเคยให้หนทางใดแก่ชัยฎอนในการที่จะมีอำนาจเหนือท่านด้วยการแก้แค้น ซึ่งต่างจากสิ่งมีชีวิต (งู) และญินที่กลายเป็นมุสลิมแล้ว และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง ชัรชฺ มุสลิม

และยังมีอีกหลายๆ เหตุการณ์ ชัยคุล อิสลาม (อิบนุ ตัยมิยะฮฺ) ได้กล่าวว่า “ญินอาจจะปรากฎตัวในรูปร่างของคน หรือสัตว์ ดังนั้นพวกมันอาจจะปรากฎตัวในรูปร่างของงู หรือแมลงป่อง เป็นต้น หรือในรูปร่างของอูฐ วัวควาย แกะ ม้า ล่อ และลา หรือในรูปร่างของนก หรือรูปร่างของมนุษย์เช่นนี้ชัยฏอนได้มายังชาวกุเรซในรูปร่างของสุเราะเกาะฮฺ อิบนุ มาลิก อิบนุ ญุซัม เมื่อพวกเขาต้องการที่จะเดินทางไปยังบะดัรฺ

ประการที่สาม ญินได้ทำให้คนหลายคนหลงทางด้วยการปรากฏตัวในรูปร่างของเอาลิยาอฺ (นักบุญ) และบรรดาคนดีทั้งหลาย ชัยคุลอิสลาม กล่าวว่า “ชัยฎอนมักจะปรากฎตัวในรูปร่างของบุคคลที่ถูกวิงวอน (กราบไหว้ – ผู้แปล) หรือถูกร้องขอความช่วยเหลือ หากว่าบุคคลนั้นเสียชีวิตไปแล้ว หรือบางครั้งแม้ว่าเขาผู้นั้นจะยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม โดยที่ผู้ที่วิงวอนขอความช่วยเหลือไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ (ว่าสิ่งที่เขาร้องขออยู่เป็นญิน เพิ่มเติมโดยผู้แปล) แท้จริงแล้ว ชัยฎอนนั้นสามารถปรากฏตัวในรูปร่างของคนเหล่านั้น และบรรดามุชริกที่ไม่ได้รับทางนำ (นอกรีต) ผู้ซึ่งกำลังแสวงหาความช่วยเหลือจากบุคคลนั้นๆ อาจคิดว่า บุคคลนั้นๆ ตอบรับการร้องขอจากเขา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว “มันคือชัยฎอน”

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับกุฟฟรฺ (ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม) ผู้ซึ่งแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ที่พวกเขาคิดว่าเป็นคนดี ไม่ว่าคนนั้นๆ จะเสียชีวิตหรือมีชีวิตอยู่ก็ตาม เช่นเดียวกับชาวคริสเตียนที่แสวงหาความช่วยเหลือจากจอร์จ หรือนักบุญอื่นๆ ของพวกเขา และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับบรรดาผู้ที่ถูกเรียกว่า “มุสลิม” ที่ทำการชีริก (นับถือพระเจ้าหลายองค์) และปฏิบัติตามในหนทางที่ผิดด้วยการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ที่เสียชีวิต หรือผู้ที่ไม่อยู่แล้ว ชัยฎอนได้ปรากฏตัวต่อพวกเขาในรูปร่างของผู้ที่เขากำลังร้องขอความช่วยเหลือ โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวว่า (สิ่งที่พวกเขาขออยู่นั่นคือ ชัยฎอน) มีคนมากกว่าหนึ่งคนที่บอกฉันว่า พวกเขาได้เคยขอความช่วยเหลือจากฉัน (อิบนุ ตัยมิยะฮฺ) และแต่ละคนบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป ฉันจึงบอกพวกเขาแต่ละคนว่า ฉันไม่ได้ตอบรับการร้องขอความช่วยเหลือของใคร และฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพวกเขากำลังขอความช่วยเหลือจากฉันอยู่ มีการกล่าวว่า นี่คงจะเป็นมลาอิกะฮฺ แต่ฉันตอบไปว่า “มลาอิกะฮฺไม่ให้ความช่วยเหลือต่อมุชริกหรอก หากทว่าชัยฏอนต่างหากที่ปรารถนาที่จะทำให้พวกเขาหลงทาง”

หนึ่งในหนทางที่ดีที่สุดที่มุสลิมจะสามารถขอความช่วยเหลือให้พ้นจากบรรดาชัยฏอนมารร้ายได้ คือการสร้างเกราะป้องกันให้ตัวเองด้วย “อัซการ (ถ้อยคำแห่งการรำลึกถึงอัลลอฮฺ) และการอ่านอายะฮฺกุรซียฺ” ดังที่มีการแจ้งไว้ในหะดีษข้างต้นที่บอกเล่าโดยท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ

สำหรับส่วนที่สองของคำถาม, ที่ว่าญินมีรูปร่างที่แท้จริงของมันหรือไม่
————————————————–
ในเรื่องของรูปถ่ายของญิน ที่ซึ่งได้ล่อลวงผู้คนมากมายและมีนำเสนออย่างแพร่หลายในเวปไซท์บางเวป ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถตรวจสอบความจริงถึงสิ่งที่อยู่ในเวปไซท์เหล่านี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันนี้เมื่อผู้คนมีความทักษะสามารถขั้นสูงในการที่จะผลิตรูปภาพหลอกลวงขึ้นมา มากไปกว่านั้น การที่จะทำวิจัยในเรื่องราวเหล่านี้นั้นไม่ได้นำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อจิตวิญญาณ หรือโลกดุนยา แต่อย่างใด และไม่ได้ตอบสนองเป้าหมายใดๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้นมันย่อมเป็นการดีกว่าในการที่เราจะง่วนอยู่กับสิ่งต่างๆ ที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ที้ดีงามต่อจิตวิญญานและดุนยา เช่นการอ่านและทำความเข้าใจต่อสิ่งที่อยู่ในอัลกุรอานและเศาะฮีหฺสุนนะฮฺ และสิ่งที่คนคนหนึ่งควรจะรู้และทำในการจะปรับปรุงแก้ไขความเชื่อ และการทำอิบาดะฮฺให้ถูกต้อง รวมไปถึงทัศนคติและจรรยามารยาทที่ดีงามที่มุสลิมควรพัฒนาในตัวเอง และอื่นๆ อีกมากมาย

อีกทั้งเราควรตระหนักด้วยว่า การพิมพ์ นำเสนอรูปของสิ่งมีชีวิตนั้นหะรอม (ศาสนาไม่อนุญาต) ตามหลักของชารีอะฮฺ

เราขออัลลอฮฺทรงปกป้องท่านและยกสถานะของท่าน และให้อภัยโทษต่อความผิดบาปของท่าน และประทานแก่ท่านซึ่งความรู้และการงานที่ดี เพราะพระองค์คือผู้ที่ประเสริฐที่สุดที่เราจะขอความช่วยเหลือ

ขออัลลอฮฺโปรดประทานการอำนวยพรและความสันติต่อนบีมุหัมมัด ครอบครัวของท่าน และบรรดาสหายของท่านด้วยเถิด
และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง
อิสลาม คิว เอ

Read Full Post »

แหล่งที่มา Advice On Dealing With Anger  http://www.missionislam.com/family/anger.htm

ถอดความ บินติ อัลอิสลาม

“ความโกรธ” คือหนึ่งในบรรดาเสียงกระซิบชั่วร้ายของชัยฎอน ที่นำไปสู่ความเลวร้ายและโศกนาฎกรรมมากมาย ซึ่งมีเพียงอัลลอฮฺพระองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงรู้ถึงอาณาเขตทั้งหมดของมัน ด้วยเหตุผลนี้ อิสลามจึงได้กล่าวถึง “คุณลักษณะที่เลวร้ายนี้” ไว้อย่างมากมาย และท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมเองก็ได้บอกถึงวิธีการเยียวยา “โรคร้ายนี้” และวิธีการที่จะจำกัดผลกระทบของมัน ซึ่งมีดังต่อไปนี้

(1) ขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากชัยฏอนมารร้าย  

ท่านสุลัยมาน อิบนุ ซัรดฺ กล่าวว่า “ขณะที่ฉันนั่งอยู่กับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม มีชายสองคนกำลังด่าทอใส่ร้ายกันอยู่ คนหนึ่งหน้าแดงกล่ำ เส้นเลือดที่คอของเขานูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ท่านเราะสูลจึงกล่าวว่า “ฉันทราบถึงถ้อยคำหนึ่ง ที่หากว่าเขากล่าวมันแล้ว สิ่งที่เขารู้สึกอยู่นั่นจะมลายหายไป หากเขากล่าวว่า “ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากชัยฎอน” และสิ่งที่เขากำลังรู้สึกอยู่นั้น (คือ ความโกรธ) จะหายไป” (รายงานโดยบุคอรียฺ และอัลฟัตฮฺ 6/337)

ท่านเราะสูลกล่าวว่า “หากบุคคลหนึ่งเกิดความโกรธ และกล่าวว่า “ฉันขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ” ความโกรธของเขาจะหายไป” (เศาะหีฮฺ อัล ญามิอฺ อัศ เศาะฆีรฺ)

(2) การนิ่งเงียบ

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “หากผู้ใดในหมู่พวกท่านเกิดความโกรธ เขาจงนิ่งเงียบเสีย” (รายงานโดยอีม่ามอะหมัด อัลมุสนัด 1/329; ดูเศาะหีฮฺ อัลญามิอฺ693, 4027)

นี่เป็นเพราะว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว “ผู้ที่มีความโกรธ” มักจะสูญเสียการควมคุมตัวเอง และเขาอาจกล่าวถ้อยคำแห่งกุฟรฺ (จากสิ่งที่เราขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ) หรือคำสาปแช่ง หรือถ้อยคำของการหย่าร้าง (เฏาะลาก) ซึ่งเป็นเหตุที่ทำลายครอบครัวของเขา หรือถ้อยคำของการใส่ร้ายที่จะนำพาเขาไปสู่การเป็นศัตรู และความเกลียดชัยต่อผู้อื่น ดังนั้น “การนิ่งเงียบ” คือวิธีแก้ที่ช่วยให้คนคนหนึ่งออกห่างจากความเลวร้ายที่กล่าวมาทั้งหมดนี้

(3) การอยู่นิ่ง

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “เมื่อผู้ใดก็ตามในหมู่พวกท่านเกิดความโกรธ และหากเขากำลังนั่งอยู่ เขาจงนั่งเสีย เพื่อที่ว่าความโกรธของเขาจะหายไป และหากว่ามันไม่หายไป เขาจงนอนเอนกายลงเสีย”

ผู้รายงานหะดีษบทนี้คือท่านอบู ซัรรฺ (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ) และมีเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องจากการรายงานหะดีษบทนี้ด้วย นั่นคือ ท่านอบูซัรรฺได้พาอูฐของท่านไปดื่มน้ำที่รางน้ำที่ท่านเป็นเจ้าของ จากนั้นมีคนบางคนได้ตามท่านมาและกล่าว (ต่อกัน) ว่า “ใครสามารถแข่งขันกับอบูซัรรฺ (ในการนำบรรดาสัตว์มาดื่มน้ำ) ได้?ชายคนหนึ่งจึงกล่าวขึ้นมาว่า “ฉันทำได้” ดังนั้นเขาจึงนำบรรดาสัตว์ของเขามาและแข่งขันกับท่านอบูซัรรฺ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือรางน้ำเกิดพังขึ้นมา ( ท่านอบู ซัรรฺคาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือในการป้อนน้ำให้กับอูฐของท่าน หากแต่ว่าชายคนดังกล่าวกลับประพฤติตัวไม่เหมาะสมและทำให้รางน้ำพัง) ซึ่งขณะนั้นท่านอบูซัรรฺกำลังยืนอยู่ ดังนั้นท่านจึงนั่งลง และจากนั้นท่านก็ได้เอนกายลงนอน จีงมีคนถามท่านว่า “โอ้ ท่านอบูซัรรฺ เหตุใดท่านจึงนั่งลง และจากนั้นก็เอนกายลงเล่า” ท่านตอบว่า “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “เมื่อผู้ใดก็ตามในหมู่พวกท่านเกิดความโกรธ และหากเขากำลังนั่งอยู่ เขาจงนั่งเสีย เพื่อที่ว่าความโกรธของเขาจะหายไป และหากว่ามันไม่หายไป เขาจงนอนเอนกายลงเสีย” (หะดีษบทนี้ และเรื่องราวนี้อยู่ในมุสนัดอะหมัด 5/152 และดูเศาะหีฮฺ อัลญามีอฺ เลขที่ 694)

อีกหนึ่งรายงานบอกเล่าว่า “ท่านอบูซัรรฺกำลังให้น้ำแก่บรรดาสัตว์ของท่านที่รางน้ำ เมื่อมีชายคนหนึ่งทำให้ท่านโกรธ ท่านจึงนั่งลง…” (ฟัยดฺ อัลกอดีรฺ อัลมะนาวียฺ 1/408)

“ข้อดีของคำแนะนำตักเตือนของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ  อะลัยฮิ วะสัลลัม” คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า “การกระทำดังกล่าวจะยับยั้งคนที่กำลังโกรธให้พ้นจากการสูญเสียการควบคุม เพราะเขาอาจพลาดพลั้งและทำร้ายผู้อื่น หรือแม้แต่อาจจะทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต  หรือเขาอาจทำลายข้าวของและสิ่งอื่นๆ ก็เป็นได้ “การนั่งลง” ย่อมทำให้แรงกระตุ้นเร้าของเขาลดลง และการเอนกายลงนอนย่อมปกป้องเขาจากการกระทำที่บ้าคลั่งหรือการก่ออันตราย  อัลอัลลามะฮฺ อัลค็อฏฏอบียฺ (เราะหิมะฮุลลอฮฺ) กล่าวไว้ในคำอธิบายในหนังสือหะดีษอบูดาวูดว่า “ผู้ที่กำลังยืนอยู่ คือ (ผู้ที่อยู่ใน) ท่าทางที่พร้อมจะจู่โจมและเข้าทำลาย ขณะที่ผู้ที่กำลังนั่งอยู่ ย่อมเป็นการยากสำหรับเขาที่จะทำเช่นนั้น และสำหรับผู้ที่เอนกายนอนย่อมไม่สามารถกระทำสิ่งนั้นได้เช่นกัน จึงเป็นไปได้ว่าที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม บอกต่อผู้ที่มีความโกรธให้นั่งลง หรือเอนกายลง เพื่อที่เขาจะไม่กระทำสิ่งใดที่เขาอาจเสียใจภายหลัง และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง” (สุนัน อบี ดาวูด พร้อมทั้ง มะอฺอาลิม อัสสุนนะหฺ 5/141)

(4) ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม

ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า “มีชายคนหนึ่งกล่าวต่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมว่า “จงให้คำตักเตือนแก่ฉันด้วยเถิด” ท่านเราะสูลกล่าวว่า “ท่านจงอย่าโกรธ” ชายคนเดิมถามคำถามเดิมต่อท่านเราะสูลซ้ำๆ อยู่หลายครั้ง และทุกๆ ครั้งท่านเราะสูลก็ตอบเขาเช่นเดิมว่า “ท่านจงอย่าโกรธ” (รายงานโดยอัลบุคอรียฺ ฟัตหุลบารียฺ10/456)

อีกหนึ่งรายงาน ชายคนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันใคร่ครวญถึงสิ่งที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวไว้ และฉันได้ตระหนักว่าความโกรธนั้นประกอบด้วยความชั่วร้ายทุกประเภท” (มุสนัด อะหมัด 5/373)

(5) จงอย่าโกรธ แล้วสวนสวรรค์จะเป็นของท่าน (จากหะดีษเศาะหีฮฺ ดูเศาะหีฮฺ อัลญามฺีอฺ  7374. อิบนุ ฮัจญฺร ให้ความเห็นว่าเป็นหะดีษของอัฏฏ็อบบะรอนียฺ ดูอัลฟัตฮฺ 4/465):

พึงรำลึกถึงสิ่งที่อัลลอฮฺทรงให้สัญญาต่อบรรดาผู้ศรัทธาที่ดี (มุตตากีน) ที่ออกห่างจากเหตุแห่งความโกรธ และต่อสู้อย่างหนักกับตัวเองด้วยการควบคุมมัน ซึ่งนั่นคือหนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการขจัดไฟแห่งความโกรธ หนึ่งในหะดีษที่บรรยายถึงรางวัลการตอบแทนอันยิ่งใหญ่ต่อการกระทำนี้ คือ “ผู้ใดก็ตามที่ควบคุมอารมณ์โกรธของเขา ขณะที่เขามีหนทางที่จะแสดงมันออกมา อัลลอฮฺจะทรงเติมเต็มหัวใจของเขาด้วยความสุขในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ” (รายงานโดย อัฎฎ็อบบะรอนียฺ 12/453, ดูหะดีษอัลญามีอฺ, 6518)

อีกหนึ่งรางวัลการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่นั้น ได้ถูกบรรยายไว้ในถ้อยคำของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า “ผู้ใดก็ตามที่ควบคุมความโกรธของเขา ขณะที่เขามีหนทางที่จะแสดงมันออกมาก อัลลอฮฺจะทรงเรียกเขาผู้นั้นออกมาต่อหน้ามวลมนุษย์ทั้งหลายในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ และจะให้เขาได้เลือกฮูรุลอัยนฺ (นางสวรรค์) นางใดก็ตามที่เขาปรารถนา” (รายงานโดยอบู ดาวูด 4777, และท่านอื่นๆ  จัดว่าเป็นหะดีษหะซันในเศาะหีฮฺ อัลญามีอฺ 6518).

(6)  พึงรำลึกถึง “สถานะอันสูงส่ง และสิ่งดีงาม” ที่จะถูกมอบให้กับผู้ที่ควบคุมตัวของเขา

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ที่แข็งแรงไม่ใช่ผู้ที่สามารถเอาชนะผู้อื่นได้ (ในการต่อสู้) หากแต่ผู้ที่แข็งแรงนั้นคือผู้ที่สามารถควบคุมตัวของเขาได้ ในยามที่เขาโกรธ” (รายงานโดยอะหมัด  2/236)  ยิ่งระดับความโกรธมีมากเพียงใด สถานะของผู้ที่ควบคุมความโกรธของเขานั้นยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ที่แข็งแรงที่สุด คือผู้ที่เมื่อเขาเกิดความโกรธ และหน้าของเขาแดงกล่ำ และเอนที่คอของเขานูนขึ้น หากแต่เขาสามารถต่อสู้กับอารมณ์ความโกรธของเขาได้” (รายงานโดยอีม่ามอะหมัด  5/367, จัดเป็นหะดีษหะซันในเศาะหีฮฺ อัลญามีอฺ 3859)

ท่านอนัสรายงานว่า “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เดินผ่านคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังต่อสู้กันอยู่ ท่านถามขึ้นมาว่า “นี่คืออะไรกัน” พวกเขาจึงตอบว่า “คนนั้น คนนี้ คือผู้ที่แข็งแรงที่สุด เขาสามารถเอาชนะ (ในการต่อสู้) กับผู้ใดก็ตาม” ท่านเราะสูล กล่าวว่า “ฉันควรบอกแก่ท่านให้ทราบเกี่ยวกับผู้ที่มีความแข็งแรงเหนือเขาหรือไม่?  นั่นคือผู้ที่เมื่อเขาถูกอธรรมจากผู้อื่น เขาก็ควบคุมอารมณ์โกรธของเขา และต่อสู้กับชัยฎอนในตัวเขาและชัยฎอนของผู้ที่ทำให้เขาโกรธ(รายงานโดยอัลบัซซารฺ และอิบนุ ฮัจญรฺ กล่าวว่าอิสนาดของหะดีษบทนี้นั้นเศาะหีฮฺ , อัลฟัตฮฺ  10/519)

(7)  ปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในยามที่ท่านโกรธ   

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม คือผู้นำของเราและได้เป็นแบบอย่างที่ดีงามที่สุดในเรื่องนี้ ดังที่มีการรายงานไว้ในหะดีษหลายบท หนึ่งในหะดีษที่เป็นที่รู้จักกันดีนั้นถูกรายงานโดยท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ซึ่งท่านเล่าว่า “ฉันกำลังเดินอยู่กับท่านเราะสูล ขณะนั้นท่านสวมใส่เสื้อคลุมนัจรอนียฺ ที่มีคอเสื้อที่หยาบ ระหว่างนั้นมีชาวเบดูอีนคนหนึ่งเข้ามาและคว้าดึงขอบคอเสื้อคลุมของท่าน และฉันได้เห็นรอยตรงคอด้านซ้ายของท่าน ที่เกิดจากคอเสี้อ จากนั้นชาวเบดูอินได้สั่งท่านเราะสูลให้นำทรัพย์สินของอัลลอฮฺที่ท่านมีอยู่ มามอบให้แก่เขา ท่านเราะสูลจึงหันไปหาเขาและยิ้มให้ จากนั้นท่านจึงสั่ง (พวกเรา) ว่าชายเบดูอินท่านนั้นควรได้รับบางสิ่งบางอย่าง(หะดีษ ผู้รายงานเห็นพ้องต้องกัน ฟัตฮุลบารียฺ, 10/375)

อีกหนทางที่เราสามารถปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้นั้นคือ“การทำให้ความโกรธของเราเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺเมื่อสิทธิ์ของพระองค์ถูกทำร้าย (ละเมิด)” นี่คือประเภทของความโกรธที่น่ายกย่อง ดังนั้นท่านเราะสูลจึงเกิดความโกรธ เมื่อท่านได้ทราบเกี่ยวกับอีม่ามท่านหนึ่งที่นำผู้คนละหมาดเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน และเมื่อท่านเห็นม่านที่มีรูปสิ่งถูกสร้างประดับอยู่ในบ้านของท่านหญิงอาอิชะฮฺ และเมื่ออุซามะฮฺบอกกับท่านเกี่ยวกับสตรีมักฮฺซูมียฺที่มีความผิดฐานทำการขโมย และท่านกล่าวว่า “พวกท่านเข้ามาขัดขวางหนึ่งในการลงโทษที่ถูกกำหนดไว้โดยอัลลอฮฺกระนั้นหรือ?” และเมื่อท่านถูกถามคำถามที่ท่านไม่ชอบ เป็นต้น “ความโกรธของท่านเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺด้วยความบริสุทธิ์ใจ”

(8)  พึงรู้ว่าการยับยั้งความโกรธ คือหนึ่งสัญญาณของความดีงาม (ความยำเกรง: ตักวา)

“ผู้ยำเกรง (อัลมุตตากูน)” คือผู้ที่ได้รับการยกย่องด้วยอัลลอฮฺในอัลกุรอานและด้วยศาสนทูตของพระองค์ “สวนสวรรค์ที่กว้างใหญ่เท่ากับชั้นฟ้าและผืนแผนดินได้ถูกเตรียมไว้สำหรับพวกเขา” หนึ่งในคุณลักษณะที่ว่าคือ “จงใช้จ่าย (ในหนทางของอัลลอฮฺ) ทั้งในยามที่สุขสบาย และในยามที่เดือดร้อน (พวกเขา) ข่มอารมณ์โกรธ และ (พวกเขา) ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ แท้จริง อัลลอฮฺทรงรักอัลมุฮฺซินูน (ผู้กระทำความดีทั้งหลาย)” (อะลิ อิมรอน 3:134)

(9) รับฟังคำตักเตือน

ความโกรธ คือส่วนหนึ่งในธรรมชาติของความเป็นมนุษย์” ผู้คนมีความแตกต่างกันในเรื่องของความโกรธ มันอาจจะเป็นการยากสำหรับคนคนหนึ่งที่จะไม่รู้สึกโกรธ หากทว่า “ผู้ที่มีความบริสุทธิ์ใจ” ย่อมรำลึกถึงอัลลอฮฺ เมื่อพวกเขาใคร่ครวญ และพวกเขาจะไม่ก้าวข้ามขอบเขตที่กำหนดไว้ มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับชนยุคก่อนเช่น

ท่านอิบนุ อับบาส (เราะฏิยัลลอฮุ อันฮุ) รายงานว่า มีชายคนหนึ่งขออนุญาตที่จะเข้าไปพูดคุยกับท่านอุมัรฺ อิบนุ ค็อฏฏ็อบ (เราะฏิยัลลอฮุ อันฮุ) จากนั้นเขากล่าวได้ขึ้นมาว่า “โอ้ บุตรของอัล ค็อฏฏ็อบ ท่านไม่ได้ให้แก่พวกเรามากนัก และท่านก็ไม่ได้ทำการตัดสินระหว่างพวกเราด้วยความยุติธรรม” เมื่อได้ยินเช่นนั้น ท่านอุมัรฺจึงเกิดความโกรธเป็นอย่างมากจนท่านเกือบที่จะเข้าไปทำร้ายชายคนดังกล่าว หากแต่ท่านอัลฮุรรฺ อิบนุ ฆ็อยซฺ หนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น กล่าวขึ้นมาว่า “โอ้ อะมีรฺ อัลมุอฺมินีน อัลลอฮฺตรัสต่อศาสนทูตของพระองค์ว่า “จงยึดถือไว้ซึ่งการอภัย และจงใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และจงผินหลังให้แก่ผู้โฉดเขลาทั้งหลายเถิด (อัลอะร็อฟ 7:199) ชายคนนั้นคือหนึ่งในบรรดาผู้ที๋โง่เขลา ด้วยพระนาม่ของอัลลอฮฺ อุมัรฺไม่สามารถทำสิ่งใดไปได้มากกว่านั้นหลังจากที่ท่านอัลฮุรรฺได้กล่าวถึงอายะฮฺนี้ต่อท่าน และท่านอุมัรฺเองก็คือบุรุษที่มีความระมัดระวังต่อการยึดมั่นต่อคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺคนหนึ่ง (รายงานโดย อัลบุคอรียฺ อัลฟัตฮฺ  4/304) นี่คือวิธีการที่มุสลิมควรปฏิบัติ

บรรดามุนาฟีกที่ชั่วร้าย (ผู้กลับกลอก) ไม่ได้ปฏิบัติตัวเช่นนี้เมื่อเขาได้รับการบอกกล่าวถึงหะดีษของท่านเราะสูล และเมื่อหนึ่งในบรรดาเศาะฮาบะฮฺได้บอกแก่เขาว่า “จงขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้พ้นจากชัยฎอนเถิด” เขากล่าวต่อผู้ที่ให้การตักเตือนแก่เขาว่า “ท่านคิดว่าฉันบ้ากระนั้นหรือ จงไปให้ไกลเสีย”(รายงานโดย อัลบุคอรียฺ อัลฟัตฮฺ  1/465) เราวิงวอนขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺจากความล้มเหลว (ความพ่ายแพ้ต่อชัยฎอน) ด้วยเถิด

(10) พึงรู้ถึงผลเสียของความโกรธ

“ผลเสียของความโกรธมีอยู่มากมาย” คือ “ความโกรธ” เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลร้ายทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ผู้ที่มีความโกรธอาจกล่าวถ้อยคำที่ใส่ร้ายและถ้อยหยาบคาย และเขาอาจเข้าไปทำร้าย (ร่างกาย) ผู้อื่นในลักษณะที่สูญเสียการควบคุม และมันอาจนำพาเขาไปสู่จุดที่ก่อให้เกิดการฆ่า เรื่องราวที่จะกล่าวต่อไปนี้ได้ให้บทเรียนที่มีคุณค่าแก่เรา นั่นคือ

“ท่านอิลกิมะฮฺ อิบนุ วาอฺอิล รายงานว่าบิดาของท่านบอกต่อท่านว่า “ขณะที่ฉันนั่งอยู่ร่วมกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม  มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาด้วยการนำชายอีกคนหนึ่งมาด้วยโดยผูกเขาไว้กับเชือก เขากล่าวว่า “โอ้ เราะสูลุลลอฮฺ ชายคนนี้ได้ฆ่าพี่ชายของฉัน” ท่านเราะสูลจึงถามชายคนนั้นว่า “ท่านได้ฆ่าเขาจริงหรือไม่” เขาตอบว่า “ใช่ขอรับ ฉันได้ฆ่าเขา” ท่านเราะสูลถามว่า “ท่านฆ่าเขาอย่างไร” เขาตอบว่า “ขณะที่ฉันและเขาตีต้นไม้เพื่อให้ใบไม้ตกลงมา เป็นอาหารสัตว์ เขาได้กล่าวร้ายต่อฉัน ดังนั้นฉันจึงตีเขาที่ข้างศีรษะด้วยขวาน และทำให้เขาเสียชีวิตลง” (รายงานโดยมุสลิม 1307, แก้ไขโดยอัลบากียฺ)

“ความโกรธ” สามารถนำไปสู่ สิ่งที่อาจร้ายแรงน้อยกว่าการฆ่า นั่นคือการทำร้ายให้บาดเจ็บ หรือกระดูกหัก หากว่าผู้ที่สร้างความโกรธแก่อีกฝ่ายหนีออกไป ผู้ที่มีความโกรธอาจจะปลดปล่อยความโกรธลงตัวเอง ซึ่งเขาอาจจะฉีกเสื้อผ้าของตัวเอง ตบตีที่ใบหน้าของตัวเอง หรืออาจเกิดความโมโหมาก และเสียสติ หรือเขาอาจจะทำลายข้าวของจานชาม หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ก็เป็นได้

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ “ความโกรธ” ก่อให้เกิดความหายนะทางสังคมและการแตกหักของความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เช่น “การหย่าร้าง” หากเราลองถามผู้ที่หย่าขาดกับภรรยาของพวกเขา พวกเขาย่อมบอกกับคุณว่า “มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งความโกรธ” และแน่นอนว่า  “การหย่าร้าง” ย่อมนำไปสู่ความทุกข์แก่บรรดาลูกๆ และการมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสียใจ ความผิดหวัง ความยากลำบากและความทุกข์เข็ญ นั่นคือผลที่เกิดจากความโกรธ หากพวกเขารำลึกถึงอัลลอฮฺ กลับมามีสติ ยับยั้งความโกรธของพวกเขาและขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ สิ่งเลวร้ายเหล่านี้ย่อมไม่เกิดขึ้น

การปฏิบัติในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับชารีอะฮฺมีเพียงแต่จะนำไปสู่ความสูญเสีย

“การมีสุขภาพเลวร้าย” ก็เป็นผลที่เกิดจากความโกรธ ที่มีเพียงแพทย์เท่านั้นที่สามารถอธิบายถึงสิ่งนี้ได้ เช่นภาวะเส้นเลือดอุดตัน ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และการหายใจถี่ ซึ่งสามารถนำไปสู่อาการหัวใจวายและก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้ เป็นต้น เราขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺ โปรดประทานสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแก่พวกเราด้วยเถิด

 (11) ผู้ที่มีความโกรธ ควรคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับตัวของเขา ในช่วงเวลาแห่งความโกรธ

หากผู้ที่กำลังโกรธสามารถมองเห็นตัวของเขาเองภายในกระจก ขณะที่เขากำลังโกรธ เขาย่อมเกลียดพฤติกรรมและหน้าตาของเขาขณะนั้น หากเขาสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเขา และเวลาที่ร่างกายทั้งตัวของเขาสั่นเทา ดวงตาที่จ้องเขม็งของเขา และการสูญเสียการควบคุมและพฤติกรรมที่บ้าคลั่งของเขา เขาย่อมรังเกียจตัวเองและหน้าตาท่าทางของเขา

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ความน่าเกลียดภายใน” นั้นมีความเลวร้ายมากยิ่งกว่า “ความน่าเกลียดภายนอกเสียอีก” ลองคิดดูสิว่า “ชัยฏอน” จะมีความสุขเพียงใตเมื่อบุคคลหนึ่งอยู่ในสภาพดังกล่าว เราขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากชัยฎอนและความพ่ายแพ้ (ต่อมัน) ด้วยเถิด

(12) การดุอาอฺ

การดุอาอฺ คืออาวุธสำหรับผู้ศรัทธาเสมอ เพราะเขาได้วิงวอนขออัลลอฮฺให้ทรงคุ้มครองเขาให้พ้นจากความชั่วร้าย ปัญหา และพฤติกรรมที่เลวร้ายทั้งหลาย และขอความคุ้มครองจากพระองค์ให้พ้นจากการตกลงไปสู่หลุมพลางของกุฟรฺ หรือการกระทำที่ชั่วร้ายอันเนื่องมาจากความโกรธ หนึ่งในสามสิ่งที่สามารถช่วยปกป้องเขาได้คือการมีความพอดีในช่วงเวลาที่มีความสุขและในช่วงเวลาที่มีความโกรธ (เศาะหีฮฺ อัลญามีอฺ 3039).

หนึ่งในดุอาอฺของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม คือ

“โอ้ อัลลอฮฺ ด้วยความรอบรู้ต่อสิ่งที่มองไม่เห็นของพระองค์และอำนาจของพระองค์ที่มีเหนือบรรดาสิ่งถูกสร้างของพระองค์ โปรดทำให้ข้าพระองค์มีชีวิตอยู่ตราบเท่าที่พระองค์ทรงรู้ว่า “การมีชีวิต” นั้นดีสำหรับข้าพระองค์ และโปรดทำให้ข้าพระองค์เสียชีวิตลงเมื่อพระองค์ทรงรู้ว่า “ความตาย” นั้นดีสำหรับข้าพระองค์ โอ้อัลลอฮฺ ข้าพระองค์ขอความวิงวอนต่อพระองค์ โปรดทรงทำให้ข้าพระองค์ยำเกรงต่อพระองค์ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง และข้าพระองค์วิงวอนขอต่อพระองค์โปรดทำให้ข้าพระองค์พูดในสิ่งที่เป็นสัจธรรมทั้งในยามสุขและยามโกรธ  ข้าพระองค์ขอวิงวอนต่อพระองค์โปรดอย่าปล่อยให้ข้าพระองค์ยากจนมากเกินไปและสุขมากเกินไป ข้าพระองค์วิงวอนขอการอำนวยพรที่ต่อเนื่องจากพระองค์ และความพึงพอใจที่ไม่มีวันสิ้นสุด ข้าพระองค์วิงวอนขอพระองค์โปรดทำให้ข้าพระองค์น้อมรับต่อการกำหนดของพระองค์ และวิงวอนขอต่อการมีชีวิตที่ดีหลังจากความตาย ข้าพระองค์วิงวอนขอต่อพระองค์ซึ่งความเบิกบานแห่งการได้เห็นพระพักตร์ของพระองค์และความปรารถนาที่จะได้พบกับพระองค์ โดยปราศจากการต้องพบเจอกับโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายและฟิตนะฮฺที่นำไปสู่หนทางที่ผิดทั้งหลาย (บททดสอบ) โอ้อัลลอฮฺ โปรดประดับประดาพวกเราด้วยเครื่องประดับแห่งความศรัทธาและโปรดทำให้พวกเราอยู่ในหมู่ชนของผู้ที่ได้รับทางนำ การสรรเสริญเป็นของพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลโลก” 

Read Full Post »

ความแตกต่างระหว่าง ‘ความอิจฉาริษยา’ และ ‘สายตาแห่งความอิจฉาที่ชั่วร้าย’
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

image

ถอดความบางส่วนจากบทความของชัยคฺ อัซซิม อัลฮากีม
โดย บินติ อัลอิสลาม

‘สายตาแห่งความอิจฉาที่ชั่วร้าย’ คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้แม้แต่กับคนที่ดีมีศาสนา มันสามารถเกิดขึ้นได้แม้ไม่มีเจตนาที่จะอิจฉา ซึ่งต่างจาก ‘ความอิจฉาริษยา’ โดยตรง

‘ความอิจฉาริษยา’ คือสิ่งที่ชั่วร้ายและคนที่อิจฉาโดยเจตนานั้น มีความคาดหวังและปรารถนาให้ความดีงามที่เกิดขึ้นกับคนใดคนหนึ่งนั้นมลายหายไป พวกเขาปรารถนาโดยเจตนาให้มีความเลวรัายเกิดขึ้นกับคนนั้นๆ หรือใครก็ตามที่พวกเขาตัองการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นด้วย

ส่วน ‘สายตาแห่งความอิจฉาที่ชั่วร้าย คืออะไร? อิบนุ ก็อยยิม กล่าวไว้ว่า ‘อัยน์’ หรือ ‘สายตาแห่งความอิจฉาที่ชั่วร้าย’ คือสิ่งที่มาจาก ‘จิตวิญญาณ ความรูัสึกภายในตัวคุณ’ ซึ่งไร้การควบคุม โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเมื่อคุณเห็นบางสิ่งบางอย่างและคุณชื่นชอบในสิ่งนั้น หากทว่าคุณลืมที่จะกล่าวพระนามของอัลลอฮฺต่อสิ่งนั้น คุณไม่ได้กล่าว ‘มาชาอัลลอฮฺ ตะบาเราะกั้ลลอฮฺ’ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณอยากจะกล่าวเมื่อคุณเห็นบางสิ่งบางอย่างที่คุณพึงพอใจ 

‘อัยน์’ สามารถส่งผ่านออกมาจากดวงตาทั้งสองข้างของคุณโดยที่คุณเองก็ไม่รู้ตัว และนั่นเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณที่ชั่วร้ายที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคนและในตัวของพวกเราทุกๆ คน ซึ่งออกมาจากตัวคุณเมื่อคุณมองดู หรือเห็นบางสิ่งที่คุณชื่นชอบ พึงพอใจ
——————

ดังนั้นเราต้องระวังให้มากนะคะ และกล่าว ‘มาชาอัลลอฮฺ ตะบาเราะกั้ลลอฮฺ’ ให้ติดปาก เพราะบางทีเราอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำร้ายเพื่อน พี่น้อง ลูกหลานของเรา โดยไม่รู้ตัวก็ได้

Read Full Post »

image

ทำอย่างไรเมื่อบุคคลหนึ่งเกิดความอิจฉาต่อพี่น้องของเขา แหล่งที่มา islamqa ฟัตวา How can he rid himself of jealousy towards his brothers?

คำถาม
*******
การที่จะเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริงนั้น ควรมีคุณสมบัติหนึ่ง
นั่นคือ การที่ปรารถนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อพี่น้องของเขาดังเช่นที่เขาปรารถนาต่อตัวของเขาเอง

อัลฮัมดุลิลลาฮฺ
นี่ถือว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะคิดเช่นนี้กับพี่น้องทางสายเลือด หากแต่ว่ามันค่อนข้างจะยากพอสมควรที่จะคิดเช่นนี้กับพี่น้องมุสลิม ยกเว้นบางคนเท่านั้น เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่ฉันพบเจอพี่น้องมุสลิมคนใดคนหนึ่งที่ดีกว่าฉันในด้านใดด้านหนึ่ง ฉันก็จะเริ่มมีความรู้สึกอิจฉาเขาขึ้นมาทันที
ฉันเชื่อว่าที่เกิดจากความทะนงตนของฉัน (อย่างไรก็ตาม เมื่อฉันมีความรู้สึกเช่นนั้น ฉันมักจะขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺให้พระองค์อภัยต่อฉัน แต่เมื่อใดก็ตามที่ฉันได้พบพี่น้องมุสลิมคนเดิม ความรู้สึกอิจฉานี้ก็จะกลับมาอีกครั้ง)

ฉันอยากจะมีความรู้สึกที่เป็นสุข เมื่อพี่น้องมุสลิมเป็นสุข และฉันก็อยากจะรู้สึกถึงความทุกข์ เมื่อพี่น้องมุสลิมมีทุกข์ แต่เมื่อใดก็ตามที่ฉันพบเจอ พี่น้องมุสลิมได้รับการยกย่อง ชื่นชม ฉันก็จะรู้สึกอิจฉาขึ้นมาเสมอ

ในขณะเดียวกันฉันก็ต้องการที่จะให้พี่น้องมุสลิมได้เข้าสู่สวรรค์ญันนะฮฺ

แต่เมื่อไรก็ตามที่พี่น้องกล่าวตักเตือนให้คำแนะนำฉันในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อศาสนา แม้ว่าฉันจะอยากปฏิบัติตามคำแนะนำ ชัยฏอนก็จะเริ่มล่อลวงให้ฉันมีความรู้สึกว่า  “หากฉันปฏิบัติตามสิ่งที่เขาสอน เขาก็จะได้ผลบุญเช่นเดียวกับฉัน อีกทั้งเขาก็จะอยู่ในสถานที่ที่ดีกว่าในญันนะฮฺ” บางครั้งความรู้สึกใฝ่ต่ำนี้ทำให้ฉันต้องตกอยู่ในหลุมพราง

ฉันจึงอยากทราบว่าฉันจะสามารถรักษาเยียวยาจากอาการนี้ออกไปให้หมดอย่างไร

คำตอบ
*******
การสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺตะอาลา สิ่งที่คุณกล่าวไว้ข้างต้นนั้น คือ
สิ่งที่มุสลิมทุกคนจำเป็นจะต้องกระทำ “การปรารถนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อพี่น้องของเขาดังเช่นที่เขาปรารถนาสิ่งที่ดีนั้นต่อตัวของเขาเอง
และการที่เขาเกลียดชังสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อพี่น้องของเขาดังเช่นที่เขาเกลียดความชั่วนั้นๆ ต่อตัวของเขาเอง” แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า เขาไม่สามารถที่จะปรารถนาในสิ่งที่เขาปรารถนาต่อผู้อื่นเพื่อตัวของเขาเองได้

หากว่าเขาพบว่าพี่น้องของเขามีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่ตัวเขาเองไม่มี และเขาปรารถนาที่จะมีสิ่งนั้น นี่ถือว่าเป็น “ฆิบเฏาะฮฺ” (ความอิจฉาที่ปราศจากความริษยา พยาบาท) และหากว่าเขาปรารถนาที่จะให้พี่น้องไม่ได้รับผลบุญจากการอำนวยพรทั้งหลาย นี่ถือว่าเป็น “ฮะซัด” (ความอิจฉาริษยา)

มุสลิมจำเป็นต้องพยายามที่จะต่อต้านความรู้สึกใฝ่ต่ำนี้ด้วยตัวของเขาเอง (ญิฮาด อันนัฟซู) เพื่อที่ว่าหัวใจจะบริสุทธิ์ปราศจากความรู้สึกอิจฉาริษยาต่อพี่น้องของเขา หากเขารักพี่น้องด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่ทำให้เขาทุกข์ทรมานใจนั้นก็จะหมดไป

มุสลิมจะตระหนักถึงคุณค่าและสถานะอันยิ่งใหญ่นี้ก็ต่อเมื่อเขามีความรักต่อพี่น้องและปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดีกับพี่น้องของเขา
และเมื่อเขาทราบถึงรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่เขาจะได้รับเมื่อเขาปฏิบัติดีต่อพี่น้องของเขา
และสิ่งนี้จะเป็นตัวที่ช่วยผลักดันให้เขาปฏิบัติดีต่อพวกเขาในทุกๆ ด้าน และเขาควรที่จะพยายามทำให้พี่น้องของเขาได้รับผลบุญความดี แทนที่จะมีความคิดอิจฉาว่า ‘พวกเขาจะได้รับอะไร ไม่ได้รับอะไร’ เข้ามาครอบงำจิตใจ

ชัยคฺมุหัมมัด อัล ดูวัยชฺ กล่าวว่า

ท่านจำต้องคิดให้ยาวและคิดให้หนักเกี่ยวกับสิ่งที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า “นั่นคือความโปรดปรานของอัลลอฮฺซึ่ง
พระองค์จะประทานมันแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์” (อัล-มาอิดะฮ์ 5.54)

“เราต่างหากที่เป็นผู้จัดสรรการทำมาหากินของพวกเขาระหว่างพวกเขาในการมีชีวิตอยู่ในบนโลกนี้ และเราได้เชิดชูบางคนในหมู่พวกเขาเหนือกว่าอีกบางคนหลายชั้น เพื่อบางคนในหมู่พวกเขาจะเอาอีกบางคนมาใช้งาน” (อัซซุครุฟ 43.32)

ฮะซัด (ความอิจฉาริษยา) เป็นสาเหตุของความหายนะที่เลวร้ายอย่างยิ่งทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

ติรฺมิซีย์รายงานจาก อัซ-ซุบัยรฺ อิบนุ อัล เอาวาม ว่าศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

“มันได้มายังเจ้าแล้วซึ่ง…โรคร้ายแห่งประชาชาติก่อนหน้าท่าน (นั่นคือ) “ความอิจฉาริษยาและความเกลียดชัง”  มันคือ “มีดโกน” (ตัวทำลายล้าง) ฉันไม่ได้กล่าวว่า มันคือสิ่งที่โกนขน หากแต่มันคือสิ่งที่โกน (ทำลาย) ความศรัทธาออกไป ขอสาบานผู้ที่ชีวิตมุหัมมัดอยู่ในมือของเขา ท่านจะไม่ได้เข้าสวรรค์จนกว่าท่านจะเชื่อ และท่านจะไม่มีความเชื่อจนกว่าท่านนั้นมีความรักต่อกันและกัน ฉันควรจะบอกท่านหรือไม่ถึงสิ่งที่จะเป็นตัวช่วยสร้างความรักที่มั่นคงเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในหมู่พวกท่าน? จงกล่าว (ทักทาย) “สลาม” ในหมู่พวกท่าน”
(หะดีษหะซัน ญามิอุล ติรฺมิซีย์ 2434)

ความหมายของสำนวนที่ว่า “มันจะโกน (ทำลาย) ความศรัทธา”
อัฏฏ็อยยิบียฺกล่าวว่า “ตัวอย่างเช่น ความเกลียดชังนั้นเป็นตัวที่ทำลายความศรัทธาดังเช่นที่ใบมีดโกนขจัดขน
(ของร่างกาย) ออกไป” (ตุฮฺฟะตุล อะฮฺวะษี บิ ชัรฮฺ ญามิอุล ติรฺมิซิยฺ)

พี่น้องแห่งอิสลามของฉัน ดูเหมือนว่า
ท่านนั้นทราบดีถึงตัวบทกฎเกณฑ์และผลที่ตามมา (จากความอิจฉาริษยา) และท่านเองก็ต้องการที่จะกำจัดคุณลักษณะอันน่าตำหนินี้ออกไปจากตัวท่าน

ฉันขอแนะนำวิธีแก้ปัญหาดังต่อไปนี้

1. ขอดุอาอฺ (วิงวอนขอ)
ต่ออัลลอฮฺให้พระองค์เมตตาขจัดปัญหานี้ออกไปจากตัวท่าน
ท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮุ
อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยกล่าวในดุอาอฺของท่านว่า “วาหฺดิ ก็อลบิ วัสลุล สะฆีมะตา ซัดริ” (Wa’hdi qalbi wa’slul sakheemata sadri) แปลว่า ขอโปรดทรงนำทางให้หัวใจของฉันและทรงนำความปรารถนาอันชั่วร้ายนี้ออกไปจากอกของฉัน –

สำนวนที่ว่า “นำทางให้หัวใจฉัน” หมายความว่า นำไปสู่ทางอันเที่ยงตรง และ “นำความปรารถนาอันชั่วร้ายนี้ออกจากอกฉัน”หมายความว่า นำสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ ความพยาบาท ความเกลียดชัดทั้งหลายออกไป

2. ใคร่ครวญและตระหนักถึงความหมายของอัลกุรอาน
พร้อมทั้งอ่านอัลกุรอานอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในอายะหฺที่กล่าวถึง “ฮะซัด” (ความอิจฉาริษยา) เนื่องจากว่า การอ่านอัลกุรอานนั้นจะนำมาซึ่งฮะซะนาต (รางวัลแห่งความดี) อันยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺตรัสว่า

“แท้จริงความดีทั้งหลายย่อมลบล้างความชั่วทั้งหลาย” (ฮูด 11.114)

3. การอ่านซีเราะฮฺ (ชีวประวัติ) ของท่านศาสนทูต มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และศีกษาวิธีการที่ท่่านปกป้องตัวท่านออกจากฮะซัด (ความอิจฉาริษยา) อย่างไร และท่านปรารถนาสิ่งดีดีต่อผู้อื่น หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นศัตรูท่านอย่างไร –
หนึ่งในบรรดาหนังสือเกี่ยวกับซีเราะฮฺที่ดีคือ “นูรฺฺ
อัล-ยากีน ฟิ ซีเราะตฺ ซัยยิด อัล-มูรฺซะลีน” (์Noor
Al Yaqeen fi Seerat Sayyid al-Mursaleen)

(เป็นหนังสือซีเราะฮฺ (ชีวประวัติ) ที่มีชื่อเสียง
ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยใช้ชื่อหนังสือว่า “the Sealed Nectar – Biography of the Noble Prophet (peace and blessings of Allaah be upon him)”, เขียนโดย Safi-ur-Rahmaan al Mubarakpuri

4. การอ่านชีวประวัติและเรื่องราวของบรรดาเศาะฮาบะฮฺจากหนังสือต่างๆ เช่น “Suwar min Hayaat al-Sahaabah เขียนโดย “Abd al-Rahmaan Ra’fat
al-Basha

5. หากเกิดความรู้สึกเลวร้าย (ที่เกิดจากฮะซัดหรือความรู้สึกไม่ดีอื่น) เข้ามาในจิตใจ
ให้ขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺให้ปกป้องท่านจากชัยฏอนที่ถูกสาปแช่ง และพยายามทำตัวให้ยุ่งอยู่กับงานอื่นๆ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ท่านลืมการกระซิบกระซาบ (ของชัยฏอน) และความคิดชั่วร้ายต่างๆ

6. หากว่าชัยฏอนพยายามที่จะสร้าง “ฮะซัด” (ความอิจฉาริษยา) ให้อยู่ในจิตใจของท่าน เช่นนั้นท่านควรระมัดระวังการพูด การกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะแสดงถึงความอิจฉาริษยานั้นๆ

มนุษย์ทุกคนย่อมมี “ฮะซัด” อยู่ในตัวเองไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว ดังที่ชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺได้กล่าวว่า “ไม่มีผู้ใดที่จะบริสุทธิ์จาก “ฮะซัด” หากแต่ว่าบุคคลที่มีคุณธรรม (ผู้ศรัทธา) ย่อมจะปิดบังมันไว้ ในขณะที่คนชั่วจะแสดงมันออกมา” (อัมราต อัล กุลูบ Amraad al-Quloob)

“เขาจะไม่ถูกคิดบัญชีในสิ่งที่เขาคิด หากแต่เขาจะถูกคิดบัญชีในสิ่งที่เขาพูดและกระทำออกมา”

ท่านนบีได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺจะทรงอภัยให้กับประชาชาติของฉันต่อความผิดพลาดของเขา ต่อสิ่งที่เขาลืม ต่อสิ่งที่เขาถูกบังคับให้กระทำ” (รายงานโดย อัล บุคคอรียฺ 2033)

7. หากท่านรู้สึกว่าท่านกำลังรู้สึกอิจฉาใครคนใดคนหนึ่งเป็นการส่วนตัว เช่นนั้นแล้วท่านควรจะซื้อของขวัญให้แก่เขาและจับมือเขา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “จงจับมือกัน เพราะมันจะขจัดความอาฆาตแค้น และจงแลกเปลี่ยนกันซึ่งของขวัญ อีกทั้งจงมีความรักต่อกัน เพราะมันจะขจัดความเกลียดชัง” (รายงานโดย มาลิก ใน อัล มุวัฏฏอ 1413)

“ฮะซัด” เป็นผลแห่งความเกลียดชัง คุณสมบัติที่ตรงข้ามกับมัน คือ “ความรัก” วิธีการที่จะแก้ไขคือการให้ของขวัญและการกล่าวทักทายด้วย “สลาม” เพราะท่านนบีกล่าวว่า “ท่านจะไม่ได้เข้าสวรรค์จนกว่าท่านจะเชื่อ
และท่านจะไม่มีความเชื่อจนกว่าท่านนั้นมีความรักต่อกันและกัน ฉันควรจะบอกท่านหรือไม่ถึงสิ่งที่จะเป็นตัวช่วยสร้างความรักที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นระหว่างหมู่พวกท่าน? จงกล่าว (ทักทาย) “สลาม” ในหมู่พวกท่าน” (รายงานโดย มุสลิม 81)

ชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมิยยะฮฺ กล่าวในหนังสือ Amraad Al-Quloob (หนังสือภาษาอังกฤษ Diseases of the heart)

“ผู้ใดก็ตามที่พบว่าตัวเขานั้นมี “ฮะซัด” ต่อผู้อื่น
เขาจำเป็นต้องลบล้างความรู้สึกชั่วร้ายนี้ด้วยความตักวา (ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ) และซอบัรฺ (ความอดทน) เขาควรเกลียดชังความรู้สึกนั้น (ฮะซัด หรือความอิจฉาริษยา) ที่มีอยู่ในตัวเขา แต่สำหรับผู้ที่กระทำความผิดต่อพี่น้องของเขาด้วยคำพูดหรือการกระทำนั้นจะต้องได้รับการลงโทษจากการกระทำของเขา ส่วนผู้ที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺและมีความอดทน
(ซึ่งไม่รวมถึงหมู่คนที่กระทำผิดศีลธรรม) อัลลอฮฺจะทรงให้รางวัลแก่เขาสำหรับความตักวาของเขา (ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ)”

แท้จริงแล้ว อัลลอฮฺทรงรู้ยิ่ง

แปล: bint Al Islam

Read Full Post »

ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมิยยะฮฺ กล่าวว่า “ท่านไม่ควรมองดู “สิ่งที่บุคคลคนหนึ่ง” เคยกระทำ แต่ท่านควรมองดูว่า “เขาเป็นคนเช่นไร ณ วันนี้” ผู้ที่ยึดติดอยู่กับอดีตของผู้คน เปรียบเสมือนกับ “อิบลิส” ที่กล่าวต่ออัลลอฮฺว่า “พระองค์ทรงสร้างฉันจากไฟ และพระองค์ทรงสร้างเขาจากดิน” 

(อัลมินฮาจญ์ หมวดที่ 2 หน้าที่ 430)
**************************

“เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตเพื่อเขียน “ตอนเริ่มต้น” ให้ดีกว่าเดิมได้ใหม่ แต่เราสามารถที่จะทำอนาคตของเราและใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ตอนจบ” ที่ดีกว่า” – ชัยคฺ ยาซีร กอซีรฺ

Read Full Post »

ชัยฏอนได้สร้างความหวาดระแวงและความสงสัยให้เกิดขึ้นในจิตใจของมุสลิม นั่นคือการทำให้พวกเขาคิดไม่ดีหรือคิดร้ายเกี่ยวกับคนอีกคน ศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยกล่าวว่า “ชัยฏอนได้สิ้นหวังในการที่จะทำให้บรรดาผู้ศรัทธาเคารพสักการะมัน ดังนั้นมันจึงหาหนทางยั่วยุให้พวกเขาเกิดอารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจต่อกันและกัน” 

“ความหวาดระแวงและความเคลือบแคลงสงสัย” มักนำพาไปสู่ “ความคิดที่ชั่วร้าย” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนคนหนึ่งถูกชัยฏอนกระซิบกระซาบเข้าไปในหัวใจของเขา 

อุมมุลมุมินีน (มารดาแห่งผู้ศรัทธา) ท่านหญิงเซาะฟียะฮฺ บินติ ฮะยียฺ (เราะฏิยัลลอฮุ อันฮา) เคยเล่าว่า “คืนหนึ่งขณะที่ศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ออกไปที่มัสญิดเพื่อทำการอิบาดะฮฺ ฉันได้เดินทางไปหาท่าน เราทั้งสองได้พูดคุยกัน จากนั้นฉันต้องการที่จะกลับบ้านท่านจึงลุกขึ้นเพื่อเดินไปส่งฉัน เราเดินอยู่เคียงข้างกันในความมืด ขณะเดียวกันนั้นได้มีชายสองคนพบเห็นเราและจำศาสนทูตได้ 

พวกเขาจึงเดินเลี่ยงออกไปโดยเร็ว หากแต่ศาสนทูตมุหัมมัดได้หยุดพวกเขา และกล่าวว่า “รอก่อน ท่านทั้งสอง นี่คือเซาะฟียะฮฺ บิน ฮะยียฺ” ชายทั้งสองคนจึงกล่าวว่า “ซุบฮานั้ลลอฮฺ โอ้ เราะสูลุลลอฮฺ” ศาสนทูตมุหัมมัดจึงกล่าวต่อว่า “แท้จริงนั้น ชัยฏอนได้วิ่งอยู่ในร่างกายของมนุษย์เสมือนกับกระแสเลือด และอาจเป็นไปได้ว่ามันจะใส่ความคิดที่ชั่วร้ายเข้าไปในจิตใจของท่าน” 

การที่ผู้ชายเดินเคียงข้างกับผู้หญิงคนหนึ่งในยามค่ำคืน ในสถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้ผู้คนตัดสินกันอย่างรวดเร็ว แต่ศาสนทูตมุหัมมัดนั้นต้องการที่จะชี้แจงสถานการณ์ดังกล่าวและขจัดความสงสัยที่ชั่วร้ายที่อาจเกิดในความคิดของชายทั้งสองออกไป ดังนั้นท่านจึงหยุดเขาทั้งสองเพื่อที่จะอธิบายให้พวกเขาทราบว่าท่านเพียงแค่เดินไปส่งภรรยาของท่านที่บ้านเท่านั้น 

นี่คือบทเรียนที่พวกเราทั้งหลายจำต้องเรียนรู้ เราไม่ควรปล่อยให้มี “เรื่องราวที่น่าสงสัยเคลือบแคลงใจ” เกิดขึ้นโดยไม่ได้อธิบายข้อเท็จจริงให้คนได้รับทราบ เพื่อที่ว่ามันจะได้ไม่มีช่องว่างในการที่ใครก็ตามจะบิดเบือนข้อเท็จจริงและทำไปเผยแพร่เป็นข่าวลือ 
——————————-
แปลและเรียบเรียงจากส่วนหนึ่งในอีบุค Satan and his ways of approaching the believers
โดย Abdullah Al-Khater 
แปลโดย บินติ อัลอิสลาม
รูป กูเกิ้ล

image

Read Full Post »

Older Posts »