Feeds:
Posts
Comments

Archive for the ‘ศาสนทูตมุหัมมัด’ Category

นบีมุหัมมัดศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม รับมือกับผู้คนที่ทำบาปอย่างไร 

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

จากบทความของ ดร. ฮิชาม อัลอะวะดีย์ แปล เรียบเรียง บินติ อัลอิสลาม

เราทราบกันดีว่า “ประชาชาติมุสลิมที่ดีที่สุด คือ กลุ่มชนที่ดำเนินชีวิตอยู่ในยุคของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม”

อย่างไรก็ตาม พวกเขาเหล่านั้นก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา และพวกเขาบางคนก็เคยทำบาปใหญ่ และมีอีกหลายคนที่เพิ่งเข้ารับอิสลาม ซึ่งก่อนหน้านั้น (ก่อนอิสลาม) “การดื่มแอลกอฮอล์หรือการทำผิดประเวณี” เป็นเรื่องปกติสำหรับบางคน 

ดังนั้นเราจำต้องเข้าใจว่ามันยากเพียงใดสำหรับหลายๆ คนที่ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเขาอย่างฉับพลัน

การเลิกทำนิสัยบางอย่างที่เป็นความเคยชินอาจง่ายสำหรับบางคน และยากสำหรับบางคน 

และแน่นอนว่าคนที่เพิ่งเข้ารับอิสลามในปัจจุบันนี้รู้ดีว่ามันหมายความเช่นไร

หากทว่าความแตกต่างระหว่างคนในยุคนี้ กับคนในยุคท่านนบีคือ ผู้ที่ทำการละเมิด ทำบาปในยุคของท่านนบีจะเกิดความรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ทำลงไป และพวกเขาก็สำนึกผิด กลับเนื้อกลับตัวด้วยความจริงใจ 

แน่นอนว่า พวกเขาอาจจะโชคดีกว่าเราที่พวกเขามี “คนคนหนึ่ง” ที่อยู่เคียงข้างเขา ซึ่งคือ นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ผู้ที่ทราบดีว่าควรจะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นและรับมือกับมันอย่างไรด้วยวิธีที่ชาญฉลาด

—แล้วท่านนบีรับมืออย่างไรเล่า?—

– ท่านทำตัวของท่านให้เป็นบุคคลที่เข้าถึงง่ายต่อผู้คน

– ท่านไม่เคยตะคอก ท่านไม่เคยสาปแช่ง และท่านไม่เคยตัดสิน 

– ท่านไม่เคยต้องการทราบเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่ทำบาป หรือซักถามสอบสวนผู้ที่ทำบาปนั้น 

– ท่านมุ่งความสนใจไปที่การแก้ไข ว่าคนทำบาปนั้นควรทำอย่างไรหลังจากนั้น มากกว่าการให้ความสนใจว่าเขาได้ทำอะไรไปบ้าง หรือเหตุใดเขาจึงทำมัน 

ชายคนหนึ่งเข้ามาพบท่านนบีมุหัมมัด และบอกท่านว่าเขาได้ล่วงละเมิดสตรีนางหนึ่ง หากทว่าเขาไม่ได้หลับนอนกับนาง 

เมื่อได้ยินเช่นนั้น เริ่มต้นนบีได้แต่นิ่งเงียบ จากนั้นท่านก็กล่าวขึ้นมาว่า “และเจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด ตามปลายช่วงทั้งสองของกลางวัน และยามต้นจากกลางคืน แท้จริงความดีทั้งหลายย่อมลบล้างความชั่วทั้งหลายนั่นคือข้อเตือนสำหรับบรรดาผู้ที่รำลึก” {ฮูด 11 : 114} คัดลอกจาก app Quran 

แทนที่ท่านจะเน้นย้ำเกี่ยวกับบาปที่เขาได้กระทำ แต่ท่านได้ให้ทางออกแก่เขาด้วยการสั่งใช้ให้ทำความดี ซึ่งในกรณีนี้ คือการละหมาด 

“การทำความดี” ยังหมายรวมถึง การถือศีลอด การบริจาค การดูแลรับใช้ครอบครัว เพื่อน สังคม  

นบีมุหัมมัดอาจทำให้คนทำบาปรู้สึกผิดกับสิ่งที่เขาทำลงไป แต่ท่านไม่เคยทำให้เขารู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับตัวเอง 

การรักษา “การเคารพตัวเอง” ของผู้ทำบาป (ของท่าน) คือกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ทำผิด 

มีชายคนหนึ่งซึ่งเป็นคนตลก เขาเคยทำให้ท่านนบีมุหัมมัดหัวเราะ แต่ชายคนดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับการดื่มเหล้า และถูกลงโทษอยู่บ่อยครั้งอันเนื่องมาจากการดื่มเหล้าของเขา

วันหนึ่งเขาถูกนำตัวมายังท่านนบีด้วยความผิดเดิม และมีมุสลิมคนหนึ่งกล่าวสาปแช่งเขา

ท่านนบีจึงกล่าวแก่มุสลิมคนนั้นว่า “จงอย่าสาปแช่งเขา เพราะฉันรู้ว่าเขารักอัลลอฮฺและศาสนทูตของเขา”

แน่นอนว่า การติดเหล้าของเขานั้นถูกต่อต้านและต้องได้รับการลงโทษ แต่ความรักที่เขามีต่ออัลลอฮฺและนบีมุหัมมัด ก็ยังเป็นที่รับรู้และได้รับการชื่นชม

ดังนั้น หากว่าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนทำบาป มันจำเป็นอย่างที่มากที่คุณจะมุ่งเน้นไปที่การให้ทางออกแก่ผู้ทำบาปด้วยการแนะนำให้เขาทำความดี และคุณควรแนะนำเขาด้วยวิธีการที่ยังคงรักษา “ความเชื่อมั่นในตัวเองของผู้ทำบาปในการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีกว่าเดิม” ด้วย

ขออัลลอฮฺทรงให้อภัยต่อบาปทั้งหลายของเรา และให้แรงกำลังแก่เราในการที่จะรับใช้พระองค์ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายที่เรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ด้วยเถิด อามีน

รูปจาก Google search

Read Full Post »

อบู อุมามะฮฺรายงานว่า นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ฉันขอรับรองซึ่งสถานที่พำนักในสวรรค์ญันนะฮฺต่อบรรดาผู้ที่ละทิ้งการโต้เถียง (ทะเลาะ) แม้ว่าเขาจะเป็นฝ่ายที่ถูกต้องก็ตาม และฉันขอรับรองซึ่งสถานที่พำนักกลางสวรรค์ญันนะฮฺ ต่อผู้ที่ละทิ้งการกล่าวเท็จแม้ว่าจะเป็นไปเพื่อความสนุกสนานก็ตาม และฉันขอรับรองซึ่งส่วนที่สูงสุดในสวรรค์ญันนะฮฺต่อผู้ที่มีพฤติกรรมมรรยาทที่ดีงาม” (สุนันอบีดาวูด 4800 หะซัน)

ท่านหญิงอาอิชะฮฺรายงานว่า “นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “แท้จริงนั้น ผู้เป็นที่เกลียดชังยิ่งต่ออัลลอฮฺ คือผู้ที่ก้าวร้าว หยาบคายในการโต้แย้ง” (เศาะหีฮฺมุสลิม เล่มที่สามสิบสี่ เลขที่หกพันสี่ร้อยสี่สิบเจ็ด)

ท่านอบู อุมามะฮฺรายงานว่า “นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “จะไม่มีผู้ใดที่หลงทาง หลังจากที่ได้รับทางนำแล้ว เว้นแต่ว่าพวกเขาหมกมุ่นอยู่กับการโต้เถียง (ทะเลาะเบาะแว้ง)” จากนั้นท่านก็อ่านอายะฮฺ “พวกเขายกตัวอย่างแก่เจ้าเพียงเพื่อการโต้แย้ง พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ชอบการโต้เถียง” (อัลกุรอาน 43:58) (สุนัน อัตติรฺมิซียฺ Book of Exegesis, 3253, เศาะหีฮฺ)

และมีการรายงานว่า มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มาจากกลุ่มชนแห่งความรู้ เขามักจะเสนอตัวเองก่อนใครอยู่เสมอ อีกทั้งยังพูดและประพฤติตัวด้วยความยโสทะนงตนในความรู้ของเขาต่อหน้าบรรดาผู้ที่อาวุโสกว่าเขา ซึ่งการกระทำนี้สร้างความขุ่นเคืองต่อท่านสุฟยาน อัษเษารียฺ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวว่า “บรรดาสลัฟนั้นไม่เคย (ประพฤติตัว) เช่นนี้ พวกท่านไม่เคยกล่าวอ้างถึงความเป็นผู้นำ หรือนั่งอยู่ตรงส่วนหัวของการชุมนุมจนกว่าพวกเขาจะได้แสวงหาความรู้แล้วเป็นระยะเวลาสามสิบปี และท่านกลับแสดงความยโสต่อหน้าบรรดาผู้ที่อาวุโสมากกว่าท่าน จงลุกขึ้นเถอะ ฉันไม่แม้แต่ต้องการที่จะเห็นท่านอยู่ใกล้ๆ กับวงสนทนาของฉัน” (อัลบัยฮากียฺ Al Madhkal Ila Al-Sunan al-Kubra 2:74)

แหล่งที่มา App: Shortcuts to Jannah
แปล บินติ อัลอิสลาม

Read Full Post »

คุณปรารถนาที่จะได้รับการตักเตือนเช่นไร

รูป จากอินเตอร์เน็ต

 แหล่งที่มา บทความ How would you like to be advised?
http://www.facebook.com/note.php?note_id=182494331780351&id=126354667404022
โดย ชัยคฺ มุหัมมัด อิบนุ อับดีล วะฮาบ อัล อะกีล
ถอดความ บินติ อัลอิสลาม

คำถาม

โอ้ ชัยคฺของฉัน ขออัลลอฮฺทรงปกป้องคุ้มครองท่าน เราหวังว่าท่านจะสามารถชี้แจงให้เราทราบถึงวิธีการที่ถูกต้องในการให้คำแนะนำตักเตือน (ต่อพี่น้องของเรา)  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ที่กำลังได้รับคำตักเตือนนั้นก็อยู่ในหลักการที่ถูกต้อง หากแต่เขายังคงมีความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อยู่?

คำตอบ

ขออัลลอฮฺทรงปกป้องคุ้มครองท่าน

“การให้คำแนะนำตักเตือน”  นั้นเป็นสิ่งที่มีความประเสริฐเป็นอย่างมาก  ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ศาสนาคือการนาซีฮัต (การแนะนำตักเตือน ความจริงใจ)” ถึงสามครั้ง เราจึงถามว่า “ต่อใครหรือ ท่านเราะสูล”  ท่านเราะสูลตอบว่า “ต่ออัลลอฮฺ ต่อคัมภีร์ของพระองค์ ต่อศาสนทูตของพระองค์ และต่อบรรดาผู้นำแห่งประชาชาติมุสลิมทั้งหลาย และต่อผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของพวกเขา”

ดังนั้น ในการให้คำแนะนำตักเตือนต่อพี่น้อง หรือการสั่งใช้ให้พวกเขากระทำความดีและห้ามปรามพวกเขาจากความชั่ว และการเรียกร้องให้พวกเขาไปสู่ความดีงามนั้น ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า “จงปฏิบัติต่อผู้คนดังเช่นที่ท่านปรารถนาที่จะได้รับการปฏิบัติเถิด”

นี่คือหลักเกณฑ์  ที่คุณควรต้องปฏิบัติต่อผู้คนในหนทางที่คุณปรารถนาให้พวกเขาปฏิบัติต่อคุณเช่นกัน ขออัลลอฮฺทรงปกป้องคุ้มครองเราด้วยเถิด

(ลองถามตัวคุณเองสิว่า…)

คุณปรารถนาจะได้รับการแนะนำตักเตือนจากผู้อื่นอย่างไร?

คุณปรารถนาจะให้พวกเขาตักเตือนคุณด้วยวิธีที่แข็งกระด้างหรือไม่?

คุณปรารถนาจะให้พวกเขาสบประมาท ดูถูกคุณหรือไม่?

คุณปรารถนาจะให้พวกเขาทุบตีคุณหรือไม่?

หรือคุณปรารถนาให้พวกเขาตักเตือนคุณด้วยวิธีการที่ดีและด้วยความสุภาพหรือไม่?

“เจ้าจงขับไล่ (ความชั่ว) ด้วยความดี แล้วเมื่อนั้นผู้ที่ระหว่างเจ้ากับเขาเคยเป็นอริกันย่อมกลับกลายเป็น เยี่ยงมิตรที่สนิทกัน” (41:34)

แน่นอนว่า เราต่างมีข้อผิดพลาดมากมายในกิจการต่างๆ ของเรา และเราก็มีข้อบกพร่องอีกมากมายในเรื่องของการปฏิบัติตัว การปฏิสัมพันธ์กับบิดาและมารดา และนั่นเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวงที่เกิดขึ้น ขออัลลอฮฺทรงปกป้องเราจากสิ่งนี้ด้วยเถิด

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ พ่อแม่บางคนพร่ำบ่นเกี่ยวกับบลูกๆ ของพวกเขา ถึงขนาดที่กล่าวว่า “ฉันก็ได้แต่หวังว่าเขาจะไม่ปฏิบัติต่อหลักการศาสนาเคร่งครัดขนาดนี้” “ลูกของฉันเคยปฏิบัติกับฉันดีกว่านี้ ในช่วงก่อนที่เขาจะเริ่มปฏิบัติตัวเคร่งครัดตามหลักการศาสนาแบบนี้”

ด้วยพระนามขอัลลอฮฺ ผมได้ยินคำพูดเหล่านี้จากผู้ที่เป็นพ่อแม่บางคน

และนี่ยังรวมไปถึง การปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับพี่น้องของเรา ญาติพี่น้องของเรา พ่อของเรา แม่ของเรา เพื่อนบ้านของเรา ภรรยาของเรา สามีของเรา .. ด้วยเช่นกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ มันได้ก้าวไปจนถึงจุดที่ว่า  มีคนกล่าวว่า “อย่าได้แต่งงานกับผู้หญิงที่เคร่งครัดในศาสนาเลย ไม่เห็นหรือว่าเธอทำให้ผมฉันหงอกไปหมดแล้ว”

เราขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ เราขอความคุ้มครองจากพระองค์ให้พ้นจากสิ่งนี้ เพราะแท้จริง “เขา” กำลังกล่าวในสิ่งที่ขัดแย้งกับ คำสอนของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ท่านได้กล่าวว่า“จงเลือกสตรีที่มีศีลธรรม (มีความเคร่งครัดต่อศาสนา) และท่านจะประสบความสำเร็จ”

สาเหตุดังกล่าว (ที่ทำให้คนกล่าวเช่นนั้น) เป็นเพราะว่า  เธอปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดตามหลักการศาสนา  หากแต่เธอไม่ทราบถึงวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เธอไม่ทราบว่าเธอควรดะวะฮฺสามีของเธออย่างไร และผู้ที่เป็นสามีก็ไม่ทราบว่าควรดะวะฮฺภรรยาของเขาเช่นไรเช่นกัน เราขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้เราปลอดภัยจากสิ่งเหล่านี้ด้วยเถิด

ประเด็นก็คือ  (ปัจจุบัน) ผู้คนต่างเริ่มกล่าวตักเตือนกันให้ออกห่างจากบรรดาผู้มีศีลธรรม ผู้ที่เคร่งครัดต่อหลักการศาสนา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วนั้น “(การครองคู่กับ) สามีผู้มีศีลธรรมนั้น” เป็นสิ่งที่ดีเพราะหากเขามิได้รักภรรยาของเขา เขาก็ย่อมยับยั้งตัวเขาจากการกดขี่ ข่มเหงเธอ ดังนั้นจงอย่าแต่งงานเว้นเสียแต่ว่า เขาคือผู้ที่มีศีลธรรม เพราะหากว่าผู้เป็นสามีรักภรรยาของเขา เขาย่อมปฏิบัติต่อเธอเป็นอย่างดี และหากมันเกิดเหตุที่ว่า เขาไม่ได้รักเธอ เขาย่อมไม่มีวันที่จะกดขี่ ข่มเหงเธอ นั่นก็เป็นเพราะว่าเขามีความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ อัซซะ วะญัล

หากแต่ว่า เราต่างคงยังมีข้อบกพร่องมากมายในเรื่องนี้ 

อีกตัวอย่างของการให้คำแนะนำตักเตือนกันและการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน  คือ พวกเรายังคงมีความเย็นชา และมีข้อผิดพลาดอีกมากมาย นี่คือเหตุผลที่เราจำต้องหันกลับสู่คำสอนของท่านเราะสูล  ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่าท่านปฏิบัติต่อบรรดาชาวยิวเช่นไร

มีชาวยิวกลุ่มหนึ่งเข้ามายังท่านและกล่าวว่า “อัซซัม อะลัยกะ” (ขอความตายจงประสบต่อท่าน โอ้ มุหัมมัด)

ท่านเราะสูลจึงตอบว่า “วะ อะลัยกะ” (พวกท่านก็เช่นกัน)

พึงดู “วิธีการปฏิบัติของท่านเราะสูล” ไว้เป็นแบบอย่างเถิด ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผมของเราย่อมกลายเป็นสีขาว หากเราไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้เยี่ยงท่าน ขอความสันติจงมีแด่ท่านเราะสูล …… อัลลอฮุ อักบัรฺ อัลลอฮุ อักบัรฺ

ท่านเราะสูลกล่าวตอบกลับชาวยิวว่า “วะ อะลัยกะ” ขณะที่มารดาแห่งความศรัทธาของเรา คือท่านหญิงอะอิชะฮฺ ตอบกลับชาวยิวว่า “ขอความตายและการสาปแช่งจงประสบแด่ท่านเถิด”

ดังนั้น ท่านเราะสูลกล่าวต่อนางว่า “เจ้าไม่ได้ยินสิ่งที่ฉันได้กล่าวตอบกลับไปหรือ ฉันกล่าวว่า “วะ อะลัยกะ” ต่อเขา และอัลลอฮฺย่อมตอบรับการวิงวอนของฉัน แต่พระองค์จะมิทรงตอบรับการวิงวอนของเขา”

ดังนั้น “ความตาย และการสาปแช่ง ย่อมประสบต่อพวกเขา เพราะท่านเราะสูลได้วอนขอสิ่งนั้นต่อเขา”

ท่านเราะสูลเคยกล่าวไว้ว่า “แท้จริงแล้ว “ความสุภาพอ่อนโยน” นั้น มิได้เกิดกับสิ่งใด เว้นแต่มันทำให้สิ่งนั้นมีความสวยงาม และมันจะไม่ถูกนำออกไปจากสิ่งใด เว้นแต่มันจะก่อให้เกิดความหายนะต่อสิ่งนั้น” 

ศาสนาของเรา คือศาสนาแห่งความอ่อนโยน ดังนั้นจงแสดงความอ่อนโยนต่อพี่น้องของท่าน จงอดทนต่อพวกเขา จงรวมหัวใจของพวกเขาให้เป็นหนึ่งเดียว และให้ของกำนัลแก่พวกเขา

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เองก็เคยให้ของกำนัลเป็นอูฐจำนวนหนึ่งร้อยกว่าตัว และท่านเคยให้ของกำนัลชาวเบดูอินคนหนึ่งเป็นแพะทั้งหุบเขา แพะทั้งหุบเขา! ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่านเราะสูล

มีตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว .. พี่น้องของเราท่านหนึ่งในเมืองมะดีนะฮฺ เขามาจากที่อื่นที่ไม่ใช่ซาอุดิอารเบีย ผมเคยให้คำตักเตือนเรื่องบางเรื่องที่เกี่ยวกับ “เตาฮีด” ต่อเขา และเขากล่าวต่อผมว่า“ค่อยๆ สอนผมไปอย่างช้าๆ แล้วกันนะครับ ไม่ต้องเร่งรีบ เพราะตอนนี้ผมก็อายุ 55 แล้ว และเท่าที่ผมจำได้คือ แม่ของผมมักจะพาผมไปที่สุสานทุกๆ เช้า เพื่อที่ผมจะได้จูบหินที่หลุมฝังศพ และท่าน (ชัยคฺ) ต้องการให้ผมละทิ้งสิ่งที่ผมปฏิบัติมาตลอด 50 ปีนี้ เพียงเพราะคำพูดไม่กี่คำของท่านหรือ?  ได้โปรดสอนผมแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เถอะ ไม่ต้องเร่งรีบ สอนผมทีละอย่างเถอะครับ”

และนี่คือสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เขากล่าวนั้นถูกต้อง เป็นระยะเวลา 13 ปี ที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะศัลลัม พยายามจะทำให้พวกเขา (บรรดาผู้ปฏิเสธ) ละทิ้ง “อัล ลัตฺ” และ “อัล อุซซะอฺ” (เทพเจ้าที่ชาวอาหรับนับถือก่อนอิสลาม) ซึ่งมันไม่ได้ใช้เวลาเพียงแค่หนึ่งวันหรือหนึ่งคืนที่ความทุกข์ทรมานได้ประสบกับพวกเขา (ท่านเราะสูลและบรรดาเศาะฮาบะฮฺ) ในช่วงเวลานั้น เมื่อท่านถูกขับไล่ มลาอิกะฮฺแห่งขุนเขาได้มายังท่านและกล่าวต่อท่านว่า “หากท่านปรารถนาที่จะให้ข้าสาปแช่งพวกเขาระหว่างเขาสองลูกนี้”

ท่านตอบว่า “ไม่ ฉันจะอดทนต่อพวกเขา มันอาจเป็นไปได้ว่าลูกหลานที่เกิดจากเขานั้นจะเป็นผู้ที่ทำการสักการะต่ออัลลอฮฺ”

เรื่องดังกล่าวได้เกิดขึ้น ขณะที่พวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิเสธพระเจ้า และท่านเราะสูลก็อดทนต่อพวกเขา เช่นนั้นแล้ว คุณจะไม่อดทนต่อบรรดาพี่น้องที่มีข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ หรือ? พวกคุณจงอดทนต่อพวกเขาเถิด และจงจูบที่หน้าผากของเขา และบอกกับเขาว่า คุณรักเขา

“โอ้ มุอ๊าซ แท้จริง ฉันนั้นรักท่าน” (ท่านเราะสูลกล่าว)

การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูก หรือผิดกันเล่า?

โอ้ พี่น้องที่รักของผม ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ แท้จริงผมรักพี่น้องทั้งหลาย

พี่น้องที่รัก จงอย่าเดินไปหาพี่น้องของคุณและกล่าวว่า “คุณและอาจารย์ของคุณยังไม่เข้าใจ คุณและอาจารย์ของคุณต่างมีทิฐิมากเหลือเกิน” เป็นต้น  

แน่นอนว่า หากคุณพูดเช่นนั้น พี่น้องของคุณย่อมตอบกลับมาว่า “คุณกับอาจารย์ของคุณก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน”

พึงระลึกถึงอัลลอฮฺ พึงห่วงใยพี่น้องของท่านเถิด  

จงมีความเมตตา และแสดงความอ่อนโยนต่อพวกเขา เพราะนี่คือยุคแห่งความประหลาด นี่คือช่วงเวลาแห่งความแปลก และหากคุณพบใครสักคน และพบว่า “มีเพียงเสี้ยวหนึ่ง” ในตัวเขาที่อยู่บนหนทางที่ถูกต้อง ดังนั้น คุณจงจูบที่หน้าผากของเขาเถิด …  แม้จะเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งเท่านั้น คุณก็จงจูบลงที่หน้าผากของเขาและบอกเขาว่าคุณรักเขาเถิด

—————

อ้างอิง

Shaykh Muhammad ibn Abdil-Wahhaab al-Aqeel

Category: Contemporary Issues

Translator: Nadir Ahmad, Abu Abdul-Waahid

www.madeenah.com

Read Full Post »

image

Read Full Post »

ความโกรธของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
★ ★ ★ ★ ★ ★ ★ ★ ★ ★ ★ ★ ★

image

“เมื่อใดก็ตามที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ต้องเลือกระหว่างสองสิ่ง ท่านจะเลือกเอาสิ่งที่ง่ายกว่าในสองสิ่งนั้น ตราบใดที่สิ่งนั้นไม่เป็นบาป แต่หากว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เป็นบาป ท่านออกห่างไกลจากมัน ด้วยอัลลอฮฺ ท่านเราะสูลไม่เคยแก้แค้น (เอาโทษ) เพื่อตัวของท่านเองในเรื่องใดก็ตามที่เกี่ยวกับตัวท่าน หากแต่เมื่อสิทธิ์ของอัลลอฮฺถูกรุกล้ำ (ละเมิด) ท่านจะแก้แค้น (เอาโทษ) เพื่อพระองค์” (รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ เศาะเหียะฮฺบุคอรียฺ)

ท่านเราะสูลเคยมีอาการโกรธมาก และหน้าของท่านแดงกล่ำ หากท่านได้ยินการสบประมาท (หรือการดูหมิ่น) ต่อเกียรติของอิสลาม หรือเมื่อท่านทราบว่ามีสิ่งผิดพลาด หรือการเพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามกฎแห่งอิสลาม หรือการเพิกเฉยต่อการลงโทษ (ตามหลักการของอิสลาม)

ท่านเคยโกรธ เมื่อมีชายคนหนึ่งเข้ามาพบท่านและกล่าวต่อท่านว่า “ฉันมักจะมาละหมาดฟัจญรฺช้าเสมอ เพราะว่าท่านนั้น ท่านนี่ ทำให้การละหมาดยาวนาน” ท่านเราะสูลไม่เคยมีอาการโกรธเคืองมากเท่าวันนั้นเลย ท่านกล่าวว่า “โอ้ มนุษย์เอ๋ย มีคนในหมู่พวกท่านที่ทำให้ผู้คนละทิ้งการกระทำความดีงาม ดังนั้นเมื่อผู้ใดก็ตามเป็นผู้นำผู้คนในการละหมาด เขาควรทำให้การละหมาดนั้นสั้นลง เพราะข้างหลังของเขานั้นมีทั้งคนชรา เด็ก และผู้ที่มีความเร่งรีบที่จำเป็น (ต้องทำ)” (ฟัตฮุลบารียฺ 10/519 มุสลิม, 15/83)

อีกทั้ง ท่านเราะสูลยังเคยโกรธเมื่อท่านกลับมาจากการเดินทาง และพบว่ามีม่านบางที่ประดับด้วยรูป (สิ่งถูกสร้าง) ภายในบ้านของท่านหญิงอาอิชะฮฺ เมื่อท่านเห็นมัน ท่านจึงฉีกม่านผืนนั้น และใบหน้าของท่านแดงกล่ำ ท่านเราะสูลบอกต่อท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า “โอ้ อาอิชะฮฺ บรรดาผู้ที่จะได้รับการลงโทษอย่างเจ็บแสบด้วยอัลลอฮฺในวันแห่งการฟื้นคืนชีพคือผู้ที่เลียนแบบการสร้างของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา” (บุคอรียฺ และมุสลิม)

และท่านเราะสูลเคยโกรธ เมื่อท่านอุซามะฮฺ อิบนุ ซัยดฺ เข้ามาพูดกับท่าน เกี่ยวกับสตรีมักฮฺซุมียฺที่มีความผิดฐานลักทรัพย์ และท่านเราะสูลได้กำหนดโทษที่เหมาะสมแก่นางไว้แล้ว ผู้คนต่างกล่าวว่า “ใครจะเป็นผู้ที่เข้าไปพูดคุยกับท่านเราะสูล เกี่ยวกับนางเล่า?” จากนั้นพวกเขาจึงกล่าวว่า “ใครจะกล้าทำในสิ่งนี้ได้ เว้นแต่ท่านอุซามะฮฺ อิบนุ ซัยดฺ ผู้เป็นที่รักของท่าน?” ดังนั้นท่านอุซามะฮฺจึงเข้าไปพูดกับท่าน และท่านเราะสูลได้ตอบเขาด้วยความโกรธว่า “ท่านเข้ามาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ยุติ “การลงโทษที่ถูกกำหนดไว้ด้วยอัลลอฮฺ” กระนั้นหรือ?” จากนั้นท่านเราะสูลจึงลุกขึ้น และกล่าวต่อผู้คนว่า “บรรดาผู้ที่มาก่อนพวกท่านได้ประสบกับความหายนะ อันเนื่องมาจาก มีคนคนหนึ่งในหมู่คนมีศีลธรรมได้กระทำการลักทรัพย์ (ขโมย) หากแต่พวกเขาได้ปล่อยเขาให้เป็นอิสระ หากแต่เมื่อคนคนหนึ่งในหมู่คนอ่อนแอได้กระทำการลักทรัพย์ พวกเขากลับทำการลงโทษเขาผู้นั้นด้วยพระนามของอัลลอฮฺ หากแม้ว่าฟาติมะฮฺ บุตรสาวของมุหัมมัดกระทำการลักทรัพย์ ฉันจะเป็นคนที่ตัดมือของนางเอง” (บุคอรียฺ และมุสลิม)

นี่คือความโกรธของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และเป็นความโกรธที่มีเหตุผลตามหลักการของอิสลาม “ความโกรธ” ควรเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺ ไม่ใช่เพื่ออีโก้ (ความทะนงตน ยึดตัวเองเป็นใหญ่) ของตัวเอง

มุสลิมที่เข้าใจคำสอนแห่งอิสลามและปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ย่อมที่จะรำลึกถึงคำสอน พฤติกรรม และการกระทำที่ดีงามของท่านเราะสูลอยู่เสมอ ดังนั้นพวกเขาย่อมควบคุมตัวของพวกเขา เมื่อพวกเขารู้สึกโกรธเคืองผู้คน และความโกรธของพวกเขานั้นเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา ศาสนาของพระองค์ และความศักดิ์สิทธิ์ของพระบัญญัติของพระองค์

แหล่งที่มา หนังสือ Ideal Muslimah หน้าที่ 403-404
ถอดความ بنت الاٍسلام

Read Full Post »

image

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เน้นย้ำอยู่เสมอในเรื่องความสำคัญของการมีทัศนคติที่ดี และท่านได้ส่งเสริมให้บรรดาเศาะฮาบะฮฺนำมาปฏิบัติ โดยการที่ท่านใช้หลายวิธีทางในการปลูกฝัง “สิ่งนี้” ให้อยู่ในจิตใจของพวกเขา ด้วยการใช้ถ้อยคำและการกระทำของท่าน (เป็นแบบอย่าง) ท่านเราะสูลทราบดีว่า “อิทธิพลของการมีทัศนคติที่ดีนั้น” ย่อมช่วยชำระล้างจิตใจพวกเขาให้สะอาดบริสุทธิ์ อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงศีลธรรมและมารยาทของพวกเขาให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้บอกแก่อบู ซัรรฺว่า

“โอ้ อบู ซัรรฺ ฉันไม่ควรบอกให้ท่านทราบถึงคุณสมบัติสองอย่างที่ง่ายต่อการได้มา หากแต่มันจะทำให้น้ำหนักบนตราชั่งหนักยิ่งขึ้นหรือ?” อบู ซัรรฺ ตอบว่า “แน่นอน ขอรับ โอ้เราะสูลุลลอฮฺ” ท่านเราะสูลตอบว่า “ท่านควรมีทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่น และจงนิ่งเงียบเป็นระยะเวลายาวนานชั่วขณะหนึ่งเสีย ด้วยพระองค์ผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ ไม่มีสิ่งใดที่ผู้คนนั้นได้เคยบรรลุจะดียิ่งไปกว่าสองสิ่งนี้” (อบู ยะลา และฎ็อบบะรอนียฺ) 

และท่านเราะสูลยังกล่าวด้วยว่า
“ทัศนคติ (การมีความคิด) ที่ดีนั้น คือการอำนวยพร และทัศนคติ (การมีความคิด) ที่ไม่ดีนั้น คือความหายนะ “ความศรัทธาอันดีงาม (บีรรฺ)” ต่อชีวิตให้ยาวขึ้น และ “การบริจาค” จะช่วยปกป้องให้พ้นจากความตายที่เลวร้าย” (อะหมัด)

หนึ่งในดุอาอฺของท่านเราะสูล คือ

اللهم أحسنت خلقي ، فأحسن خلقي

อัลลอฮุมมา อะหฺซันตะ ค็อลกี ฟะอะหฺซิน คุลุกี 
(โอ้ อัลลอฮฺ พระองค์ทรงทำให้ร่างกายของข้าพระองค์มีความงดงาม เช่นนั้นขอพระองค์โปรดทำให้ทัศนคติและพฤติกรรมของข้าพระองค์งดงามด้วยเถิด) (อะหมัด) 

อามีน
————-
แหล่งที่มา หนังสือ Ideal Muslimah หน้าที่ 330
แปล بنت الإسلام

Read Full Post »

รางวัลการตอบแทนสำหรับผู้ที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องของเข
————————————————————-

image

หนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ของบุคคลคนหนึ่งในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ คือความพยายามของเขาในการช่วยบรรเทาทุกข์ของบรรดาผู้ที่ประสบทุกข์ การให้ความช่วยเหลือผู้ที่ขัดสน การทำให้เกิดความง่ายดายต่อผู้ที่ประสบกับความยากลำบาก และการมองข้ามความผิดของผู้ที่เผลอเรอบนโลกดุนยานี้ ในหะดีษมุสลิมมีการรายงานว่า

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

“ผู้ใดก็ตามที่ช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ของผู้ศรัทธาในโลกนี้ อัลลอฮฺจะทรงปลดเปลื้องความทุกข์ส่วนหนึ่งให้แก่เขาในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ 

ผู้ใดก็ตามที่ทำให้เกิดความสะดวกง่ายดายต่อผู้ประสบกับความยากลำบาก อัลลอฮฺจะทรงทำให้เกิดความสะดวกง่ายดายแก่เขาทั้งในโลกดุนยานี้และโลกหน้า 

ผู้ใดก็ตามที่ช่วยปกปิด (ความผิดของ) มุสลิมคนหนึ่งในโลกนี้ อัลลอฮฺจะทรงปกปิด (ความผิด) ของเขาทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า อัลลอฮฺจะทรงให้ความช่วยเหลือบ่าวของพระองค์ตราบเท่าที่บ่าวของพระองค์ให้ความช่วยเหลือพี่น้องของเขา” 
(มิชกาตุล มะศอบีหฺ, 1/71 หะดีษเลขที่ 204)

บุคอรียฺรายงานจากการบอกเล่าของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร ว่าท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

“มุสลิมคนหนึ่งเป็นพี่น้องของมุสลิมอีกคนหนึ่ง เขาย่อมไม่ปฏิบัติต่อพี่น้องของเขาอย่างไม่เป็นธรรม หรือทำให้เขาเกิดความทุกข์ใจ ผู้ใดก็ตามที่เติมเต็มความต้องการของพี่น้องเขา อัลลอฮฺจะเติมเต็มความต้องการของเขา และผู้ใดก็ตามที่ปลดเปลื้องความทุกข์ของมุสลิมคนหนึ่ง อัลลอฮฺจะทรงปลดเปลื้องความทุกข์ส่วนหนึ่งให้แก่เขาในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ ผู้ใดก็ตามที่ปกปิด (ความผิดของ) มุสลิมคนหนึ่ง อัลลอฮฺจะทรงปกปิด (ความผิดของ) เขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า” (บุคอรียฺ กิตาบ อัล มะซาลิม บาบ ลา ยะซฺลิม อัล มุสลิม อัล มุสลิม ฟัตหุลบารีย์ 5/97)

อัฎฏีนูรียฺรายงานในอัล มุญาลิซะฮฺ, อัล บัยฮะกียฺรายงานในอัชชุอับ และอัฎฎิยาอฺรายงานในมุคตารอฮฺ จากท่านอนัส ว่าท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

“ผู้ใดก็ตามที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องของเขาอย่างลับๆ อัลลอฮฺจะทรงให้ความช่วยเหลือเขาทั้งในโลกดุนยานี้และโลกหน้า” (ซิลซิละฮฺ อัลหะดีษ ศอฮีฮะฮฺ 3/218 หะดีษเลขที่ 1217)

————–
จากบทความ The High Levels Of Those Who Strive to Meet Their Brothers’ Needs
แปล bint Al Islam
Reference:
Dr. `Umar Al-Ashqar The Day of Resurrrection in the Light of the Qur’an and Sunnah, Chapter, “State of the People on the Day of Resurrection: The State of the Pious” 2003 IIPH

Read Full Post »

image

บททดสอบคือการอำนวยพรหนึ่งจากอัลลอฮฺ

Read Full Post »

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺรายงานว่า นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ถูกถามว่าสิ่งใดที่จะทำให้ผู้คนเข้าไปในสวนสวรรค์มากที่สุด ท่านจึงตอบว่า “ความตักวา (ยำเกรง) ต่ออัลลอฮฺ และมารยาท พฤติกรรมที่ดีงาม” และท่านถูกถามต่อว่าสิ่งใดที่จะทำให้ผู้คนเข้าไปในนรกมากที่สุด และท่านได้ตอบว่า “ปาก และอวัยวะพึงสงวนของเขา”
(สุนัน อัตติรฺมิซียฺ บทที่ 4 เล่มที่ 1 หะดีษที่ 2004)

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ รายงานว่า นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่อัลลอฮฺทรงปกป้องเขาให้พ้นจากความชั่วร้ายที่อยู่ระหว่างขากรรไกรของเขาและความชั่วร้ายระหว่างขาทั้งสองข้างของเขา เขาผู้นั้นย่อมได้เข้าไปในสวนสวรรค์”
(ญามิอฺ อัตติรฺมิซียฺ เล่มที่ 36 หะดีษที่ 2591)

–คำอธิบายโดยสรุป–
ตักวา (ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ) – บรรดานักวิชาการให้ความหมายคำว่า “ตักวา” ว่าคือ “การวางสิ่งกีดขวางกั้นระหว่างตัวของคุณและการลงโทษของอัลลอฮฺด้วยการกระทำในสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งใช้ และออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งห้าม”

พฤติกรรมที่ดีงาม – ความหมายคือ “การมีพฤติกรรมที่ดีงามต่อสิ่งถูกสร้าง” รูปแบบของการมีพฤติกรรมที่ดีงามในขั้นต่ำสุดคือ การไม่ทำร้ายผู้คน และรูปแบบของการมีพฤติกรรมที่ดีงามในขั้นสูงสุดคือ การทำดีกับคนที่ทำไม่ดีกับคุณ

และสองสิ่งที่เป็นสาเหตุให้ผู้คนเข้าไปในนรกคือ

ปาก – การพูดในสิ่งที่สร้างความไม่พึงพอพระทัยต่ออัลลอฮฺ เช่นการทะเลาะเบาะแว้ง การด่าทอ หยาบคาย และการใส่ร้ายนินทา การโกหก เป็นต้น

อวัยวะที่พึงสงวน – การผิดประเวณีในทุกรูปแบบ

แปลเรียบเรียงจาก แอพพริเคชั่น shortcuts to jannah
-Bint al islam-

Read Full Post »

สหายเด็กของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตอนที่ 3:2
————————-
เรียบเรียงจากบรรยาย ดร ฮิชาม อัลอะวาดีย

ท่านอับดุลลอฮฺ บิน บุร็อยดะอฺรายงานจากการบอกเล่าของบิดาของท่านว่า “มีสตรีนางหนึ่งจากเมืองฆอมิดได้มาพบท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม และบอกท่านว่า “เราะสูลุลลอฮฺ ฉันได้ทำซินา (ทำผิดประเวณี) ขอท่านได้โปรดชำระล้างมลทินนี้ให้แก่ฉันด้วยเถิด” หากทว่าท่านนบีได้ส่งนางกลับไป ในวันถัดมา นางจึงถามท่านนบีว่า “เราะสูลุลลอฮฺ เหตุใดท่านจึงส่งฉันกลับไป บางทีอาจเป็นเพราะว่าท่านส่งฉันกลับไปเช่นเดียวกับที่ท่านได้ส่งมะอีซกลับไป ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ฉันได้ตั้งครรภ์แล้ว”

ท่านนบีจึงตอบนางว่า “เอาหละ หากเธอยืนกรานในเรื่องนี้ เธอจงกลับไปเสียก่อนจนกว่าเธอจะคลอดบุตรของเธอ”

เมื่อนางคลอดบุตรแล้ว นางได้กลับมาหาท่านนบีพร้อมกับบุตรของนางที่ถูกห่อด้วยผ้าคลุมและนางได้กล่าวต่อท่านนบีว่า “นี่คือบุตรที่ฉันได้ทำการคลอดเขาออกมาค่ะ”

ท่านนบีตอบนางว่า “จงกลับไปเสีย และให้นมเขา จนกระทั่งเธอได้หย่านมเขา”

เมื่อนางหย่านมแล้ว นางจึงได้กลับมายังท่านนบีพร้อมกับบุตรของนางที่ในมือของเขานั้นมีขนมปังอยู่หนึ่งแผ่น นางจึงกล่าวกับท่านนบีว่า “นี่คือบุตรของฉัน ฉันได้ทำการหย่านมจากเขาแล้ว และเขาก็กินอาหารแล้ว”

ท่านนบีจึงได้ทำการฝากเด็กคนนั้นให้อยู่ในการดูแลของมุสลิมคนหนึ่ง จากนั้นก็ประกาศตัดสินการลงโทษ และนางก็ถูกนำตัวลงไปในหลุม (ร่องดิน) ที่มีความลึกถึงช่วงหน้าอกของนาง และท่านนบีก็ได้สั่งให้ผู้คนทำการขว้างก้อนหินใส่นาง

ท่านคอลิด บิน วาลีดได้เดินตรงมาพร้อมกับก้อนหินที่ท่านได้ขว้างใส่ศีรษะของนาง จนทำให้เลือดของนางนั้นพุ่งใส่หน้าของท่านคอลิด และด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ด่าทอเธอ

นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้ยินคำสาปแช่งด่าทอของท่านคอลิด ดังนั้นท่านจึงกล่าวต่อท่านคอลิดว่า “คอลิดเอ๋ย จงอ่อนโยนเถิด ขอสาบานด้วยผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ แท้จริงนางได้ทำการสำนึกผิด กลับเนื้อกลับตัวถึงขั้นที่ว่าแม้ว่าผู้เก็บภาษีที่มีความผิดบาปได้ทำการสำนึกผิด เขาก็จะได้รับการอภัยโทษ จากนั้นท่านก็ได้ออกคำสั่ง และท่านก็ได้ทำการละหมาดให้กับนาง และนางก็ถูกฝัง” (เศาะหีฮฺมุสลิม)

จากหะดีษบทข้างต้นนี้เราจะเห็นได้ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ได้สั่งให้มีการลงโทษนางโดยทันทีทันใด แต่เราลองย้อนคิดดูสิว่า หากว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาบอกเราว่า เธอได้ทำซินา เราจะทำเช่นไร.. เราก็คงบอกเธอว่า ‘ตามคำสั่งใช้ในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ เธอจำต้องได้รับการลงโทษ’ ใช่ไหม

แล้วรู้หรือไม่ ว่าเพราะเหตุใดท่านนบีจึงไม่สั่งลงโทษเธอโดยทันที

นั่นเป็นเพราะว่าท่านนบีเห็นแก่ “ลูกของนาง”

ลองจินตนาการดูสิว่า หากสตรีท่านนั้นถูกลงโทษจนเสียชีวิตลงโดยทันทีหลังจากที่นางคลอด เด็กคนนั้นก็คงต้องใช้ชีวิตโดยไม่ได้เห็นหน้าแม่ของเขาเลย หากแต่ท่านนบีย่อมรู้ดีว่าในช่วงสองสามปีแรกหลังจากการกำเนิดของเขานั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการที่เขาจะได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับแม่ผู้ให้กำเนิดของเขา มันจำเป็นอย่างมากในการที่เขาจะได้ดื่มนมจากอกของแม่เขา ได้รับอ้อมกอด ได้รับการจูบการหอม และความรักจากแม่ของเขาที่กำลังจะเสียชีวิตลงในอีกไม่ช้า

อีกทั้งในความเป็นจริงแล้ว สตรีท่านนั้นสามารถที่จะหนีความผิดของนางได้ เพราะนางไม่ได้ถูกกักตัว หรือล่ามโซ่ไว้แต่อย่างใด มากไปกว่านั้นนางยังสามารถไปร่วมละหมาดในวันศุกร์ นางได้ไปมัสญิด นางได้ไปซื้อของซื้ออาหารให้กับลูกของนางที่ตลาด และทุกคนต่างทราบดีว่านางได้เคยทำซินา หากทว่านางได้รับการปกป้อง และเกียรติของนางได้รับการปกป้องอันเนื่องมาจากบุตรของนาง ทั้งที่นางเป็นสตรีที่แต่งงานแล้วแต่ได้เคยทำซินา  และด้วยเหตุนี้เองท่านคอลิด อับดุลวาลีดจึงได้ด่าทอเธอและขว้างหินใส่ศีรษะนางจนเลือดออกในวันที่มีการตัดสินให้มีการลงโทษนาง ทั้งนี้อันเนื่องมาจากความโกรธของท่าน ซึ่งการกระทำของท่านคอลิดนั้นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติและการกระทำของพวกเราส่วนใหญ่ที่มักจะตอบโต้ออกไปในสถานการณ์เช่นนั้น หากทว่าท่านนบีได้แสดงให้เห็นถึง “เราะฮีม (ความเมตตา)” “อะคุลุกุลอาซีม (มารยาทที่ดีงาม)” “เราะมะตุ้ลอาละมีน (ความปรานี)” ดังที่ท่านได้กล่าวว่า ” “คอลิดเอ๋ย จงอ่อนโยนเถิด ขอสาบานด้วยผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ แท้จริงนางได้ทำการสำนึกผิด กลับเนื้อกลับตัวแล้ว”

ตอนนี้ เรามาลองนึกถึง “ความรู้สึกของบุตรชายของสตรีนางนั้น” สิว่า เมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาจะรักท่านเราะสูลมากเพียงใด ที่ท่านได้ผ่อนผันการลงโทษให้กับแม่ของเขาถึงสาม สี่ปี เพื่อที่เขาจะได้รับการเลี้ยงดูจากนาง .. อีกทั้งเขาย่อมจดจำแม่ของเขา ในฐานะของสตรีผู้สำนึกผิดและกลับเนื้อกลับตัว สตรีผู้ศรัทธา และเมื่อเขาเติบโตไปพร้อมๆ กับเด็กคนอื่น โดยเด็ก เหล่านั้นย่อมรับรู้เรื่องราวของเขา ดังนั้นคุณคิดว่าเด็กเหล่านั้นจะรักเด็กชายคนนี้ ให้เกียรติเด็กชายคนนี้ หรือเกลียดชังเขา สบประมาทเขา ที่พวกเขาได้รู้ว่าแม่ของเขาได้ทำการสำนึกผิดต่ออัลลอฮฺก่อนได้รับการลงโทษ? อีกทั้งการที่แม่ของเขาได้รับการผ่อนผันเวลาเช่นนี้ โดยที่ตลอดเวลานางรู้ดีว่าวันหนึ่งนางจะต้องถูกลงโทษ นางย่อมต้องใช้เวลาที่มีอยู่ไปกับการมอบความรักอย่างมากมายให้กับลูกของนาง และให้การอบรมเลี้ยงดูเขาเป็นอย่างดีแน่นอน นี่คือบทเรียนและข้อคิดที่เราได้จากหะดีษบทนี้
——–
ข้อคิดที่ได้จากผู้บรรยาย
::::::::::::::::::::::::
เวลาที่เราอ่านหะดีษ เราควรคิด ใคร่ครวญเกี่ยวกับหะดีษบทหนึ่งๆ ในมุมนี้ ไม่ใช่แค่อ่านเฉยๆ  ขอให้นึกถึงเหตุและผลอันดีงามที่ซ่อนอยู่ในมัน เพราะหากเราคิดได้เช่นนี้ เราก็จะมี “เราะฮีม (ความเมตตา)” มากยิ่งขึ้น

เรียบเรียง:: บินติ อัลอิสลาม

image

Read Full Post »

Older Posts »