Feeds:
Posts
Comments

Archive for the ‘บทเรียนจากเศาะฮาบะฮฺและสลัฟ’ Category

🍀🍀🍀เรื่องราวของอิหม่ามบุคอรีย์🍀🍀🍀 ที่จะทำให้คุณอยากอ่านหะดีษที่ท่านบันทึกอีกครั้ง

แปลเรียบเรียงจากคลิป The genius: Imam Al bukhari (by Daily reminders) โดย Bint al Islam

🌿อิหม่ามบุคอรียฺ🌿 มีชื่อเต็มว่า 🌿อบู อับดัลลอฮฺ มุหัมมัด อิบนุ อิสมาอีล อิบนุ อิบรอฮีม อิบนุ อัลมุฆีเราะฮฺ อิบนุ บัรดิซบะฮฺ อัล ญุฟียฺ อัล บุคอรียฺ 

🌿ชื่อจริงของท่านคือ 🌿มุหัมมัด 🌿

ทวดของท่าน ▪อัลมุฆีเราะฮฺ▪ ได้เข้ารับอิสลามในสมัยเศาะฮาบะฮฺ 

อิหม่ามบุคอรียฺ มาจากเมืองหนึ่งที่ชื่อ ▪บุคอเราะฮฺ ▪ ซึ่งอยู่ประเทศอุสเบกิสถาน  ดังนั้น อิหม่ามบุคอรียฺ จึงมีเชื้อสายเปอร์เซีย ท่านมีรูปร่างเช่นชาวเปอร์เซีย และใช้ภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาแม่ อย่างไรก็ตามท่านก็มีความสามารถพูดภาษาอาหรับได้อย่างคล่องแคล่ว 

ชื่อ บุคอรียฺ ไม่ใช่ชื่อจริงของท่าน แต่มันมาจากชื่อเมืองที่ท่านเคยอาศัยอยู่ ท่านเกิดประมาณวันที่ 12-13 เชาวาล ปี 194 ซึ่งเป็นวันศุกร์ ญุมอะฮฺ 

ในช่วงวัยเด็กของท่านนั้น มีสองเหตุการณ์สำคัญได้เกิดขึ้นกับท่าน นั่นคือ 

🍃หนึ่ง บิดาของท่านได้เสียชีวิต

🍃สอง ดวงตาของท่านมืดบอดลงเมื่อมีอายุได้ 3 ขวบ

มารดาของท่าน เป็นสตรีที่รักการทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺอย่างมาก และเมื่อ อิหม่ามบุคอรียฺสูญเสียการมองเห็นในวัยสามขวบ มารดาของท่านได้อุทิศตนไปกับการละหมาดตะฮัจญุดทุกค่ำคืน และวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้ทรงประทานการมองเห็นคืนให้กับลูกชายของนาง 

อิหม่ามบุคอรียฺสูญเสียการมองเห็นเป็นระยะเวลาประมาณ 2  ปี แต่มารดาของท่านก็ยังคงไม่ย้อท้อ หรือหมดหวังในอัลลอฮฺ นางเฝ้าวิงวอน ขอต่ออัลลอฮฺอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งคืนหนึ่ง นางฝันเห็นนบีอิบรอฮีม นางฝันว่านบีอิบรอฮีมมาพบนาง และบอกนางว่า “อัลลอฮฺทรงประทานข่าวดีแก่เธอ พระองค์ได้ทรงประทานการมองเห็นคืนให้กับลูกของเธอ อันเนื่องมาจากการดุอาอฺของเธอ” ดังนั้นเมื่อนางตื่นขึ้น นางจึงเข้าไปปลุกลูกชายของนาง เมื่ออิหม่ามบุคอรียฺลืมตาขึ้น ท่านมองไปรอบๆ ท่านเห็นทุกอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันก็เกิดความสับสนว่ามันเกิดอะไรขึ้น 

🍃อิหม่ามบุคอรียฺกลับมามองเห็นอีกครั้ง ด้วยเพราะดุอาอฺของมารดาของท่าน🍃

อิหม่ามบุคอรียฺมีความจำที่ดีตั้งแต่ยังเยาว์วัย และตอนที่ท่านยังเด็ก ท่านเคยฝันว่าท่านเดินตามหลังท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และทุกๆ ครั้งที่นบีวางเท้าลง อิหม่ามบุคอรียฺก็จะวางเท้าลงตามท่านเช่นกัน ซึ่งความฝันนี้ไม่ใช่เพียงแค่ตัวท่านเองที่ฝัน หากทว่ายังมีนักวิชาการท่านอื่นๆ ด้วยที่ฝันเห็นเหมือนกับท่าน 

เมื่อท่านอายุ 16  ปี อิหม่ามบุคอรียฺ พร้อมกับมารดาและพี่ชายได้เดินทางไปทำฮัจญ์ ในสมัยนั้น “ฤดูการทำฮัจญ์” เปรียบเสมือนกับมหาวิทยาลัยนานาชาติของมุสลิม เมื่อเสร็จสิ้นการทำฮัจญ์ ท่านได้ขอร้องมารดาให้กลับไปพร้อมกับพี่ชายของท่าน และท่านขอใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นต่อ และมารดาของท่านได้อนุญาตให้ท่านอยู่ต่อ ซึ่งก่อนที่ท่านจะจากเมืองบุคอเราะฮฺมา ท่านไม่ได้วางแผนเช่นนั้น แต่เมื่อท่านได้เห็นเมืองมักกะฮฺ ท่านจึงเกิดความคิดที่จะอยู่ต่อ 

เมื่อท่านอายุได้ 18 ปี ท่านได้เขียนหนังสือเล่มแรก ซึ่งมีเก้าบท มีชื่อที่มีความหมายว่า “ความปรารถนาของมนุษย์” และหนังสือเล่มนี้ยังถูกใช้เป็นคู่มืออ้างอิงในการค้นหาชื่อ สถานที่ ชีวประวัติ สำหรับนักวิชาการหะดีษมากมายในปัจจุบัน 

ครั้งหนึ่งท่านเดินทางไปยังเมืองแบกแดด เพื่อแสวงหาความรู้กับอิหม่าม อิบนุ ฮัมบาล นักวิชาการด้านหะดีษที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น ขณะนั้นอิหม่ามบุคอรียฺมีอายุประมาณ 20 ปี และอิหม่ามอะหมัดมีอายุประมาณ 60-70 ปี อิหม่ามอะหมัดเคยกล่าวว่า “ฉันไม่เคยพบเห็นใครที่มาจากเมืองคุรอซาน (เมืองใหญ่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอิรัก อีหร่าน และอัฟกานิสถาน) ที่จะเหมือนกับมุหัมมัด อิบนุ อิสมาอีล (ซึ่งหมายถึงอีหม่ามบุคอรี)”

อีหม่ามบุคอรียฺมีความสามารถในการจดจำภาพได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่นว่า ท่านมองเห็นหะดีษเพียงครั้งเดียวก็สามารถจำได้ โดยไม่จำเป็นต้องจดบันทึก อิหม่ามอิบนุ กะษีร เคยบรรยายคุณลักษณะของท่านไว้ว่า

“อิหม่ามบุคอรียฺสามารถอ่านหะดีษหนึ่งหน้าเพียงครั้งเดียว  และสามารถจดจำมันได้ตราบเท่าที่ท่านมีชีวิตอยู่”

ขณะนั้นมีหลายคนประหลาดใจกับความสามารถของท่าน แม้แต่บรรดาผู้รู้ นักวิชาการเอง ก็แทบจะไม่เชื่อในความสามารถนั้น จนกระทั่งได้มีการทดสอบความรู้ความจำครั้งใหญ่ของท่านในขณะที่ท่านอายุ 30 ปี และท่านก็ได้พิสูจน์ให้พวกเขาเห็นถึงความสามารถของท่าน  

อิบนุ ฮะญัรฺ เคยกล่าวว่า

“สิ่งที่น่าอัศจรรย์ของอิหม่ามบุคอรียฺนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ความสามารถในการจดจำหะดีษที่ถูกต้องได้ หากทว่าท่านยังสามารถจดจำหะดีษที่ผิดได้ ภายหลังจากการได้รับฟังเพียงครั้งเดียว” 

🍃🍃แรงบันดาลใจในการเขียน เศาะเหียะฮฺบุคอรียฺของอีหม่ามบุคอรียฺ🍃🍃

 

ในขณะที่ท่านยังเป็นหนุ่ม ท่านเคยฝันเห็นว่า ท่านยืนอยู่ข้างหน้านบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และได้มียุงบินเข้ามา ซึ่งอิหม่ามบุคอรียฺที่ยืนอยู่ตรงนั้นได้ทำการปัดยุงออกไป เพื่อปกป้องนบีให้พ้นจากยุง 

เมื่อท่านตื่นขึ้นมา ท่านได้ถามชัยคฺของท่านถึงความหมายของความฝันนั้น ชัยคฺของท่านได้บอกท่านว่า “ท่านจะเป็นผู้ทำการกำจัดหะดีษหลอกลวงทั้งหลาย เช่นที่ท่านกำจัดยุงเหล่านั้น งานของท่านในชีวิตนี้ คือการปกป้องนบีจากยุง (จากหะดีษปลอม)” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อิหม่ามบุคอรียฺมีความปรารถนาที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหะดีษ และภายหลังท่านก็ได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ของท่าน คือ อิสฮาก อิบนุ เราะฮฺวัยฮฺ ผู้ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหะดีษ ชาวเปอร์เซีย ซึ่งเคยพูดว่า “มันน่าจะเป็นความคิดที่ดีหากว่าใครสักคนมุ่งเน้นไปที่การเขียนบันทึกหะดีษเศาะเหียะฮฺ”  ด้วยเหตุนี้เอง มันจึงเป็นแรงบันดาลใจให้อีหม่ามบุคอรียฺ เขียน “เศาะเหียะฮฺบุคอรียฺ” ขึ้นมา 

ท่านใช้เวลาทั้งหมด 16  ปีในการเขียน “เศาะเหียะฮฺบุคอรียฺ” ท่านรวบรวมหะดีษเบื้องต้นขณะที่ท่านอยู่ที่เมืองบัศเราะฮฺ ซึ่งท่านได้อาศัยอยู่ที่นั่นเป็นระยะเวลา 5 ปี และท่านได้ไปทำฮัจญ์ทุกๆ ปี ท่านได้ทำวินิจฉัย คัดกรองหะดีษ มากกว่า 6,000 หะดีษ เพื่อเขียนออกมาเป็นหนังสือ และช่วงปีท้ายๆ ของการเขียน ท่านได้ย้ายไปยังเมืองมาดีนะฮฺ เพราะท่านต้องการได้รับความจำเริญในการอาศัยอยู่ในเมืองมาดีนะฮฺ และท่านได้ใช้เวลาไปกับการตรวจทาน แก้ไข ทั้งวันทั้งคืน ท่านทุ่มเท อุทิศตนไปกับการเขียน เศาะฮฺเหียะฮฺบุคอรียฺ 

ภายหลังท่านได้บอกเล่าแก่บรรดาลูกศิษย์ของท่านว่า

🌱🌱ทุกๆ หะดีษแต่ละบทที่ท่านเลือก ท่านได้ทำการอาบน้ำละหมาดเป็นอย่างดีและละหมาดอิสติเคาะเราะฮฺ 2 ร็อกอัต ในแถวละหมาดของนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในการบันทึกแต่ละหะดีษ🌱🌱

🍃🍃ในช่วงบั้นปลายชีวิตของอิหม่ามบุคอรียฺ ท่านได้ทำธุรกิจค้าขายบางอย่าง ครั้งนั้นท่านออกเดินทางด้วยเรือไปยังอีกเมืองหนึ่ง พร้อมกับเงินจำนวน 10,000 ดิรฺนาร ขณะที่อยู่บนเรือ ท่านได้พบกับชายคนหนึ่งที่พูดคุยเป็นเพื่อนกับท่าน ท่านได้บอกเล่าให้เขาฟังว่าท่านมีเงินจำนวนเท่าไร และจะเอาไปซื้ออะไร เช้าวันรุ่งขึ้น มีข่าวแพร่ภายในเรือ และกัปตันก็ประกาศว่า”มีคนขโมยเงินจำนวน 10,000 ดิรนารของชายคนที่พูดคุยกับท่านเมื่อวันก่อน และจะมีการค้นหาเงินที่หายไปทั่วทั้งเรือว่าใครเป็นคนเอาไป”  แท้จริงๆ ชายคนนั้นเป็นคนที่มีพฤติกรรมชั่วร้าย เขายังไม่ได้เห็นเงินของอีหม่ามบุคอรียฺ แต่อย่างใด แต่มันก็ได้ล่อลวงเขาให้เกิดความโลภ เขาจึงคิดฉวยโอกาส

เมื่ออิหม่ามบุคอรียฺได้ยินประกาศเช่นนั้น ท่านจึงรวบรวมเงินทั้งหมดของท่าน และขึ้นไปยังจุดที่สูงสุดของเรือ เมื่อไม่มีใครเห็น ท่านก็โยนเงินทั้งหมดของท่านลงทะเล ดังนั้นเมื่อมีการตรวจค้นภายในเรือ จึงไม่มีใครพบเงินจำนวนดังกล่าว

และในภายหลังชายคนดังกล่าวได้เข้ามาพบท่าน และถามท่านว่า “ฉันรู้ว่าท่านไม่ใช่คนโกหก ท่านคืออีหม่ามบุคอรียฺ ท่านย่อมต้องมีเงินจริงเป็นแน่ ท่านซ่อนมันไว้ที่ใด?” 

อีหม่ามบุคอรียฺตอบเขาว่า ท่านได้โยนเงินนั้นทิ้งลงไปในทะเลแล้ว 

เขาถามท่านว่า “ท่านโง่เขลาหรืออย่างไร เพราะแม้ว่าฉันจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากมัน แต่ท่านก็ยังสามารถที่จะได้ประโยชน์จากมัน”

🌿🌿🌿ท่านตอบว่า

“ฉันใช้เวลาทั้งชีวิต เพื่อพิสูจน์ว่า “ความน่าเชื่อถือของฉัน” นั้นสะอาดปราศจากมลทิน เพื่อที่หะดีษของท่านนบีจะได้รับการยอมรับ ซึ่งมันมีค่ามากยิ่งกว่าเงิน 10,000 ดินารฺเสียอีก ฉันสูญเสียเงินได้ แต่ชื่อเสียงของฉันถูกทำลายไม่ได้ มิเช่นนั้นบรรดาหะดีษที่บันทึกไว้ย่อมถูกทำลายลงไปด้วย ฉันจึงยอมทิ้งเงินนั้น เพื่อที่จะได้ไม่มีซึ่งความสงสัยคลางแคลงใจใดในตัวฉัน”

🌿🌿🌿

รูป อินเตอร์เนต

Read Full Post »

🍃🍃🍃เปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยหะดีษเพียง 1 บท🍃🍃🍃

จากคลิป One hadith changed his life (The Prophet’s path) แปลเรียบเรียงโดย Bint al Islam

มีหลายคนที่ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป ด้วยเพราะอัลกุรอานเพียงหนึ่งอายะฮฺ หรือหะดีษเพียงหนึ่งบท 

ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นขโมย โจร จะเป็นคนที่มักอธรรม รังแกผู้อื่น จะเป็นคนที่ติดเหล้า ทำบาป หรือคนมีพฤติกรรมที่แสนจะชั่วร้าย แต่อายะฮฺในอัลกุรอานเพียงหนึ่งอายะฮฺสามารถเปลี่ยนแปลงเขาได้ทั้งชีวิต บางคนกลายเป็นอีหม่าม ผู้รู้

¤อิหม่ามอิบนุ กุดามะฮฺ¤ ได้เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งในหนังสือของท่าน 📖กิตาบ อัล เตาวะบีน📖 ว่า

มีชายคนหนึ่งที่ติดการดื่มสุราอย่างหนัก เขามักจะมีอาการเมาอยู่ตลอดเวลา เขามีชื่อว่า ¤อับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสลามะฮฺ อัล กอนะบีฮฺ¤

ครั้งหนึ่งขณะที่อับดุลลอฮ อิบนุ มัสลามะฮฺ อัล กอนะบีฮฺกำลังดื่มสุราอยู่กับสหายของเขา เขาเห็นกลุ่มคนมากมายรวมตัวกันล้อมวงชายคนหนึ่ง และชายคนนั้นกำลังนั่งอยู่บนลาของเขา 

ด้วยเหตุนี้ อับดุลลอฮฺจึงเกิดความสงสัย และต้องการจะรู้ว่าชายคนนั้นคือใคร และทำไมทุกคนจึงมาอยู่ล้อมรอบตัวเขา 

เขาจึงเข้าไปถามกลุ่มคนที่ล้อมรอบตัวชายคนนั้นโดยที่ในมือของเขายังคงถือขวดสุราอยู่ ว่า “นั่นคือใครกัน”
เขาได้รับคำตอบว่า “เขาคืออีหม่ามที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากๆ เลยนะ” อับดุลลอฮฺจึงถามต่อว่า “อีหม่ามคนนี้ชื่ออะไร” พวกเขาตอบว่า ¤อีหม่ามชุบะฮฺ อิบนุ ฮัจญญัจฺ¤ 

อับดุลลอฮฺถามต่อว่า “แล้ว เขาทำอะไร” พวกเขาตอบว่า “เขาเป็น มุหัดดีษ” อับดุลลอฮฺถามต่อว่า “มุหัดดีษ คืออะไร” 

พวกเขาตอบว่า “มุหัดดีษ คือ ผู้ที่รายงาน จดจำ และสั่งสอน และปฏิบัติตามบรรดาหะดีษของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม อย่างไรเล่า” 

จากนั้น อับดุลลอฮฺจึงได้เข้าไปหาอีหม่ามชุบะฮฺ ขณะที่ท่านกำลังนั่งอยู่บนลา และเขาพูดกับท่านว่า “หากท่านเป็นมุหัดดิษจริง ช่วยรายงานหะดีษหนึ่งบทให้กระผมฟังหน่อยจะได้ไหม” 

เมื่ออีหม่ามชุบะฮฺได้ยินเช่นนั้น และด้วยความที่ท่านเป็นอีหม่าม ที่มองเห็นว่าอับดุลลอฮฺกำลังถือขวดสุราอยู่ในมือ ท่านจึงรายงานหะดีษบทหนึ่งที่ตรงกับสถานการณ์ขณะนั้น 

คำแปลของหะดีษที่ท่านได้นำเสนอแก่เขาคือ “หากบุคคลหนึ่งปราศจากซึ่งความละอาย เขาย่อมทำในสิ่งใดก็ตามที่เขาปรารถนา” 

○○ซุบฮานั้ลลอฮฺ พวกเราได้ยินหะดีษนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ทว่ามันเคยสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในชีวิตของเราหรือไม่ ○○

อย่างไรก็ตาม เมื่ออับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสลามะฮฺ อัล กอนะบียฺได้ยินหะดีษบทดังกล่าว ขวดสุราที่เขาถืออยู่ก็หลุดจากมือของเขาหล่นลงพื้น และเขาก็พูดขึ้นมาว่า “นบีมุหัมมัดกล่าวเช่นนี้จริงๆ หรือ ที่ว่า ▪หากท่านไม่มีความละอาย ก็จงทำในสิ่งที่ท่านปรารถนาเถิด▪ 

เขาจึงเริ่มถามตัวเองว่า “ฉันเป็นคนที่ไร้ความละอายหรือนี่” 

♡♡หะดีษบทดังกล่าวนี้ได้ทะลุทะลวงเข้าไปในหัวใจของเขา♡♡

จากนั้นเขาจึงเดินทางกลับบ้าน และใช้เวลาอยู่ภายในห้องของเขา ร้องไห้ ใคร่ครวญอยู่หลายวัน เขาเฝ้าถามตัวเองว่า “ฉันได้ทำอะไรลงไปกับชีวิตของฉันที่ผ่านมากันนี่” “ฉันดื่มสุรา ฝ่าฝืนอัลลอฮฺมาโดยตลอด” ในที่สุดเขาก็ได้สำนึกผิด ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ และเขาก็ออกมาจากห้องของเขา และบอกมารดาของเขาว่า “ผมจะไปจากประเทศนี้ ผมต้องการที่จะแสวงหาความรู้ศาสนา ผมอยากจะเป็นเช่นอีหม่ามชุบะฮฺ ท่านเป็นมุหัดดีษ แล้วทำไมผมจะเป็นมุหัดดีษบ้างไม่ได้ หากอีหม่ามชุบะฮฺสามารถเป็นมุหัดดีษได้ ผมก็เป็นได้เช่นกัน” 

■■พี่น้องมุสลิมที่รัก เห็นหรือไม่ ก่อนหน้านี้เขาเป็นคนที่ติดการดื่มสุรา และตอนนี้เขาปรารถนาอยากจะเป็นมุหัดดีษแล้ว■■

■■เขาไม่ได้ต้องการเพียงแค่เตาบัต (สำนึกผิดขออภัยโทษ) เท่านั้น หากทว่าเขาปรารถนาที่จะทำอะม้าล และอยากจะปฏิบัติจริง และอยากจะเป็นมุหัดดิษ■■

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเข้าไปถามบรรดาอุลามะฮฺ และพวกท่านแนะนำให้เขาเดินทางไปแสวงหาความรู้ที่มาดีนะฮฺ

■■คุณรู้จักอีหม่ามมาลิกหรือไม่ ท่านคือหนึ่งในอีหม่ามที่ดีที่สุดในยุคนั้น และหากว่าคุณเป็นลูกศิษย์ของท่าน คุณก็จะกลายเป็นมุหัดดิษ■■

ดังนั้นอับดุลลอฮฺจึงออกเดินทาง เขาเดินทางจากบัศรอไปยังมาดีนะฮฺ และเขาก็มุ่งหน้าไปยังอีหม่ามมาลิก และจากนั้นเขาก็กลายเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ที่ดีที่สุดของอีหม่ามมาลิก 

■■และไม่ใช่เพียงแค่นั้น พวกเรารู้จักผู้ที่รายงานหะดีษที่เชื่อถือได้ที่สุดทั้งสองท่านนี้ดีใช่หรือไม่ นั่นคือ อีหม่ามบุคอรียฺ และอีหม่ามมุสลิม■■

■■คุณรู้หรือไม่ว่า อับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสลามะฮฺ อัลกอนะบียฺ ก็เป็นหนึ่งในบรรดาอาจารย์ของอีหม่ามบุคอรียฺและอีหม่ามมุสลิมอีกด้วย เห็นหรือไม่ว่า ท่านเดินทางมาไกลเพียงใด จากคนติดเหล้า กลายเป็นหนึ่งในบรรดาอีหม่ามที่ดีที่สุดคนหนึ่ง■■

¤¤ชีวิตของคนติดเหล้าคนหนึ่งเปลี่ยนไปด้วยเพราะหะดีษหนึ่งบท¤¤

✔✅✔แล้วเราล่ะ พี่น้องมุสลิมทั้งหลาย รวมถึงตัวของผมเอง เราอ่านอัลกุรอาน เราอ่านหะดีษมากมาย เราอ่านถ้อยคำ บทความที่สร้างแรงบันดาลใจแห่งอิสลามมากมายบนทวีตเตอร์ เฟซบุ๊ค วอทซแอป และอื่นๆ อีกมากมาย หากทว่ามันไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเราเลย✔✅✔

Read Full Post »

บุรุษที่ท่านนบีเลือกให้เป็นสามีของนางฟาติมะฮฺ บิน ก็อยซ์
************************
ฟาติมะฮฺ บินตฺ ก็อยซฺ บอกแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมว่า “มุอาวิยะฮฺ และอบูล ญะฮัม คือผู้ที่มาเสนอตัวเพื่อขอแต่งงานกับฉัน”

ดังนั้นท่านนบีจึงตอบว่า “มุอาวิยะฮ์นั้นมีความยากจนมากและอยู่ในสถานะที่ย่ำแย่ และอบูล ญะฮัมก็มีความแข็งกร้าวต่อบรรดาสตรี (หรือ เขาทำร้ายสตรี) ดังนั่นท่านควรเลือกเอาอุษามะฮฺ บิน เซด  (เป็นสามี) –มุสลิม–
@@@@@@@@@

สงสัยจึงไปหาดูว่าท่านอุษามะฮฺคือใคร.. ได้ความมาคร่าวๆ ว่า

– ท่านอุษามะฮฺเป็นบุตรชายของบุตรบุญธรรมของท่านนบี คือท่านเซด บินฮาริษะหฺ ผู้ที่ท่านนบีรักมาก

– ท่านนบีเคยพาท่านอุษามะฮฺและท่านหะซันไปด้วย และกล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮฺ ฉันรักพวกเขา ขอพระองค์โปรดทรงรักพวกเขาด้วยเถิด” –บุคอรียฺ-

– บรรดาเศาะฮาบะฮฺเรียกท่านว่า “บุตรชายผู้เป็นที่รัก ของผู้เป็นที่รัก”

– ท่านรักมารดาของท่านมาก
มุหัมมัด อิบนุ สิริน กล่าวว่า มีต้นอินทผลัมที่มีราคาถึง 1000 ดิรฮัม และอุษามะฮฺได้ไปยังต้นอินทผลัมนั้นและตัดมันลงมา และเอาส่วนญุมมัรออก และเอามันให้แก่มารดาของท่านทาน ผู้คนถามท่านว่าเหตุใดท่านจึงทำเช่นนั้น ทั้งที่รู้ว่ามันมีค่าถึง 1000 ดิรฮัม ท่านตอบว่า “มารดาของฉันขอร้องฉัน และมันไม่มีสิ่งใดที่นางร้องขอจากฉัน.. ตามความสามารถของฉัน แล้วฉันจะให้นางไม่ได้”

– ท่านถือศีลอดทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี

ขอบคุณพี่กูเกิ้ล และคนแถวนี้ สำหรับข้อมูลดีๆ

image

Read Full Post »

 แหล่งที่มา: The Beloved Companions: Abu Huraira by Amr Khaled
(English) Translated by the www.daralislamlive.com team
ถอดความ بنت الاٍسلام 

ท่านอบู ฮุร็อยเราะหฺเป็นผู้ที่มีทัศนคติที่ดีงามต่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะสัลลัมเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มารดาของท่านอบู ฮุร็อยเราะหฺไม่ใช่ “มุสลิม” และนางเองก็ปฏิเสธที่จะเข้ารับอิสลาม แต่ทว่า ท่านอบู ฮุร็อยเราะหฺไม่เคยหยุดเรียกร้องให้นางเข้ามาอยู่ในหนทางแห่งอัลลอฮฺ ท่านมักจะพูดคุยกับนางเกี่ยวกับอิสลามทุกๆ ครั้งที่ท่านพบนาง หากแต่นางก็ตอบโต้ท่านด้วยความหยาบกร้าวเสมอ

ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านอบูฮุร็อยเราะหฺไปหามารดาของท่าน นางได้กล่าวร้ายเกี่ยวกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม อีกทั้งยังได้ด่าทอท่านเราะสูลด้วย เมื่อท่านอบู ฮุร็อยเราะหฺไปพบท่านเราะสูลทั้งน้ำตา ท่านเราะสูลจึงถามท่านว่าเกิดสิ่งใดขึ้นกับท่าน

ท่านจึงตอบว่า “ท่านเราะสูล มารดาของฉันปฏิเสธอิสลาม และวันนี้ฉันได้ขอร้องให้นางเข้ารับอิสลาม  แต่นางได้กล่าวเกี่ยวกับท่านในสิ่งที่ฉันเกลียด โอ้ ท่านเราะสูล ได้โปรดวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้ประทานทางนำแก่มารดาของฉันด้วยเถิด”

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงยกมือทั้งสองข้างขึ้นฟ้า และกล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮฺ โปรดประทานทางนำแก่มารดาของอบู ฮุร็อยเราะหฺด้วยเถิด โอ้ อัลลอฮฺ โปรดประทานทางนำแก่มารดาของอบูฮุร็อยเราะหฺด้วยเถิด”

ท่านอบู ฮุร็อยเราะหฺกล่าวว่า “ฉันจึงจากท่านเราะสูล เพื่อเดินทางกลับไปยังบ้านของฉัน ฉันเดินกลับบ้านอย่างมีความสุขด้วยเพราะการวิงวอนของท่านเราะสูล จนกระทั่งฉันมาถึงบ้าน  มารดาของฉันได้ยินเสียงเดินของฉัน ก่อนที่ฉันจะเคาะประตูบ้าน นางกล่าวว่า “อบู ฮุร็อยเราะหฺ  จงหยุดอยู่ตรงนั้น” ฉันรู้สึกหวาดกลัว ดังนั้นฉันจึงหยุดอยู่ตรงนั้น เมื่อนางเปิดประตูออกมา นางกล่าวต่อฉันว่า “อบู ฮุร็อยเราะหฺ เอ๋ย ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมมัด คือศาสนทูตของพระองค์”

ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงกลับไปยังท่านเราะสูลพร้อมด้วยน้ำตาอีกครั้ง และฉันกล่าวต่อท่านว่า “โอ้ ท่านเราะสูล จงยินดีเถิด อัลลอฮฺทรงตอบรับการวิงวอนของท่านแล้ว”

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงนั่งลง ทำการสรรเสริญขอบคุณอัลลอฮฺ เมื่อท่านอบู  ฮุร็อยเราะทราบว่า “การวิงวอนขอของท่านเราะสูล” ได้รับการตอบรับ ท่านจึงขอให้ท่านเราะสูลทำการวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้ท่านอีกหนึ่งอย่าง

ท่านขอให้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม วิงวอนขอให้แก่ท่านและมารดาของท่าน ขอให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายนั้นรักพวกท่าน  และขอให้พวกท่านทั้งสองรักบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายด้วย

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงยกมือขึ้นฟ้า และกล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮฺ โปรดทำให้บรรดาผู้ศรัทธารักบ่าวคนนี้ และทำให้เขารักบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายด้วยเถิด”

ท่านอบู ฮุร็อยเราะหฺจึงกล่าวว่า “ดังนั้น บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายที่ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับฉัน แม้ว่าเขาจะไม่เห็นฉันจนถึงวันแห่งการตัดสิน ต่างก็รักฉัน”

Read Full Post »

“จดหมายจากอิหม่ามสุฟยานถึงพี่น้องแห่งอิสลาม”
แหล่งที่มา http://www.ahlalhdeeth.com/vbe/showthread.php?t=10633
ถอดความ บินติ อัลอิสลาม

จากชีวประวัติของอิหม่ามสุฟยาน อัษเษารียฺ โดย ศอลาฮุดดีน อิบนุ อะลี อิบนุ อับดุล เมาญูด  หน้าที่ 181-182

ครั้งหนึ่ง อีหม่ามสุฟยานได้เขียนจดหมายไปยังพี่น้องมุสลิมีนของท่าน โดยมีเนื้อความว่า

“ฉันขอตักเตือนพวกท่านและตัวของฉันเองให้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺและฉันขอเตือนท่านมิให้กลับไปสู่ “ความโง่เขลา” หลังจากที่ได้มี “ความรู้” มายังท่านแล้ว จงอย่ากลับไปสู่ “การทำลาย” หลังจากที่ท่านได้เห็นและทราบถึง “สัจธรรม” และจงอย่าละทิ้ง “หนทาง (อันเที่ยงตรง)” หลังจากที่มันได้ถูกทำให้ชัดแจ้งต่อท่านแล้ว

จงอย่าหลงเชื่อผู้คนแห่งดุนยา จงอย่าหลงไหลต่อ “ความทุ่มเทและความพยายามของพวกเขาในการสะสมสิ่งต่างๆ บนโลกนี้” ด้วยความโลภอย่างหน้ามืดตามัว เพราะ “ความน่าสะพรึงกลัว” (ที่จะเกิดขึ้นในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ) นั้นรุนแรงยิ่งนัก

แท้จริง อันตราย (ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ) นั้นร้ายแรงยิ่ง แต่สิ่งที่น่ากลัวมากกว่านั้นคือมันใกล้เข้ามายังพวกเราแล้ว

ดังนั้นท่านจงมุ่งมั่นต่ออาคิเราะฮฺเถิด และจงทำให้หัวใจของท่านปราศจากความคิดอื่นๆ ทั้งหลาย เมื่อท่านทำเช่นนั้นได้แล้ว จงเพียรพยายามอย่างหนัก จงอย่าสูญเสียเวลาอันมีค่า และจงเป็นอิสระจากโลกดุนยานี้และจงเป็นอิสระจากการล่อลวงของมัน จงเดินทางไปยังอาคิเราะฮฺ (ด้วยการอิบาดะฮฺของท่าน) ก่อนที่ท่านจะถูกนำไป ณ ที่นั่น แท้จริงฉันได้ให้คำตักเตือนต่อท่าน เช่นเดียวกับคำตักเตือนที่ฉันได้ให้ต่อตัวของฉันเอง

และพึงตระหนักเถิดว่า “ความสำเร็จ” มาจากอัลลอฮฺ (ซุบฮานะฮู วะตะอาลา) และ “กุญแจ” ที่ไขไปสู่การได้มาซึ่ง “ความช่วยเหลือของพระองค์” คือการวิงวอนขอ (ดุอาอฺ) การละหมาด ความรู้สึกเสียใจต่อความเพิกเฉยในอดีต และการยอมจำนนต่อพระองค์โดยสมบูรณ์

กลางวันและกลางคืนของท่านถูกคำนวณนับ เช่นนั้นจงใช้เวลาที่ท่านมีเหลืออยู่อย่างชาญฉลาด และจงอย่าเพิกเฉยต่อการเติมเต็มสิทธิของพระเจ้าของท่าน

ฉันวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ พระผู้ทรงอำนวยพรเราทั้งหลายให้ได้รู้จัก “พระองค์”  ขอพระองค์ทรงอย่าปล่อยให้เราและท่านมอบหมาย (การงาน การดำเนินชีวิต) ไว้กับตัวของเราเอง และฉันขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ทรงเป็นผู้ชี้นำและผู้ทรงช่วยเหลือแก่พวกเราทั้งหลาย ดังเช่นที่พระองค์ทรงเป็นผู้ชี้นำและผู้ช่วยเหลือต่อบ่าวผู้ศรัทธาอันเป็นที่รักของพระองค์

พึงระวังการกระทำในสิ่งที่จะทำลายการงานทั้งหลายของท่าน “พึงรู้เถิดว่า “การโอ้อวด” คือสิ่งที่ทำลายการงานที่ดีของบุคคลคนหนึ่ง และหากว่ามันไม่ใช่ “การโอ้อวด” มันก็คือ “ความทะนงตน” สำหรับท่าน ที่เชื่อว่าตัวของท่านดีกว่าพี่น้องมุสลิมของท่าน ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น เขากระทำความดีงามมากกว่าท่าน หรือบางทีเขาอาจออกห่างจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสั่งห้ามมากกว่าท่าน หรือบางทีเขาอาจกระทำความดีงามด้วยความบริสุทธิ์ใจมากกว่าท่านก็เป็นได้ และหากว่าท่านมิได้มี “ความทะนงตน” ก็จงพึงระวังการหลงไหลต่อการสรรเสริญ พึงระวังอย่างมากที่จะไม่ปล่อยให้เกิดความหลงไหลต่อคำชื่นชมสรรเสริญของผู้คนต่อการงานที่ดีทั้งหลายของท่าน หรือหลงไหลต่อ “การเคารพนับถือ” ที่พวกเขารู้สึกและปฏิบัติต่อท่านอันเนื่องมาจากการงานที่ดีทั้งหลายของท่าน และพึงระวังความปรารถนาว่าผู้คนทั้งหลายควรให้ความช่วยเหลือต่อท่านในเรื่องส่วนตัวเพียงเพราะว่าพวกเขาชื่นชมต่อการงานที่ดีของท่าน  แน่นอนว่า ท่านกล่าวอ้าง (เช่นที่ผู้คนกล่าวอ้าง) ว่าท่านกระทำการงานทั้งหลายเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น หากเช่นนั้น จงนำ “การกล่าวอ้าง” นั้นไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริงเถิด

หากท่านต้องการที่จะมี “ความปรารถนาต่อสิ่งของ ทรัพย์สิน ความพึงพอใจบนโลกใบนี้” ให้น้อยลง และต้องการที่จะมี “ความปรารถนาต่อสวนสวรรค์ ความสุขอันล้นพ้น ในโลกอาคิเราะหฺ” เช่นนั้นท่านจงรำลึกถึงความตายให้บ่อยครั้งเถิด

และพึงรู้เถิดว่าท่านย่อมมีความหวังอันยาวไกลต่อโลกดุนยานี้ อันเป็นความหวังที่ท่านไม่ควรมี  หากท่านเกรงกลัวอัลลอฮฺเพียงเล็กน้อย และกระทำความผิดอยู่เป็นนิจ

และบุคคลหนึ่งย่อมเศร้าโศกเสียใจและเป็นทุกข์ในวันกิยามะฮฺ หากว่าเขามีความรู้ หากแต่เขามิได้ปฏิบัติมัน” 

Read Full Post »

จงให้เกียรติต่อความแตกต่างของเรา (ตอนที่ 2)

เขียนโดย นักวิชาการศาสนามุหัมมัด อัลชารีฟ ชาวแคนาดา
แหล่งที่มา http://www.missionislam.com/knowledge/respectdifference.html
แปล บินติ อัลอิสลาม

ใครคือผู้ชนะ
*********

ท่านมุอาวิยะฮฺ อิบนุ อัลฮะกัม อัซซะลามียฺ ได้เดินทางจากทะเลทรายมายังเมืองมาดีนะฮฺ ขณะนั้นท่านไม่ทราบว่า “การพูดระหว่างการละหมาดนั้น เป็นสิ่งต้องห้าม”  ท่านเล่าว่า “ขณะที่ฉันกำลังละหมาดอยู่ข้างหลังท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม มีชายคนหนึ่งจามขึ้นมาระหว่างนั้น ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงกล่าวว่า “ยัรฮัมมุกัลลอฮฺ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาต่อท่าน)” จากนั้นผู้คนต่างจ้องมองมายังฉัน ฉันจึงกล่าวต่อพวกเขาว่า “ขอให้มารดาของฉันสูญเสียฉันไปเสีย (ให้ฉันตายเสีย) พวกท่านเป็นอะไรกัน จึงจ้องมองมายังฉัน” พวกเขาเหล่านั้นต่างเริ่มใช้มือตบที่หน้าตักของตัวเอง เมื่อนั้นฉันจึงทราบว่าพวกเขากำลังบอกให้ฉันนิ่งเงียบ ฉันจึงหยุดพูดต่อ (คือ ฉันเกือบจะตอบโต้พวกเขากลับไปแล้ว หากแต่ฉันควบคุมตัวเองไว้ และนิ่งเงียบเสีย)

เมื่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ละหมาดเสร็จสิ้นแล้ว ท่านก็มิได้ว่ากล่าวฉัน หรือตีฉัน หรือสร้างความอับอายให้แก่ฉันแต่อย่างใด ฉันไม่เคยเห็นครูผู้สอนท่านใดที่ดียิ่งไปกว่าท่านเลยไม่ว่าจะเป็นก่อนหน้านี้ หรือหลังจากนั้น ท่านเพียงแต่กล่าวกับฉันว่า “ในการละหมาดนั้นไม่ควรมีถ้อยคำใดๆ ของมนุษย์รวมอยู่ด้วย  มันมีเพียงแต่การตัสบีฮฺ ตักบีรฺ และการกล่าวถ้อยคำแห่งอัลกุรอาน” (เศาะหิฮฺ มุสลิม)

“อิสลาม” ได้สอนให้เราเห็นถึง “วิธีการแสดงความเห็นที่แตกต่างกับผู้คนนั้นควรเป็นเช่นไร” บางคนคิดว่าเราไม่ควรมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเลย และการขัดแย้งไม่ลงรอยกันนั้นเป็นสิ่งที่เราจำต้องหลีกเลี่ยง หากแต่มันไม่ใช่เช่นนั้น นี่ถือเป็นความเข้าใจผิด เพราะในอัลกุรอานและสุนนะฮฺได้แจ้งแก่เราไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ความผิดพลาดนั้นจำต้องได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง  แท้จริงแล้ว การช่วยเหลือผู้อื่นให้กระทำสิ่งที่ถูกต้อง คือสิ่งที่จำเป็นในศาสนาของเรา และมันคือการนะซีฮัตที่จริงใจ

เราได้เห็นตัวอย่างจากท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เมื่อท่านผินหลังให้กับอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมมฺ มักตูม ชายตาบอด จากนั้นอัลลอฮฺได้ทรงตักเตือนท่านในอัลกุรอานว่า

“(มุหัมมัด) ทำหน้าบูดบึ้ง และผินหน้าหนี เพราะมีชายตาบอดคนหนึ่งมายังเขา แต่อะไรเล่าที่เจ้าจะได้รู้ บางทีเขาอาจจะมาเพื่อซักฟอกจิตใจ (จากบาป) ก็เป็นได้ หรือเขาอาจต้องการรับคำตักเตือน เพื่อที่คำตักเตือนนั้นจะเป็นประโยชน์แก่เขา”  (ซูเราะฮฺอะบะซะ 80:1-4)

ครั้ง หนึ่งเมื่อท่านฮาติบ อิบนุ อะบี อัลตะอะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ) ได้ทำความผิดพลาดโดยการเขียนจดหมายถึงบรรดากาเฟรฺแห่งเผ่ากุเรซและแจ้งให้ พวกเขาทราบถึงเส้นทางที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กำลังจะมุ่งหน้าไปพร้อมกับกองกำลังเพื่อทำการสู้รบกับพวกเขา อัลลอฮฺจึงได้ประทานอายะฮฺหนึ่งลงมาว่า

“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่านำเอาศัตรูของข้าและศัตรูของพวกเจ้ามาเป็นมิตรของพวกเจ้า” (ซูเราะฮฺอัลมุมตะฮินะฮฺ 60:1)

และจากหลายๆ ตัวอย่างอีกมากมาย ดังนั้นเราจึงได้เรียนรู้ว่าเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ความผิดพลาดเหล่านั้น จำต้องได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตามวิธีการแก้ไขข้อผิดพลาดคือ “ความใส่ใจของเรา”

เมื่อใดก็ตามที่บรรดามุสลิมทะเลาะเบาะแว้งกัน มันก็เหมือนกับว่าแต่ละฝ่ายกำลังชูธงประกาศว่า “เราต้องชนะ และพวกท่านต้องประสบกับความพ่ายแพ้” การศึกษาสุนนะฮฺอย่างละเอียดรอบคอบนั้นย่อมทำให้เราเห็นว่า สิ่งนี้ไม่ใช่วิธีการที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺปฏิบัติ โปรดพิจารณาจากตัวอย่างข้างล่างต่อไปนี้

“ฉันพ่ายแพ้ และท่านคือผู้ชนะ”
 *********

ชาวเบดูอินคนหนึ่งได้มายังท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และกล่าวต่อท่านว่า “โปรดมอบสิ่งที่อัลลอฮฺประทานแก่ท่านให้แก่ฉัน ที่ไม่ใช่สิ่งที่มาจากทรัพย์สินของมารดาท่าน หรือทรัพย์สินของบิดาท่าน” บรรดาเศาะฮาบะฮฺต่างเกิดอารมณ์โกรธเคืองต่อชายคนดังกล่าว และตรงไปยังเขาเพื่อที่จะทำร้ายเขาเป็นการลงโทษต่อสิ่งที่เขาได้กล่าวขึ้นมา หากแต่เราะสูลุลลอฮฺได้สั่งให้ทุกคนปล่อยเขาไป

จากนั้นท่านเราะสูลจึงได้จูงมือเขาไปที่บ้านของท่าน ขณะที่ท่านเปิดประตูบ้านของ ท่านได้กล่าวว่า “จงหยิบเอาสิ่งที่ท่านปรารถนา และละทิ้งสิ่งที่ท่านมิปรารถนาเถิด”  ชายคนดังกล่าวจึงกระทำตามที่ท่านเราะสูลบอก และเมื่อเขาได้สิ่งที่เขาต้องการแล้ว เราะสูลุลลอฮฺจึงถามเขาว่า “ฉันได้ให้เกียรติท่านหรือไม่” ชาวเบดูอินจึงตอบว่า “ด้วยอัลลอฮฺ ท่านได้ให้เกียรติฉัน”   “อัชฮะดุ อัลลา อิลาหะ อินลัลลอหฺ วะอัชฮะดุ อันนะ มุหัมมะดัร เราะสูลุลลอฮฺ” (หมายความว่า เขาได้เข้ารับอิสลาม)

เมื่อ บรรดาเศาะฮาบะฮฺทราบว่าชาวเบดูอินท่านนั้นได้เปลี่ยนไปและเข้ารับอิสลาม เราะสูลุลลอฮฺจึงทำการสั่งสอนพวกเขาว่า “แท้จริงแล้ว แบบอย่างของฉัน ของท่าน และของชาวเบดูอินท่านนี้ คือแบบอย่างของชายคนหนึ่งที่อูฐของเขาวิ่งหนีจากเขาไป จากนั้นบรรดาชาวเมืองต่างพยายามที่จะจับตัวอูฐนั้นไว้ให้เขาด้วยการวิ่งไล่ และร้องตะโกนตาม แต่นั่นยิ่งเป็นการขับไล่มันออกไป ด้วยเหตุนี้ชายผู้เป็นเจ้าของอูฐจึงร้องตะโกนขึ้นมาว่า “จงปล่อยฉันและอูฐของฉันเสีย ฉันรู้จักอูฐของฉันดี” จากนั้นเขาจึงหยิบแก้วน้ำใบหนึ่งขึ้นมาไว้ในมือ เพื่อใช้หลอกล่ออูฐของเขา จนกระทั่งมันกลับมายังเขาด้วยความเต็มใจ

ด้วยอัลลอฮฺ หากฉันปล่อยชาวเบดูอินคนดังกล่าวไว้กับพวกท่าน พวกท่านคงตีเขา ทำร้ายเขา และเขาย่อมจากไปโดยปราศจากอิสลามติดตัวกลับไปด้วย และท้ายที่สุดเขาต้องตกลงไปในไฟนรก”

“ฉันชนะและท่านพ่ายแพ้”
*********

มุสลิมไม่ควรแสดงท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามต่อทุกๆ สถานการณ์ที่เขาเผชิญ เพราะมันย่อมมีช่วงเวลาที่ “สัจธรรม” ควรถูกกล่าวให้เป็นที่ชัดแจ้ง และช่วงเวลาที่ไม่ควรมีการประนีประนอมใดๆ

ครั้งหนึ่งเมื่อสตรีชาวมัคซูมียฺคนหนึ่งที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยได้ทำผิดฐานลักขโมย ผู้คนจึงพากันเข้าไปหาท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เพื่อให้ท่านยกเลิกการลงโทษต่อนาง ซึ่งทำให้ท่านเราะสูลโกรธเคืองเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ยืนขึ้นที่มิมบัรฺและประกาศว่า “ด้วยอัลลอฮฺ หากแม้ว่า ฟาติมะฮฺ บุตรสาวของมุหัมมัดทำการขโมย ฉันจะเป็นผู้ที่ตัดมือของนางเอง”

จาก ตัวอย่างนี้ ไม่มีการประนีประนอมใดๆ และ “สัจธรรม” จำต้องถูกยึดให้มั่น และนี่คือธรรมเนียมปฏิบัติของการมีความเห็นต่างที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า มันจำต้องถูกแสดงออกมาให้เห็นเป็นประจักษ์

“ฉันชนะ และท่านก็ชนะ”
 *********

มันไม่จำเป็นว่า “เราต้องเป็นผู้พ่ายแพ้” อยู่เสมอ เช่นที่เราได้เห็นจากหลายตัวอย่างที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้ให้ทางออกแก่บรรดาผู้คนที่มีความเห็นต่างกัน

เมื่อท่านได้ส่งจดหมายไปยังซีซาร์ ท่านกล่าวไว้ในจดหมายนั้นว่า “จงเป็นมุสลิมเถิด และท่านจะได้รับความปลอดภัย อัลลอฮฺจะประทานรางวัลแก่ท่านอีกเท่าตัว”

ท่านมิได้กล่าวว่า “จะยอมแพ้ หรือตาย” ไม่มีถ้อยคำเช่นนั้นเลย หากแต่เมื่อท่านเป็นมุสลิม ท่านย่อมได้รับชัยชนะ อีกทั้งชัยชนะของท่านจะเพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัว”

ผม (ผู้เขียน) จะขอจบบทความนี้ด้วยวิธีการปฏิบัติต่อพี่น้องมุสลิมจากแบบอย่างของท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ

ครั้งหนึ่งท่านอบูบักรฺได้โต้แย้งกับสหายอีกคนหนึ่งเกี่ยวกับต้นไม้ต้นหนึ่ง ระหว่างการโต้แย้งนั้น ท่านอบูบักรฺได้กล่าวบางสิ่งที่ท่านไม่ควรจะกล่าวออกมา ท่านมิได้ทำการสาปแช่ง หรือทำร้ายเกียรติของเขา หรือกล่าวถึงข้อผิดพลาดของใคร แต่สิ่งที่ท่านกล่าวคือถ้อยคำบางอย่างที่ทำร้ายความรู้สึกของสหายของท่าน

และโดยทันทีทันใด เมื่อท่านอบูบักรฺเกิดการสำนึกผิด ท่านจึงกล่าวต่อสหายของท่านว่า “จงกล่าวถ้อยคำนั้นกลับมายังฉัน” สหายท่านจึงกล่าวว่า “ฉันจะไม่กล่าวถ้อยคำนั้นกลับไป” ท่านอบูบักรฺจึงกล่าวว่า “มิเช่นนั้น ฉันจะบอกเล่าสิ่งนี้ต่อท่านเราะสูล” สหายของท่านปฏิเสธที่จะกล่าวถ้อยคำนั้นออกไป และเดินจากไป

ท่านอบุบักรฺจึงได้ไปพบกับท่านเราะสูลุลอฮฺ และบอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ท่านได้กล่าวต่อสหายของท่าน เราะสูลุลลอฮฺจงเรียกสหายท่านนั้นมาและถามเขาว่า “อบูบักรได้กล่าวเช่นนั้นต่อท่าน กระนั้นหรือ” เขาตอบว่า “ขอรับ” ท่านถามต่อว่า “แล้วท่านตอบโต้เขาไปอย่างไร” เขาตอบว่า “ฉันไม่ได้ตอบโต้ถ้อยคำนั้นแก่เขา” ท่านเราะสูลจึงกล่าวว่า “ดีแล้ว จงอย่าตอบโต้เขาด้วยถ้อยคำนั้น (จงอย่าสร้างความเจ็บปวดต่ออบูบักรฺ” จากนั้นท่านเราะสูลจึงกล่าววว่า “ขออัลลอฮฺทรงอภัยโทษต่ออบูบักรฺด้วยเถิด”

สหายคนดังกล่าวจึงหันหน้าไปยังท่านอบูบักรฺ และกล่าววว่า “ขออัลลอฮฺทรงอภัยโทษต่ออบูบักรฺด้วยเถิด ขออัลลอฮฺทรงอภัยโทษต่ออบูบักรฺด้วยเถิด” ท่านอบูบักรฺจึงหันหลังกลับไปและร้องไห้ระหว่างที่ท่านเดินทางกลับออกไป

ขอให้พวกเราทั้งหลายได้ปฏิบัติตามแบบอย่างอันดีงามที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ และบรรดาเศาะฮาบะของท่านได้เคยปฏิบัติ ด้วยความเมตตา ความรัก และความเป็นพี่น้องกัน

Read Full Post »

จงให้เกียรติต่อความแตกต่างของเรา (ตอนที่ 1)

เขียนโดย นักวิชาการศาสนามุหัมมัด อัลชารีฟ ชาวแคนาดา 

แหล่งที่มา http://www.missionislam.com/knowledge/respectdifference.html

แปล  บินติ อัลอิสลาม

 รูป อินเตอร์เน็ต

“อย่ามัวแต่เสียเวลาถกเถียงกันเลยว่า “มุสลิมที่ดีนั้นควรเป็นเช่นไร” เราควรเป็น “มุสลิมที่ดี” นั้นเองเสีย

วันหนึ่งอีหม่ามมาลิกเข้าไปในมัสญิดหลังเวลาละหมาดอัสรฺ ท่านเดินเข้าไปภายในข้างหน้าตัวมัสญิดอันนะบาวีย์และนั่งลง อย่างไรก็ตามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมเคยกำชับว่าผู้ใดก็ตามที่เข้าไปภายในมัสญิดไม่ควรนั่งลงจนกว่าเขาจะทำการละหมาดสองร็อกอัต เพื่อเป็นการเคารพมัสญิดเสียก่อน หากแต่อีหม่ามมาลิกได้ยึดเอาทัศนะหนึ่ง อันเป็นคำสั่งห้ามของท่านเราะสูลที่ว่า “มิให้กระทำการละหมาดหลังจากที่เวลาอัสรฺได้ผ่านพ้นไปแล้ว” ดังนั้นท่านจึงได้ทำการสั่งสอนบรรดาลูกศิษย์ของท่านไม่ให้ทำการละหมาดตะฮิญาตุลมัสญิด หากพวกเขาอยู่ในระหว่างเวลาอัสรฺและเวลามัฆริบ

ขณะที่อีหม่ามมาลิกนั่งลง ก็มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งเห็นท่านกำลังนั่งลงโดยมิได้ทำการละหมาดตะฮิญาตุลมัสญิดสองร็อกอัต เด็กหนุ่มจึงกล่าวตำหนิท่านขึ้นมาว่า “ลุกขึ้น และทำการละหมาดสองร็อกอัตเสีย”

อีหม่ามมาลิกจึงลุกขึ้นยืนอีกครั้ง และทำการละหมาดสองร็อกอัต บรรดาลูกศิษย์ของท่านจึงเกิดความงุนงนว่า “เกิดอะไรขึ้นนี่ ทัศนะของอีหม่ามมาลิกเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างนั้นหรือ”

หลังจากที่ท่านทำการละหมาดเสร็จสิ้นแล้ว บรรดาลูกศิษย์ได้จับกลุ่มล้อมวงกันและตั้งคำถามต่อการกระทำของท่าน อีหม่ามมาลิกจึงกล่าวว่า “ทัศนะของฉันมิได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด และฉันก็มิได้กลับคำพูดต่อสิ่งที่ฉันได้สั่งสอนพวกท่านก่อนหน้านี้ ฉันเพียงแต่เกรงกลัวว่า หากฉันไม่ทำกาละหมาดสองร็อกอัต เช่นที่เด็กหนุ่มนั้นได้ให้การตักเตือนฉัน อัลลอฮฺอาจทรงรวมฉันเข้าไปในหมู่คนที่พระองค์ตรัสไว้ในอายะฮฺที่ว่า “และเมื่อมีการกล่าวแก่พวกเขาว่า “จงรุกั๊ว (เพื่อการละหมาด) พวกเขาก็ไม่รุกั๊ว” (อัลมัรซะลาต 77:48)

ส่วนอีหม่ามอะหมัดก็ยึดเอาทัศนะที่ว่า “การกินเนื้ออูฐ ทำให้เสียน้ำละหมาด” ซึ่งเป็นทัศนะที่นักวิชาการส่วนใหญ่ ณ ขณะนั้นเห็นต่างไป ลูกศิษย์บางคนจึงถามท่านว่า “หากท่านพบเห็นอีหม่ามท่านหนึ่งกำลังทานเนื้ออูฐอยู่ตรงหน้าท่าน และไม่ได้ทำการอาบน้ำละหมาดก่อนที่จะไปละหมาด ท่านจะทำการละหมาดอยู่ข้างหลังอีหม่ามท่านนั้นหรือไม่?” อีหม่ามอะหมัดตอบว่า “ท่านคิดว่าฉันจะไม่ละหมาดอยู่ข้างหลังผู้ที่ปฏิบัติเสมือนกับอีหม่ามมาลิก และสะอีดฺ อิบนุ อัลมุซัยยับ เช่นนั้นหรือ?”

อัลลอฮฺทรงสร้างมวลมนุษย์ทั้งหลายให้มีความแตกต่างกัน และนั้นคือกฎแห่งการสร้างของพระองค์ อันได้แก่ การมีลิ้นที่แตกต่างกัน สีผิวที่แตกต่างกัน วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และความแตกต่างของรูปลักษณ์ภายนอกทั้งหมด ส่วนสิ่งที่อยู่ภายในนั้น มนุษย์ต่างถูกสร้างมาพร้อมกับระดับขั้นความรู้ สติปัญญา และแนวความคิดที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ซึ่งนี้คือสัญญาณแห่งอำนาจทั้งมวลของอัลลอฮฺ ที่พระองค์จะทรงกระทำสิ่งใดก็ได้ที่พระองค์ทรงประสงค์

“และในบรรดาสัญญาณทั้งหลายของพระองค์ คือการสร้างชั้นฟ้าและผืนแผ่นดิน และความหลากหลายทางภาษาของพวกเจ้า และผิวพรรณของพวกเจ้า แท้จริงแล้ว สิ่งเหล่านั้นคือสัญญาณแก่ผู้ที่มีความรู้” (อัรฺรูม 30:22)

มนุษย์นั้นมีความแตกต่างกัน หากแต่มันก็ไม่ใช่ประเด็นแต่อย่างใด ประเด็นก็คือ “มุสลิมควรรับมือกับความแตกต่างทางความคิดเห็นเช่นไร และความสัมพันธ์ของเรากับผู้ที่มีความเห็นที่แตกต่างกันนั้นควรเป็นเช่นไร”

อัลลอฮฺ ตะอาลาได้ทรงสั่งใช้ให้เราทำการเรียกร้องและตักเตือนผู้คนในศาสนาแห่งอัลอิสลามนี้ ซึ่งมีมุสลิมหลายคนที่เดินทางเพื่อปฏิบัติภารกิจนี้ด้วยการปิดตาทั้งสองข้างของพวกเขา โดยไม่ตระหนักว่า “แผนที่แห่งการเดินทางนั้น” อยู่ในอัลกุรอานด้วยเช่นกัน และแท้จริงแล้ว ในอัลกุรอานได้มีอายะฮฺหนึ่งที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ให้เราทำการเรียกร้องและตักเตือนผู้คนในศาสนานี้ โดยที่พระองค์ได้ทรงสั่งสอนวิธีการปฏิบัติแก่เรา ในอายะฮฺต่อไปนี้

“จงเชิญชวนสู่หนทางแห่งพระเจ้าของเจ้าด้วยสติปัญญา และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งกับพวกเขาด้วยวิธีการที่ดีที่สุด” (อันนะฮฺล 16:125)

ซึ่งเราไม่จำเป็นที่จะต้องยึดหลักปรัชญา ไม่จำเป็นต้องพูดจาภาษาดอกไม้ เพียงแค่ถ้อยคำที่จริงใจและเรียบง่ายเพื่อให้ผู้คนตระหนักและพึงระวังเท่านั้น

ในอายะฮฺดังกล่าวนั้น มีองค์ประกอบอยู่สามส่วนที่เราควรนำมาใช้ เมื่อเราไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคนอีกคนหนึ่ง อัลลอฮฺได้ทรงให้การสั่งสอนเราในการโต้แย้งเพื่อสัจธรรม และทรงสอนวิธีการแก่เราไว้ คือ

หนึ่ง ด้วยฮิกมะฮฺ (วิทยปัญญา)  

สอง ด้วยการตักเตือนที่ดี

สาม ด้วยการโต้แย้งด้วยวิธีการที่ดีที่สุด

การมีฮิกมะฮฺ ขณะที่เรามีความเห็นที่แตกต่างไปจากผู้อื่น นั้นหมายความว่าอย่างไร?  ครั้งหนึ่งหลานของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้สร้างแบบอย่างอันงดงามแห่งการมีฮิกมะฮฺในการให้คำแนะนำตักเตือนแก่ผู้คน วันหนึ่งท่านอัลหะซัน และท่านอัลหุซัยนฺได้เห็นชายอาวุโสท่านหนึ่งอาบน้ำละหมาดไม่ถูกต้อง ดังนั้นพวกท่านทั้งสองจึงจัดการวางแผนที่จะให้การตักเตือนชายอาวุโสท่านนั้นโดยไม่ใช้วิธีการที่เป็นการประนามหรือสบประมาทเขา หากแต่เป็นการตักเตือนด้วยมารยาทที่ดีงามอันเหมาะสมแก่วัยของชายอาวุโสท่านนั้น

ดังนั้นท่านทั้งสองจึงเข้าไปใกล้ชายอาวุโสท่านนั้นและประกาศต่อผู้คนขึ้นมาว่า “พี่ชายของฉัน และฉันมีความเห็นที่แตกต่างกันว่าใครในหมู่พวกเราทั้งสองที่ทำการอาบน้ำละหมาดได้ดีที่สุด พวกท่านจะว่าอะไรหรือไม่ที่จะเป็นผู้ตัดสิน และพิจารณาดูว่าใครในพวกเราที่อาบน้ำละหมาดได้ถูกต้องมากกว่ากัน”

ชายอาวุโสมองดูความตั้งใจขณะที่หลานของท่านเราะสูลทั้งสองทำการอาบน้ำละหมาดให้เห็นวิธีการอย่างชัดเจน หลังจากที่พวกท่านทั้งสองอาบน้ำละหมาดเสร็จแล้ว  ชายอาวุโสก็กล่าวขอบคุณท่านทั้งสองและกล่าวว่า “ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ก่อนหน้านี้ฉันไม่รู้เลยว่าต้องอาบน้ำละหมาดเช่นไร หากแต่ท่านทั้งสองได้สอนวิธีการปฏิบัติมันอย่างถูกต้องแก่ฉัน”

เราจำต้องเข้าใจว่ามันมีฮิกมะฮฺอยู่สองประเภท ประเภทแรกคือ “ฮิกมะฮฺแห่งความรู้ (ฮิกมะฮฺ อิลมิยยะฮฺ)” และประเภทที่สอง คือ “ฮิกมะฮฺแห่งการปฏิบัติ (ฮิกมะฮฺ อะมาลิยฺยะฮฺ)”

บางคนอาจมี “ฮิกมะฮฺแห่งความรู้” แต่เราก็พบว่าเมื่อพวกเขาพยายามที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดของผู้อื่น หรือให้คำแนะนำตักเตือนผู้อื่น พวกเขากลับขาดซึ่ง “ฮิกมะฮฺแห่งการปฏิบัติ” อันเป็นสาเหตุที่ทำให้คนทั่วไปปฏิเสธฮิกมะฮฺแห่งความรู้กัน

ตัวอย่างหนึ่งของ “การมีฮิกมะฮฺแห่งความรู้ หากแต่ปราศจากฮิกมะฮฺแห่งการปฏิบัติ”  คือครั้งหนึ่ง เมื่อชายคนหนึ่งได้ทำการละหมาดเสร็จสิ้นแล้วในมัสญิดท้องถิ่นแห่งหนึ่ง เขาจึงได้ทำการจับมือทักทายผู้คนด้วยทั้งมือขวาและมือซ้ายของเขา จากนั้นได้มีชายอีกคนหนึ่งตีที่มือของเขาและตะคอกใส่เขาว่า “นั่นมันไม่ใช่การกระทำแบบสุนนะฮฺ!!” ชายคนดังกล่าวจึงตอบเขาไปว่า “โอ้ แล้ว “การไม่ให้เกียรติ พร้อมทั้งการประนาม”  เป็นการกระทำแบบสุนนะฮฺเช่นนั้นหรือ”

การแสดงออกถึงฮิกมะฮฺ เมื่อเรามีความเห็นต่างกันนั้น จำต้องมีองค์ประกอบดังนี้

1. ความบริสุทธิ์ใจ 

ประการแรก หากเราเห็นต่าง เจตนาของเรานั้นควรเป็นเช่นว่า “เราคิดเห็นต่างกันด้วยความหวังที่บริสุทธิ์ใจว่าจะได้มาซึ่งสัจธรรมที่แท้จริง และ “เจตนาของเรา” ควรมีความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺเท่านั้น”

เราไม่ควรคิดเห็นต่างหรือขัดแย้ง เพียงเพื่อที่จะปลดปล่อยความเกลียดชัง หรือความอิจฉาที่มีอยู่ในหัวใจของเราออกมา เราไม่ควรคิดเห็นต่างหรือขัดแย้งเพื่อที่จะสร้างความอับอายแก่ผู้คนเช่นเดียวกับที่เราถูกทำให้อับอาย

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่ศึกษาหาความรู้ (อันเป็นความรู้ที่ควรถูกแสวงหาเพื่อความพึงพอพระทัยต่ออัลลอฮฺ) เพียงเพื่อที่จะได้รับผลประโยชน์แห่งโลกแห่งวัตถุนี้ เขาจะไม่พบกับความหอมแห่งญันนะฮฺในวันกิยามะฮฺ”

หะดีษเศาะหีฮฺ รายงานโดยอบูดาวูด ในกิตา อัลอิลมฺ

2. ความเมตตาและความอ่อนโยน  

ประการที่สอง การมีฮิกมะฮฺ เมื่อมีความเห็นต่าง หมายความว่าเราควรที่จะแยก “สถานการณ์” ออกจาก “ความเมตตาและความอ่อนโยน” เราไม่ควรที่จะปล่อยให้ตัวเราเกิดอารมณ์โกรธหรือขึ้นเสียง (ต่อผู้ที่เราเห็นต่างด้วย)

ฟิรฺเอาน์ (ฟาโรห์) คือหนึ่งในบรรดาผู้คนที่มีความชั่วร้ายมากที่สุด และนบีมูซาคือหนึ่งในบรรดาผู้ที่มีความดีงามมากที่สุด เรามาดูว่าอัลลอฮฺทรงสั่งใช้นบีมูซาให้ทำการตักเตือนฟิรฺเอาน์เช่นไร

“จงไปเถิด ท่านทั้งสอง จงไปพบกับฟิรฺเอา แท้จริงนั้น เขาได้ทำการละเมิด และจงกล่าวกับเขาด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน เผื่อว่าบางทีเขาอาจรำลึกถึง หรือเกรงกลัว (ต่ออัลลอฮฺ)” (ฎอฮา 20:44)

ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่งได้เข้าไปพบกับเคาะลิฟะฮฺท่านหนึ่ง และกล่าวตำหนิท่านอย่างรุนแรงเกี่ยวกับนโยบายบางข้อที่ท่านได้กำหนดไว้ เคาะลิฟะฮฺท่านนั้นจึงตอบชายคนดังกล่าวกลับไปว่า “ด้วยอัลลอฮฺ ฟิรฺเอาน์นั้นมีความชั่วร้ายยิ่งกว่าฉัน และด้วยอัลลอฮฺ นบีมูซานั้นเป็นผู้ที่มีความดีงามมากยิ่งกว่าท่าน แต่กระนั้นอัลลอฮฺได้ทรงสั่งใช้ท่านนบีมูซาว่า “และจงกล่าวกับเขาด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน เผื่อว่าบางทีเขาอาจรำลึกถึง หรือเกรงกลัว (ต่ออัลลอฮฺ)” (ฎอฮา 20:44)

3. ใช้เวลาและอธิบายให้ชัดแจ้ง 

ประการที่สาม การมีฮิกมะฮฺขณะเจรจากับผู้คน คือการมีความอดทนและอธิบายสิ่งต่างๆ ให้ชัดเจนก่อนที่จะเร่งรีบไปสู่ข้อสรุป

อีหม่ามอะหมัดรายงาน ด้วยการบอกเล่าจากผู้รายงานหลายท่าน ว่าท่านอิบนุ อับบาซ กล่าวว่า “ชายคนหนึ่งจากบนู ซะลีม ได้เดินทางผ่านกลุ่มเศาะฮาบะฮฺของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมไป (ในช่วงเวลาแห่งสงคราม) และชายคนนั้นได้กล่าว “อัสลามุอลัยกุม” ต่อพวกเขา หากแต่บรรดาเศาะฮาบะฮฺได้ให้ข้อสรุปว่า การที่ชายผู้นั้นกล่าว “อัสลามุอลัยกุม” ต่อพวกเขานั้น เป็นเพียงแค่การหลอกลวงเพื่อที่จะปกป้องตัวเขาให้พ้นจากการถูกจับตัว จากนั้นพวกเขาจึงได้ล้อมตัวชายคนดังกล่าวไว้ และท่านมัลฮาม อิบนุ ญุซอมะฮฺ (Malham Ibn Juthaamah) ได้ฆ่าเขา จากเหตุการณ์ดังกล่าว อัลลอฮฺจึงทรงส่งอายะฮฺนี้ลงมา

“โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลายเอ๋ย เมื่อเจ้ามุ่งหน้าเดินทางไป (เพื่อการต่อสู้) ในหนทางของอัลลอฮฺ จงทำการสอบหาความจริงให้ประจักษ์ และจงอย่ากล่าวต่อผู้ที่ให้แก่พวกเจ้า (ซึ่งการทักทายแห่งสานติ) “อัสลามุอลัยกุม” ว่า “ท่านมิไม่ใช่ผู้ศรัทธา” ด้วยความปรารถนาต่อผลประโยชน์แห่งชีวิตบนโลกดุนยานี้ เพราะ ณ ที่อัลลอฮฺนั้นมีซึ่งปัจจัยยังชีพอันมากมาย เช่นเดียวกันนั้นพวกเจ้า (ตัวของพวกเจ้าเอง) ก็เคยเป็นเยี่ยงนั้นมาก่อน และอัลลอฮฺได้ประทานความโปรดปราน (คือ ทางนำ) แก่พวกเจ้า ดังนั้น จงทำการสอบหาความจริงให้ประจักษ์ แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้อย่างชัดแจ้งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (อันนิซาอฺ 4:94)

4. คำพูดที่ดี

ประการที่สี่ อย่าแลกเปลี่ยน “คำพูดที่ดี” ด้วย “ความหยาบกระด้าง” โดยเฉพาะขณะที่ทำการเจรรากับมุสลิมท่านอื่น

มีตัวอย่างของพลังอำนาจของถ้อยคำอันบริสุทธิ์ใจและสุภาพ ดังนี้

ท่านมุซอับ อิบนุ อุมัยรฺเป็นตัวแทน (ทูต) คนแรกของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมในเมืองมาดีนะฮฺ  ก่อนที่ท่านเราะสูลจะเดินทางไปถึงเมืองมาดีนะฮฺ ท่านมุซอับได้ทำการสอนผู้คนในเมืองมาดีนะฮฺเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และพวกเขาต่างพากันเข้ารับศาสนาอิสลาม

แม้แต่สะดฺ อิบนุ อุบาดะฮฺผู้เกรี้ยวกราด หนึ่งในบรรดาผู้นำของเมืองมาดีนะฮฺ ครั้งหนึ่งเขาได้เตรียมดาบไว้ด้วยความตั้งใจที่จะตัดหัวของท่านมุซอับ อิบนุ อุมัยรฺ และเมื่อเขาได้เผชิญหน้ากับท่านมุซอับ เขาก็กล่าวขู่ท่านว่า “จงหยุดพูดสิ่งที่เหลวไหลนี้เสีย หรือไม่แล้วท่านก็สมควรตาย”

ท่านมุซอับจึงตอบสะดฺกลับไปด้วยวิธีการที่น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีงามแก่พวกเราทุกๆ คน

ขณะที่ชายคนที่ยืนอยู่หน้าท่านไม่ได้หยุดความหยาบคายและความโง่เขลา อีกทั้งยังต้องการที่จะเชือดคอของท่าน ท่านมุซอับได้ตอบเขากลับไปว่า “ท่านจะไม่นั่งลงและรับฟังฉันสักชั่วขณะหนึ่งหรือ หากท่านเห็นด้วยกับสิ่งที่ฉันพูดเช่นนั้น ท่านจงน้อมรับมัน และหากว่าท่านมิได้เห็นด้วย เราจะยุติการการสนทนานี้” จากนั้นสะดฺจึงนั่งลง

ท่านมุซอับได้พูดเกี่ยวกับอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ จนกระทั่งใบหน้าของสะดฺ อิบนุ อุบาดะฮฺส่องแสงสว่างเสมือนดวงจันทร์เต็มดวง และเขาได้ถามท่านมุซอับขึ้นมาว่า “เมื่อบุคคลหนึ่งปรารถนาที่จะเข้าสู่ศาสนานี้ เขาต้องทำเช่นไร” เมื่อท่านมุซอับได้บอกแก่เขาแล้ว เขาก็กล่าวขึ้นมาว่า “มีชายคนหนึ่ง ที่หากเขาเข้ารับศาสนานี้แล้ว มันย่อมไม่มีครอบครัวใดในเมืองมาดีนะฮฺที่จะไม่กลายเป็นมุสลิม  นั่นคือ สะดฺ อิบนุ มุอ๊าซ”

และเมื่อสะดฺ อิบนุ มุอ๊าซได้ยินเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาก็เกิดความโกรธเกรี้ยว จากนั้นเขาจึงออกจากบ้านไป โดยมีความตั้งใจที่จะฆ่าชายที่ชื่อว่า “มุซอับ อิบนุ อุมัยรฺ” ต่อความขัดแย้งที่ท่านได้สร้างขึ้น เมื่อเขาเข้าไปหาท่านมุซอับและประกาศว่า “ท่านจำต้องยุติการพูดเกี่ยวกับศาสนานี้ หรือมิเช่นนั้นแล้วท่านก็สมควรตาย”

ท่านมุซอับได้ตอบกลับไปว่า “ท่านจะไม่นั่งลงและรับฟังฉันสักชั่วขณะหนึ่งหรือ หากท่านเห็นด้วยกับสิ่งที่ฉันพูดเช่นนั้น ท่านจงน้อมรับมัน และหากว่าท่านมิได้เห็นด้วย เราจะยุติการการสนทนานี้” จากนั้นสะดฺจึงนั่งลง

ท่านมุซอับพูดเกี่ยวกับอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ จนกระทั่งใบหน้าของสะดฺ อิบนุ มุอ๊าซ ส่องสว่างเสมือนดวงจันทร์เต็มดวง จากนั้นสะดฺได้ถามท่านมุซอับขึ้นมาว่า  “เมื่อบุคคลหนึ่งปรารถนาที่จะเข้าสู่ศาสนานี้ เขาต้องทำเช่นไร”

ดูสิว่า “ถ้อยคำที่ดีงามนั้น” ได้ส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อสะดฺ อิบนุ มุอ๊าซเดินทางกลับไปที่บ้านของเขา เขาได้ไปพบกับชาวเผ่ามาดีนะฮฺในค่ำคืนนั้นและประกาศต่อพวกเขาทั้งหมดว่า “ทุกๆ สิ่งที่เป็นของพวกท่านนั้นคือสิ่งที่หะรอมสำหรับฉัน จนกว่าท่านทั้งหมดจะเข้ารับอิสลาม”

ในค่ำคืนนั้น ทุกๆ ครอบครัวในเมืองมาดีนะฮฺต่างเข้านอนพร้อมกับคำกล่าวว่า “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ” และทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะ “คำพูดที่ดีงาม” (ด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮฺ)

Read Full Post »

จากบทความ Ikhlaas (Sincerety):

แหล่งที่มา http://forums.islamicawakening.com/f40/examples-of-the-salaf-with-ikhl%E2s-56215/
แปล บินติ อัลอิสลาม

แบบอย่างความอิคลาสของบรรดาสลัฟ

บรรดาสลัฟ (บรรพชนผู้มีคุณธรรม) แห่งอุมมะฮฺนี้ไม่ได้มองว่า “ความอิคลาส” เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ ดังเช่นที่มีการกล่าวไว้ในอายะฮฺอัลกุรอานหรือในหะดีษที่ถูกถ่ายทอด หากแต่พวกท่านให้ความสำคัญอย่างมาก ต่อ “ความอิคลาส (ความบริสุทธิ์ใจ)” นี้ และแบบอย่างของพวกท่านนั้นเป็นเช่นแสงสว่างที่ควรค่าแก่การปฏิบัติตาม นั่นเป็นเพราะว่าพวกท่านเหล่านั้นตระหนักถึง “ความสำคัญของความอิคลาสนี้” อย่างลึกซึ้ง

ท่านอัลฟุฎ็อล الفضيل กล่าวว่า “อัลลอฮฺทรงประสงค์จากท่านเพียงแค่ “เจตนา และความปรารถนาของท่าน (อิเราะดะฮฺ)” เท่านั้น” (1)

พวกท่านต้องเผชิญกับความยากลำบากอันใหญ่หลวงในการที่จะได้มาซึ่ง “ความอิคลาส” และอธิบายมันต่อบรรดาผู้คนให้ประจักษ์แจ้ง ครั้งหนึ่ง ท่านสะฮฺล บิน อับดุลลอฮฺ อัตตุสฏอรียฺ  سهل بن عبد الله التستري  ถูกถามว่า “สิ่งใดเป็นสิ่งที่ยากที่สุด (ในการได้มา) สำหรับจิตใจ” ท่านตอบว่า “อิคลาส” เพราะ (มนุษย์) ย่อมไม่ได้มาซึ่งสิ่งใด หากปราศจากมัน (ความอิคลาส)” (2)

ท่านยูซุฟ บิน อัสบาฏฺ  يوسف بن أسباط กล่าวว่า “การทำเจตนาของท่านให้บริสุทธิ์จากมลทินนั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่าการต้องประสบกับความยากลำบาก (อิจญฺติฮาด) เป็นระยะเวลาอันยาวเสียอีก” (3)

สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้คือแบบอย่างบางส่วนของบรรดาสลัฟและวิธีการที่พวกท่านจัดการกับอิคลาส เพื่อที่พวกเราจะนำบทเรียนจากแบบอย่างเหล่านี้ไปปฏิบัติตาม

๑.       การไม่กล่าวอ้างว่าตัวเองมี “ความอิคลาส”

บรรดาสลัฟตระหนักว่าการได้มาซึ่ง “อิคลาส” นั้นมาจาก “สิ่งที่ยากลำบากที่สุดที่คนคนหนึ่งได้ประสบ และเขาต้องอาศัยการต่อสู้ฝ่าฝันอย่างหนัก อีกทั้งการปฏิเสธ “การมีซึ่งคุณสมบัติดังกล่าว (อิคลาส)” ในตัวเขา”

ฮิชาม อัดดิซตะวาอฺ  هشام الدستوائي กล่าวว่า “ด้วยอัลลอฮฺ ฉันไม่สามารถกล่าวได้ว่า ฉันเคยผ่านพ้นวันวันหนึ่งไปกับการค้นหาหะดีษ โดยที่ฉันแสวงหาพระพักตร์แห่งอัลลอฮฺ (ความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮฺ)” (4)

พวกเราทราบหรือไม่ว่าใครคือ “ฮิชาม อัดดิซตะวาอฺ”  ผู้ที่กล่าวหาตัวของท่านเองว่าไม่มีความบริสุทธิ์ใจในการแสวงหาความรู้ของท่าน?! ชุบะฮฺ บิน อัลฮะจฺญาฮฺ شعبه بن الحجاج  กล่าวเกี่ยวกับท่านไว้ว่า “ฉันพูดไม่ได้ว่า มีผู้ใดที่ค้นหาหะดีษ โดยแสวงหาพระพักตร์แห่งอัลลอฮฺ (ความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮฺ) เว้นแต่ “ฮิชาม อัดดิซตะวาอฺ”  

ชาซฺ บิน ฟะยาซฺ   شاذ بن فياضกล่าวเกี่ยวกับท่านไว้ว่า “ท่านฮิชามหลั่งน้ำตา จนกระทั่งดวงตาทั้งสองข้างของท่านเสื่อมสภาพลง” ท่านฮิชามมักจะกล่าวว่า “หากตะเกียงดับลง ฉันมักจะรำลึกถึงความมืดมิดของหลุมฝังศพ” และท่านยังเคยกล่าวด้วยว่า “ฉันรู้สึกประหลาดใจนักว่าอะลิม (นักวิชาการ) คนหนึ่งสามารถหัวเราะได้อย่างไร” (5)

สุฟยาน อัษเษารียฺเคยกล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ยากยิ่งต่อการดูแล..สำหรับฉัน มากยิ่งไปกว่า “เจตนาของฉัน (เนียต)” เพราะแท้จริงแล้ว มัน (เจตนาของฉัน) ย่อมย้อนกลับมายังฉัน” (6)

ยูซูฟ บิน อัลหุซัยนฺ يوسف بن الحسين  กล่าวว่า “บ่อยครั้งเพียงใดที่ฉันพยายามขจัด “ริยาอฺ” ออกจากหัวใจของฉัน เว้นเสียแต่ว่ามันปรากฎออกมาในสีที่แตกต่างไป (คือในรูปแบบที่ต่างออกไป)” (7)

ผู้คนเหล่านี้ที่เราได้กล่าวถึง..ต่างกลายเป็นอีหม่าม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พวกท่านกลับเป็นกลุ่มคนที่มีความเข้มงวดที่สุด ในยามที่พวกท่านกล่าวโทษแก่ตัวของพวกท่านเอง

๒.      การปกปิดการงาน

ท่านหะซัน อัลบัศรียฺ ได้กล่าวเกี่ยวกับความเพียรพยายามของบรรดาสลัฟในการปกปิดการงานของพวกเขา ว่า “บุรุษท่านหนึ่งได้ทำการรวบรวมอัลกุรอาน (คือการท่องจำมัน) ขณะที่เพื่อนบ้านของเขาไม่เคยทราบ” “ชายอีกคนหนึ่งทำการศึกษาเรื่อง “ฟิกฮฺ” อย่างหนัก ขณะที่ผู้คนต่างไม่ทราบเกี่ยวกับมัน” “บุรุษท่านหนึ่งจะทำการละหมาดเป็นระยะเวลาอันยาวนานภายในบ้านของเขา ขณะที่เขามีแขก หากแต่บรรดาแขกไม่แม้แต่จะสังเกตเห็นมัน” และท่านได้กล่าวด้วยว่า “แท้จริงแล้ว ฉันได้พบเจอกับผู้คนมากมาย ซึ่งไม่มีแม้แต่สัก “การกระทำหนึ่ง” บนผืนแผ่นดินที่จะถูกกระทำอย่างลับๆ เช่นที่พวกเขาได้กระทำมันอย่างเปิดเผย”

บรรดามุสลิมเหล่านี้จะเพียรพยายามอย่างหนักต่อการวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ และไม่มีเสียงใดเล็ดลอดออกมาให้ได้ยิน เว้นแต่เสียงกระซิบกระซาบเบาๆ ระหว่างพวกเขากับอัลลอฮฺ นั่นเป็นเพราะอัลลอฮฺตรัสไว้ว่า

ادْعُوا رَبَّكُمْ تَضَرُّعًا وَخُفْيَةً ۚ إِنَّهُ لَا يُحِبُّ الْمُعْتَدِينَ

“จงเรียกร้องหาพระผู้เป็นเจ้าของเจ้าด้วยความนอบน้อมและอย่างปกปิด แท้จริงแล้วพระองค์มิทรงรักบรรดาผู้ละเมิด” (8)

๓.      การปกปิดการงานจากครอบครัวและภรรยา

อบู อลิยะฮฺ  أبو العالية  กล่าวว่า “ฉันศึกษาการเขียนและอัลกุรอานโดยที่ครอบครัวของฉันไม่เคยรับรู้ และไม่มีแม้แต่ “หมึกเพียงหยด” ที่ปรากฎบนอาภรณ์ของฉัน” (9)

ดาวูด บิน อบู ฮินดฺ  داود بن ابو هند  ทำการถือศีลอดเป็นระยะเวลา 40 ปี ในขณะที่ครอบครัวของเขาไม่เคยทราบเกี่ยวกับมัน  โดยที่ท่านจะนำเอาอาหารกลางวันของท่านติดตัวไปด้วยและนำไปบริจาค จากนั้นท่านก็จะกลับมายังบ้านของท่านเพื่อทานอาหารค่ำ และละศีลอดร่วมกับพวกเขา (10)

๔.      ความเกรงกลัวต่อการประดับประดาการงานให้สวยงามและกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อสิ่งอื่น นอกเหนือจากอัลลอฮฺ

ท่านอะลี บิน อัลบะกัรฺ อัลบัศรียฺ` علي بن البكار البصري  กล่าวว่า “การที่ฉันได้พบกับชัยฏอนนั้นเป็นที่ปรารถนาสำหรับฉัน มากยิ่งกว่า การได้พบกับคนนั้น คนนี้ ด้วยเพราะฉันเกรงกลัวว่าฉันอาจจะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเขา (สร้างความประทับใจแก่เขา) และหลุดพ้นจากพระเนตรของอัลลอฮฺ”  (11)

๕.      การไม่ทำให้ “ความรู้ของเขา” เป็นที่ปรากฎชัดเจน

อิบนุ ฟาริซ بن فارس  กล่าวถึง อบู อัลหะซัน อัลก็อฏฏอน  ابو الحسن القطان  ว่าท่านกล่าวว่า “ฉันประสบกับความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยในบัศเราะฮฺ และฉันคิดว่าฉันกำลังถูกลงโทษ อันเนื่องมาจากการพูดมากขณะการเดินทางของฉัน”  ท่าน (อบู อัลหะซัน อัลก็อฏฏอน) คิดว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับท่าน คือการลงโทษอันเกิดจากการที่ท่านทำให้ความรู้ของท่านเป็นที่ปรากฎขณะที่ท่านกำลังเดินทาง

๖.      การปกปิดน้ำตา

ฮัมมาน บิน ซัยดฺحماد بن زيد   กล่าวว่า เมื่ออัยยูบได้ยินการบอกเล่าถึงหะดีษบทหนึ่ง ที่ทำให้หัวใจของท่านอ่อนโยนและเป็นเหตุที่ทำให้ท่านต้องหลั่งน้ำตา และเมื่อน้ำตาของท่านไหลรินออกมา ท่านก็จะเช็ดจมูกของท่านและกล่าวว่า “ช่างเป็น..ไข้หวัดที่เรื้อรังเสียนี่กระไร” ท่านทำเสมือนว่าท่านเป็นไข้หวัดเพื่อปกปิดไม่ให้ผู้คนทราบว่าท่านกำลังร้องไห้ (12)

หะซัน อัลบัศรียฺ กล่าวว่า “บุรุษท่านหนึ่งกำลังนั่งร่วมอยู่กับกลุ่มชุมนุมกลุ่มหนึ่ง และน้ำตาของเขาได้ไหลรินออกมา เขาพยายามที่จะกลั้นมันเอาไว้ หากเมื่อใดที่เขารู้สึกว่าเขาไม่สามารถที่จะกลั้นมันไว้ได้ เขาก็จะลุกขึ้นและจากไป” (13)

มุหัมมัด บิน วะซียฺ محمد بن وصي  กล่าวว่า “บุรุษท่านหนึ่งร้องไห้เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยที่ภรรยาของเขาไม่เคยทราบ” (14)

และท่านยังกล่าวด้วยว่า “ฉันได้พบกับบุรุษกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีหนึ่งคนในหมู่พวกเขา ที่ศีรษะของเขานั้นวางอยู่บนหมอนใบเดียวกันกับภรรยาของเขา และข้างใต้แก้มของเขาจะชุ่มไปด้วยน้ำตาของเขา โดยที่ภรรยาของเขาไม่ทราบเกี่ยวกับมัน และฉันได้พบกับบุรุษกลุ่มหนึ่ง หนึ่งในพวกเขาจะยืนอยู่แถวแรก (ของการละหมาด) น้ำตาของเขาจะไหลรินลงมาที่แก้มทั้งสองข้างของเขา และคนที่ยืนอยู่ข้างเขาไม่รับรู้ถึงมัน” (15)

๗.      เรื่องราวของอีหม่าม อัลมะวัรฺดียฺ  إمام الموردي  และหนังสือของท่าน

เรื่องราวแห่งความอิคลาสและหนังสือของอีหม่ามท่านนี้ค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด ท่านเขียนหนังสือมากมายทั้งในเรื่องของ “ฟิกฮฺ” “ตัฟซีรฺ” เป็นต้น แต่ท่านไม่ได้ทำการเผยแพร่หนังสือเล่มใดเลย ขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านปกปิดผลงานของท่านไว้ในสถานที่แห่งหนึ่งที่ไม่มีผู้ใดทราบเกี่ยวกับมัน เมื่อความตายได้เข้ามาประสบกับท่าน ท่านได้บอกแก่บุคคลคนหนึ่งที่ท่านไว้วางใจว่า “หนังสือทั้งหมดที่อยู่ในสถานที่แห่งนั้น..เป็นของฉัน และฉันไม่ได้ทำการเผยแพร่มันออกไป เพราะฉันไม่พบ “เจตนาอันบริสุทธิ์” (ในตัวฉัน) เมื่อความตายได้ประสบกับฉัน จงวางมือของท่านไว้ในมือของฉัน และหากฉันกุมมือของท่านเอาไว้ พึงรู้ว่าการงานนั้นไม่เป็นที่ยอมรับจากฉัน ดังนั้นโปรดโยนหนังสือทั้งหมดของฉันทิ้งลงไปในแม่น้ำในยามค่ำคืนเสีย อย่างไรก็ตามหากฉันไม่ได้บีบมือของท่านไว้ พึงรู้ว่าการงานนั้นได้รับการยอมรับ และฉันได้บรรลุซึ่งสิ่งที่ฉันหวังจากอัลลอฮฺแล้ว” ดังนั้นบุคคลที่ได้รับความไว้วางจากอีหม่ามท่านนี้ได้กล่าวว่า “เมื่อความตายมายังเขา ฉันได้วางมือของฉันไว้ที่มือของท่าน หากแต่ท่านมิได้กุมมือของฉันไว้ ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงทราบว่ามันคือสัญญาณแห่งการตอบรับ และหนังสือทั้งหมดของท่านก็ถูกนำมาเผยแพร่ต่อผู้คนหลังจากนั้น” (16)

๘.      อะลี บิน อัลหุซัยนฺعلي بن الحسين  และการบริจาคยามค่ำคืนของท่าน

อะลี บิน อัลหุซัยนฺ علي بن الحسين เคยแบกขนมปังไว้บนหลังของท่านในยามค่ำคืนและติดตามบรรดาคนยากจน (เพื่อที่จะมอบขนมปังเหล่านั้นให้กับพวกเขา) ท่านเคยกล่าวว่า “การบริจาคในยามมืดมิดของช่วงเวลากลางคืนนั้นย่อมดับความโกรธกริ้วของพระผู้เป็นเจ้าลง” 

คนยากจนในเมืองมะดีนะฮฺที่เคยอาศัยอยู่ที่นั่น ไม่เคยทราบว่าพวกเขาได้รับอาหารเหล่านั้นจากใคร เมื่อท่านอะลี บิน หุซัยนฺ เสียชีวิตลง พวกเขาจึงเริ่มนึกถึงสิ่งที่พวกเขาเคยได้รับในยามค่ำคืน เมื่อท่านเสียชีวิตลง พวกเขาจึงได้พบกับรอยบนหลังของท่านจากการแบกถุงอาหารในยามค่ำคืนไปตามบ้านของบรรดาแม่ม้าย  และพวกเขาพบว่าท่านได้ทำการบริจาคอาหารให้กับคนยากจนถึงร้อยครอบครัว (17)

นี่คือสภาพของบรรดาผู้คนดังกล่าวในอดีต พวกเขาปกปิดการงานทั้งหลายของเขา หากแต่อัลลอฮฺทรงทำให้มันปรากฎขึ้น เพื่อที่พวกเขาจะได้กลายเป็นอีหม่ามผู้ซึ่งผู้คนปฏิบัติตามแบบอย่าง

อัลลอฮฺตรัสว่า

وَاجْعَلْنَا لِلْمُتَّقِينَ إِمَامًا

“..และโปรดทำให้พวกเราเป็นแบบอย่างแก่บรรดาคนดี (ผู้ยำเกรง)” (18)

وَجَعَلْنَاهُمْ أَئِمَّةً يَهْدُونَ بِأَمْرِنَا

“และเรา (อัลลอฮฺ) ทำให้พวกเขาเป็นผู้นำเพื่อชี้ทางนำจากคำบัญชาของเรา” (19)

——————————————————————————–

[1] Jâmi` ‘l-`Ulûm wa ‘l-Hikam (13).

[2] Madârij ‘l-Sâlikîn (2/92) and Jâmi` ‘l-`Ulûm wa ‘l-Hikam (17).

[3] Jâmi` ‘l-`Ulûm wa ‘l-Hikam (13).

[4] Târîkh ‘l-Islâm (3/175), Siyar A`lâm an-Nubalâ’ (7/152).

[5] Târîkh ‘l-Islâm (3/176).

[6] Al-Ikhlâs wa ‘l-Niyyah (65).

[7] Madârij ‘l-Sâlikîn (2/92).

[8] Qur’ân – al-A`râf (7):55.

Refer to az-Zuhd by Ibn ‘l-Mubârak (35-36).

[9] Siyâr ‘l-A`lâm an-Nubalâ’ (6/17).

[10] Hilyat ‘l-Awliyâ’ (3/94).

[11] Hilyat ‘l-Awliyâ’ (8/270).

[12] Musnad Ibn ‘l-Ja`d (1246), Siyâr ‘l-A`lâm an-Nubalâ’ (6/20).

[13] Al-Zuhd by Imâm Ahmad (262).

[14] Hilyat ‘l-Awliyâ’ (2/347).

[15] Ibid.

[16] Târîkh ‘l-Islâm (7/169), Siyâr ‘l-A`lâm an-Nubalâ’ (18/66).

[17] Siyâr ‘l-A`lâm an-Nubalâ’ by adh-Dhahabi.

[18] Qur’ân – al-Furqân (25):74.

[19] Qur’ân – al-Anbiyâ’ (21):73.

Read Full Post »

image

รูป:: อินเตอร์เนต

สตรีนางหนึ่งได้เข้ามาเสนอตัวเพื่อขอแต่งงานกับท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม หากทว่านบีได้ปฏิเสธเธออย่างสุภาพ ในขณะเดียวกันหนึ่งในบรรดาเศาะฮาบะฮฺก็แสดงความปรารถนาที่จะแต่งงานกับสตรีนางนั้น และเธอก็ได้ตอบตกลงเขา (เรื่องราวจากหะดีษ บันทึกโดยบุคอรียฺ)

สิ่งที่น่าสนใจในเหตุการณ์นี้คือ “การที่ท่านนบีไม่มีความปรารถนาที่จะแต่งงานกับสตรีนางนั้น” ไม่ได้มีอิทธิพลต่อ “การตัดสินใจของเศาะฮาบะฮฺท่านนั้น ในการที่จะเสนอตัวขอแต่งงานกับสตรีที่ท่านนบีเพิ่งปฏิเสธไปแต่อย่างใด”  ท่านไม่แม้แต่จะถามท่านนบีว่าเหตุใดท่านนบีจึงไม่ปรารถนาที่จะแต่งงานกับเธอ หรือคิดว่าการปฏิเสธของท่านนบีนั้นหมายความว่า เธอผู้นั้นไม่ใช่สตรีที่ดีเพียงพอ

นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมเป็นแบบอย่างของเราทั้งคำพูดของท่านและการกระทำของท่าน อย่างไรก็ตามบรรดาเศาะฮาบะฮฺต่างทราบดีถึงความแตกต่างระหว่างการกระทำที่ควรปฏิบัติตาม และความชื่นชอบส่วนตัว

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ นบีมุหัมมัดได้สร้างแรงบันดาลใจและเปลี่ยนแปลงบรรดาผู้คนมากมายในช่วงเวลาของท่าน และถึงแม้ว่าท่านจะทำหน้าที่ดังกล่าว แต่ท่านก็ยังปล่อยให้พวกเขาได้คงไว้ซึ่งอุปนิสัยส่วนตัวของพวกเขา และให้พวกเขาได้มีสิทธิ์ในการตัดสินใจตามที่ศาสนาอนุมัติไว้

นี่คือส่วนสำคัญของการเป็นผู้นำ คุณมีอิทธิพล สร้างแรงบันดาลใจต่อผู้คน แต่คุณก็ไม่กำจัดคุณสมบัติอันโดดเด่นที่ทำให้พวกเขานั้นมีความเป็นเอกลักษณ์

แปล เรียบเรียงจากข้อความ ดร ฮิชาม อัลอะวาดียฺ
โดย บินติ อัลอิสลาม

Read Full Post »

สลัฟบางท่านกล่าวว่า “หากท่านประสบกับสถานการณ์ที่เลวร้าย และท่านเป็นผู้อดทน เช่นนั้น ถือว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายของท่านมีเพียงแค่หนึ่ง แต่หากว่าท่านไม่เป็นผู้ที่อดทนเช่นนั้นถือว่าสถานการณ์เลวร้ายของท่านนั้นถูกทบเป็นสองเท่า สูญเสียทั้งรางวัลการตอบแทน สูญเสียคนที่รัก และสูญเสียอาคิเราะหฺ (สวนสวรรค์)” 

คำกล่าวของสลัฟนี้สอดคล้องกับสิ่งที่อัลลอฮฺตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลฮัจญ์ อายะที่ 11 ที่ว่า “และในหมู่มนุษย์บางคน มีผู้เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺบนขอบทางของศาสนา หากความดีประสบแก่เขา เขาก็พออกพอใจต่อสิ่งนั้น หากความทุกข์ยากประสบแก่เขา เขาก็จะผินหน้าของเขากลับสู่การปฏิเสธ เขาขาดทุนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า นั่นคือการขาดทุนอย่างชัดแจ้ง” 

++คัดลอกคำแปลอัลกุรอานจากโปรแกรมอัลกุรอานแปลไทย

แปลมาอีกทีค่ะ จำแหล่งที่มาไม่ได้

Read Full Post »

Older Posts »