Feeds:
Posts
Comments

Archive for January, 2015

โอ้ มุสลิมเอ๋ย จงออกห่างจากการกดขี่ข่มเหงในหมู่ของพวกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อคู่ครองของท่าน
แหล่งที่มา ‘O Muslims Avoid Oppression amongst Yourselves – especially towards your spouse
http://www.facebook.com/notes/lives-of-the-salaf/o-muslims-avoid-oppression-amongst-yourselves-especially-towards-your-spouse/190188547677596
ถอดความ بنت الاٍسلام

อัสลามุอลัยกุม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮิ วะบาเราะกาตุฮฺ

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณา ผู้ทรงเมตตายิ่ง

โอ้ มุสลิมเอ๋ย จงออกห่างจากการกดขี่ข่มเหงในหมู่ของพวกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อคู่ครองของท่าน

งหลีกห่างจากการกดขี่ข่มเหง เพราะ “การกดขี่ข่มเหง”  เป็นสาเหตุอันทำไปสู่ความมืดมิดในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ”

(บันทึกโดยมุสลิม และท่านอื่นๆ)

“ผู้ที่เป็นสามีภรรยา” ควรมีความซื่อสัตย์และความยุติธรรมต่อกันในการพูดคุยตกลงเจรจาระหว่างกัน

เขาทั้งสองจำต้องหลีกเลี่ยงการกดขี่ข่มเหงซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด วิธีหนึ่ง

“การกดขี่ ข่มเหง” เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา ทรงสั่งห้าม แม้แต่  ตัวของพระองค์เอง ท่านอบู ซัรรฺ (เราะฏิยัลลอฮุ อันฮุ) รายงานว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะศัลลัม กล่าวว่า

“อัลลอฮฺตรัสว่า “โอ้ ปวงบ่าวของข้า แท้จริงข้าได้สั่งห้าม “ความไม่เป็นธรรม” ต่อตัวข้า และได้ทำให้ “มัน” เป็นสิ่งต้องห้ามในหมู่พวกเจ้า ดังนั้นจงอย่ากดขี่ข่มเหงต่อกัน” (บันทึกโดย มุสลิม)

อย่าปล่อยให้ “ความรู้สึกแห่งความเหนือกว่า และการมีอำนาจ” เข้าครอบงำจิตใจใครคนใดคนหนึ่ง (ในคู่สมรส) อันเป็นเหตุทำให้ “เขา” หรือ “เธอ” กดขี่ ข่มเหง คู่ครองของเขา และคิดว่า “เขา” หรือ “เธอ” ได้รับซึ่งชัยชนะเหนือคู่ครอง

เขาทั้งสองจำต้องใคร่ครวญถึง “หะดีษ” ข้างต้น และเขาทั้งสองควรพึงระวัง “คำสาปแช่งที่แฝงอยู่” อันมาจาก “หัวใจอันหนักอึ้งของจิตวิญญาณที่ถูกข่มเหง”

ท่านอนัส บิน มาลิก (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ) รายงานว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะศัลลัม กล่าวว่า“พึงระวัง “การวิงวอนขอ ของผู้ถูกกดขี่ข่มเหง (เพื่อการต่อต้านท่าน)”  แม้ว่าเขาจะเป็นกาฟิรฺก็ตาม เพราะมันไม่มีสิ่งใดขวางกั้นในหนทาง (ที่จะนำ “การวอนขอนั้น” ไปสู่อัลลอฮฺ)” (รายงานโดยอะหมัด อบูยะลา และท่านอื่นๆ จัดว่าเป็นหะซันโดยอัลอัลบานียฺ อัซ เศาะเหียฮฺ เลขที่ 767 และ เศาะเหียฮฺ อัลญามียฺ เลขที่ 119)

และการกดขี่ข่มเหงย่อมไม่ได้รับการอภัยโทษ และไม่มีทางที่จะไม่ได้รับการลงโทษ

ท่านอบู ฮุร็อยเราะหฺ เราะฏิยัลลอฮุ อันฮุ รายงานว่าท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะศัลลัม กล่าวว่า“ผู้ใดก็ตามที่ทำการกดขี่ข่มเหงพี่น้องของเขาอันเกี่ยวข้องกับเกียรติยศของเขา หรือทรัพย์สินของเขาจำต้องขออภัยต่อพี่น้องของเขาในวันนี้ ก่อนที่มันจะถูกนำไปจากเขาในวันที่ไม่มีแม้แต่ดิรฺนารฺ หรือดิรฮัม (แต่) หากแม้ว่าเขายังมีความดีงามอยู่ ส่วนหนึ่งของความดีงามนั้นจะถูกยกไป (หักลบ) ยังจำนวนแห่งการกดขี่ข่มเหงของเขา และหากว่าเขาไม่มีความดีงามใดๆ เลย ความผิดบาปของผู้ที่ได้รับการข่มเหงจะถูกยกไปยังเขา (เพิ่มเข้าไปในบัญชีของเขา)” (รายงานโดยอัล บุคอรียฺ และอะหมัด)

—————-

Reference:

The Fragile Vessels (Rights and obligations between the spouses in Islam)

Read Full Post »

จากหนังสือ The Ideal Muslimah ดร.มุหัมมัด อะลี อัลฮาชิมียฺ
บทความเรื่อง Being Easy on People
แปล บินติ อัลอิสลาม

“มุสลิมที่แท้จริง” ย่อมสร้างความง่ายดายต่อผู้คน มิใช่การสร้างความยากลำบากต่อผู้คน เพราะ “ทัศนคติของบรรดาผู้ศรัทธา” คือการกระทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดความง่ายดาย และนี่คือสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ต่อบ่าวของพระองค์

“อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้มีความสะดวกแก่พวกเจ้า และไม่ทรงให้มีความลำบากแก่พวกเจ้า” (อัลกุรฺอาน 2:185)

ด้วยเหตุนี้ ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะศัลลัม จึงส่งเสริมให้บรรดามุสลิมนั้นสร้างความง่ายดายต่อผู้คน และสั่งห้ามพวกเขามิให้พวกเขาสร้างความยากลำบากใดๆ

“จงสั่งสอน และทำให้เกิดความง่ายดาย จงอย่าทำให้เกิดความยากลำบาก หากผู้ใดในหมู่พวกท่านมีความโกรธเคือง เขาจงนิ่งเงียบเสีย” (อัล บุคอรียฺ และมุสลิม)

ไม่มีผู้ใดปรารถนาที่จะทำให้เกิดความยากลำบากหรือความยุ่งยากใดๆ เว้นแต่เขาคือ “ผู้ที่มีจิตใจที่แข็งกร้าวและโหดร้าย และผู้ที่ขาดซึ่งความรู้”  และสำหรับ “ผู้มีสัจจะ (มีความเที่ยงตรง) ที่มีซึ่งความรู้ด้านศาสนาเป็นอย่างดี” ย่อมมิชอบที่จะสร้าง “ความยากลำบาก” และ “ความยุ่งยาก” ใดๆ และไม่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นการยับยั้งมิให้ผู้อื่นได้รับผลประโยชน์ อีกทั้งเขาย่อมดำเนินชีวิตตามรูปแบบของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะศัลลัม ดังที่มีการรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺที่ว่า

“เมื่อท่านเราะสูล จำต้องเลือกระหว่างสองสิ่ง ท่านจะเลือกเอาในสิ่งที่ง่ายดายกว่าในสองสิ่งนั้น ตราบใดที่มันไม่ใช่สิ่งที่ผิดบาป และหากว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดบาป ท่านจะเป็นผู้ที่ออกห่างจากสิ่งนั้นมากที่สุด และท่านเราะสูลมิเคยแก้แค้น (ลงโทษผู้ใดหรือสิ่งใด) เพื่อตัวของท่านเอง แต่หากว่าขอบเขตของอัลลอฮฺถูกละเมิด ท่านจะทำการแก้แค้น (ลงโทษ) เพื่ออัลลอฮฺ” (อัลบุคอรียฺ และมุสลิม)

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะศัลลัมเข้าใจ “จุดอ่อนของมนุษย์”  “ความแตกต่างระหว่างคุณลักษณะของพวกเขา” และ “ความสามารถแห่งการมีความอดทน” และ “ความเป็นเลิศทางศีลธรรม” ของพวกเขาเป็นอย่างดี ท่านเราะสูลทราบดีว่า “ไม่มีสิ่งใดที่จะดียิ่งไปกว่า การทำให้เกิดความสะดวกง่ายดายต่อพวกเขาเหล่านั้น” และ “ไม่มีสิ่งใดที่จะสร้างความโศกเศร้าหรือสร้างความเจ็บปวดต่อพวกเขา มากไปกว่า การทำให้เกิดความยากลำบากมากเกินไปต่อพวกเขา” ดังนั้นท่านจึงเลือกในสิ่งที่ง่ายดายกว่า ภายใต้ขอบเขตที่ได้รับการอนุมัติตามหลักชะรีอะฮฺ และทำให้สิ่งนั้นเป็น “วิถีชีวิต” สำหรับบรรดามุสลิม เพื่อที่พวกเขาจะเป็นอิสระจากการแบกรับภาระอันเกิดจากความยากลำบากทั้งหลาย

อ้างอิง อัลกุรอานแปลไทย

Read Full Post »

แหล่งที่มา http://www.islamicemirate.com/discover/character/1245-having-a-good-opinion-of-people.html

บทความ Having A Good Opinion of People โดย ดร. อะลี อัล ฮัมมะดียฺ
แปลเรียบเรียงโดย บินติ อัลอิสลาม

องค์ประกอบสำคัญที่มุสลิมควรคำนึงถึงก่อนที่จะเกิดความสงสัยใดๆ และก่อนที่จะยอมรับและเชื่อต่อคำกล่าวหาใดๆ คือ การให้ความสำคัญต่อ “การคิดในแง่ดี” มากกว่า “การคิดในแง่ร้าย” ต่อพี่น้องมุสลิมของเขา เขาควรหาข้ออ้างหรือเหตุผลที่ชอบธรรมที่จะเป็นการแก้ต่างและแก้ข้อกล่าวหาต่างๆ ให้แก่พี่น้องของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบรรดาผู้ทำหน้าที่เรียกร้องสู่อิสลามหรือผู้มีคุณธรรมถูกกล่าวโทษ

นี่เป็นแนวทางการปฏิบัติของบรรดาผู้ศรัทธา ผู้คนแห่งความรู้ และผู้มีสติปัญญาในหมู่มุสลิมที่มีความยำเกรงต่อพระเจ้าของเขาและปรารถนาชัยชนะและอำนาจต่อศาสนาของอัลลอฮฺ

แต่ในทางกลับกัน ผู้คนต่างเน้นความสำคัญไปที่ “การคิดต่อผู้อื่นในแง่ร้าย” มากกว่า “การคิดต่อผู้อื่นในแง่ดี”  หากเป็นเช่นนั้น คงไม่มีนักวิชาการท่านใดที่จะดำเนินชีวิตโดยปราศจากการมุ่งร้ายหรือการใส่ร้าย (ของผู้คน)  คงไม่มีผู้มีศีลธรรมท่านใดที่จะปราศจากซึ่งความผิด และบรรดามุสลิมย่อมถูกถอดถอนจากการเป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้คน  ซึ่ง “หลักการ” ดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับโดยหลักกฏหมายอิสลาม หรือหลักตรรกะ (ระบบการใช้เหตุผล)

“หลักการขั้นพื้นฐานสำหรับกฏเกณฑ์นี้” คือถ้อยคำที่อัลลอฮฺ อัซซะ วะญัล ทรงตรัสไว้ว่า

“โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! พวกเจ้าจงปลีกตัวให้พ้นจากส่วนใหญ่ของการสงสัย แท้จริงการสงสัยบางอย่างนั้นเป็นบาป และพวกเจ้าอย่าสอดแนม และบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ? พวกเจ้าย่อมเกลียดมัน และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัล หุจญร๊อต 49:12) *คัดลอกอัลกุรอานแปลไทยจาก www.alquran-thai.com

อัลลอฮฺ อัซซะ วะญัล ทรงสั่งให้เราออกห่างจาก “ความสงสัย” ให้มาก เพราะส่วนหนึ่งของมันนั้นเป็นบาป และพระองค์ทรงตามด้วย “การสั่งใช้” ที่ให้เรานั้นออกห่างจาก “การสอดแนม” ชี้ให้เห็นว่า “การสอดแนม (หรือการสืบเสาะ)” ในหลายๆ กรณีนั้นมิได้เกิดขึ้นมาเอง หากแต่มันเกิดขึ้นจากการมีความสงสัยที่ไม่ดี

ในวิถีชีวิตของมุสลิม ตามหลักเกณฑ์โดยทั่วไปแล้วนั้น คือ เราจำต้องปกปิดความผิดบาปของผู้อื่น และการคิดต่อผู้อื่นในแง่ดี นี่เป็นเหตุผลว่าเหตุใดอัลลอฮฺ อัซซะ วะญัล จึงทรงสั่งใช้ให้บรรดาผู้ศรัทธาคิดดีต่อผู้คนเมื่อเขาได้ยินการกล่าวร้ายต่อพี่น้องมุสลิมของพวกเขา

และจากเรื่องราวอัล-อิฟกฺ  (การกล่าวเท็จที่บรรดาผู้กลับกลอกได้แต่งขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายท่านหญิง อาอิชะฮฺ มารดาแห่งผู้ศรัทธา และอัลลอฮฺได้ทรงเผยความจริงและความบริสุทธิ์แก่นางในอัลกุรอาน) เมื่อมีการบอกเล่าความเท็จของผู้คนเหล่านั้น อัลลอฮฺอัซซะ วะญัลจึงทรงชี้แจง “ข้อเท็จจริง” ที่มุสลิมทุกคนจำต้องเข้าใจไว้ว่า

“เมื่อพวกเจ้าได้ยินข่าวเท็จนี้ ทำไมบรรดามุอ์มินและบรรดามุอ์มินะฮ์ จึงไม่คิดเปรียบเทียบกับตัวของพวกเขาเองในทางที่ดี และกล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องโกหกอย่างชัดแจ้ง” (อัน นูรฺ 24: 12) *คัดลอกอัลกุรอานแปลไทยจาก www.alquran-thai.com

ดร. มุสตอฟา อัซซิบะอียฺ กล่าวไว้ว่า  “ด้วยเพราะว่า การคิดดีและเสียใจในภายหลัง ย่อมดีกว่า การคิดร้ายและเสียใจในภายหลัง”  [as-Sibai, Hakadha `allamatni al Hayat, al Maktab al Islami, Beirut, 1984, vol. 1, p. 42]

Read Full Post »

มุสลิมควรดำเนินชีวิตในช่วงกลางวันและช่วงกลางคืนอย่างไร?

แหล่งที่มา บทความ Guidelines on how every Muslim should spend his day and night.
โดย Hakimul Ummah Maulana Ashraf Ali Thanwi
ถอดความ บินติ อัลอิสลาม

มนุษย์แต่ละคนต่างมี “ช่วงเวลาแห่งชีวิตของเขา”  แต่กระนั้น ก็ยังคงมีคำถามที่ว่า “แล้วใครคือผู้เติมเต็มสิทธิแห่งการมีชีวิต?”

“บรรดาสัตว์” ที่ไร้ซึ่ง “สติปัญญา” และ “ความเฉลียวฉลาด” สามารถดำเนินชีวิตของพวกมันได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม “มนุษย์” ที่มีทั้ง “สติปัญญา” และ “ความเฉลียวฉลาด” ย่อมดำเนินชีวิตของพวกเขาได้ดีกว่าและเหนือกว่าอย่างมาก  เช่นเดียวกัน “ผู้ปฏิเสธ” เองก็ดำเนินชีวิตแต่ละวันของเขาไปได้โดยที่พวกเขาวนเวียนอยู่ในความมืดมิดบนหนทางที่ผิดและเบี่ยงเบน อย่างไรก็ตาม “ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น”ต่างจาก “ชีวิตของมุสลิม” ที่ดำเนินชีวิตอยู่บน “ความปลอดภัย” “ความราบรื่น” ตามหลักการแห่งพระวัจนะของพระผู้เป็นเจ้า

“ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนของผู้ปฏิเสธ” ย่อมถูกใช้ไปด้วยความมืดมิดแห่งจิตวิญญาณ ขณะที่ “บรรดามุสลิม” ใช้เวลาทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืนของเขาด้วยแสงสว่างแห่งจิตวิญญาณ ดังนั้น “คำถามหนึ่งจึงเกิดขึ้นมา” คือ บรรดามุสลิมแต่ละคนนั้นควรใช้ชีวิตของเขาทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืนอย่างไรเพื่อที่จะทำให้การดำเนินชีวิตของเขานั้นแตกต่างจากชีวิตของบรรดาผู้ปฏิเสธ

มุสลิมแต่ละคน ควรใช้เวลาของเขาทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืนของเขา ด้วยสิ่งเหล่านี้

  1. จงแสวงหาความรู้ด้านศาสนาที่สอดคล้องต่อความจำเป็นของคุณ คุณสามารถที่จะแสวงหาความรู้ได้ด้วยการอ่านหนังสือ หรือแสวงหาความรู้จากบรรดาอุลามะฮฺ
  2. จงยับยั้งจากการกระทำบาปทั้งหลาย
  3. หากคุณกระทำความผิดบาปอย่างใดอย่างหนึ่ง จงทำการขออภัยโทษ สำนึกผิดต่ออัลลอฮฺโดยทันที
  4. จงอย่าล้าช้าในการเติมเต็มสิทธิของผู้อื่น จงอย่าสร้างความเจ็บปวดใดๆ ต่อผู้คนไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา และจงอย่ากล่าวร้ายต่อใคร
  5. จงอย่ามีความรักต่อ “ทรัพย์สิน” หรือ “ความใคร่ปรารถนาต่อการมีชื่อเสียง หรือเกียรติยศใดๆ”  จงอย่าทำให้ตัวของคุณต้องหมกมุ่นอยู่กับการกินดื่มหรือการแต่งกายที่ฟุ่มเฟือย
  6. หากมีผู้ใดก็ตามที่ประนามด่าทอความผิดหรือความผิดพลาดใดๆ ของคุณ จงอย่าพยายามหาเหตุผลแก้ตัวต่อการกระทำของคุณ จงยอมรับในความผิดนั้นและสำนึกผิดเสีย
  7. จงอย่าเดินทางหากไม่มีความจำเป็นใดๆ ด้วยเพราะว่า “การกระทำที่ผิดพลาด (ในการทำอิบาดะฮฺ)” อาจเกิดขึ้นขณะเดินทาง คุณอาจพลาดจากการกระทำความดีงามมากมาย  เพราะมันอาจเกิดความบกพร่องในรูปแบบที่แตกต่างกันของการซิเกรฺ (การรำลึกถึงอัลลอฮฺ) และคุณอาจไม่สามารถที่จะปฏิบัติศาสนกิจภายในเวลาได้ (ขณะเดินทาง)
  8. จงอย่าหัวเราะหรือพูดมากจนเกินไป คุณควรระมัดระวังเป็นพิเศษในการที่จะไม่พูดคุยกับ “กอยัรฺ มะหฺรอม”  (คือผู้ที่ไม่สามารถแต่งงานกันได้ในช่วงเวลาหนึ่ง และอาจที่จะสามารถแต่งงานกันได้ในภายหลัง เช่นพี่เลี้ยง ที่ได้รับการเลี้ยงดู อุปการะ, หรือลูกพี่ลูกน้อง เป็นต้น) ด้วยวิธีการพูดคุยเป็นกันเอง*กอยัรฺ มะหฺรอม (Ghayr Mahrams) หมายรวมถึงผู้ชายทุกคนที่สตรีสามารถแต่งงานด้วยได้ (ตัวอย่างเช่นญาติพี่น้อง หรือผู้ชายทั่วไป) หรือผู้ชายที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้แต่งงานด้วยได้ในช่วงเวลาหนึ่ง และอาจจะสามารถแต่งงานกับเธอได้ในอนาคต เนื่องด้วยสภาพหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หรืออีกนัยหนึ่งนั้น หมายถึง “ผู้ชาย” ที่ไม่ได้รับการอนุมัติชั่วระยะเวลาหนึ่ง (ยกตัวอย่างเช่น “สตรีมุสลิมที่แต่งงานแล้ว” ย่อมเป็นที่ต้องห้ามในการที่จะแต่งงานกับมุสลิมชายอีกคนหนึ่ง ตราบใดที่เธอยังคงสถานะการแต่งงานอยู่ หากแต่เมื่อเธอได้หย่าขาดจากสามีเดิมและผ่านช่วง “อิดดะฮฺ” (ช่วงเวลาการรอคอยหลังจากการหย่า) ไปแล้ว เธอย่อมสามารถที่จะแต่งงานกับมุสลิมชายอีกคนได้ และเขาก็ไม่เป็นที่ต้องห้ามสำหรับเธออีกต่อไป)

    Ref: http://www.islamicinformation.net/2008/07/mahram-in-islam-explained.html

  9. จงอย่าบอกเล่าหรือพูดเกี่ยวกับ “การโต้แย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคน” ให้ผู้อื่นทราบ
  10. พึงระวังเกี่ยวกับ “กฏชารีอะฮฺ” ในทุกๆ การกระทำของคุณ
  11. จงอย่าแสดงความเกียจคร้านในการทำอิบาดะฮฺใดๆ ก็ตาม
  12. จงพยายามใช้เวลาส่วนใหญ่ของคุณในการที่จะอยู่เพียงลำพัง (เพื่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ :เพิ่มเติมโดยผู้แปล)
  13. หากคุณจำต้องพบปะหรือสนทนากับผู้คน จงแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนและไม่แสดงตัวเหนือกว่าพวกเขา
  14. คุณควรที่จะคบค้าสมาคมกับบรรดาผู้นำและบรรดาผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงให้น้อยที่สุด
  15. จงออกห่างจากบรรดาผู้ที่ไร้ศาสนาให้มากที่สุด
  16. จงอย่าแสวงหาความผิดของผู้อื่น และอย่าคิดไม่ดีต่อพวกเขา หากแต่จงมองหา “ความผิดของตัวคุณเอง” และพยายามปรับปรุงแก้ไขสิ่งเหล่านั้นเสีย
  17. คุณควรให้ความสำคัญต่อ “การละหมาด” ด้วยมรรยาทที่ดีงาม ในเวลาที่เหมาะสม และสำรวมตนในเวลาละหมาด (คุชัวะอฺ)
  18. จงทำให้ตัวของคุณยุ่งอยู่กับการรำลึกถึงอัลลอฮฺ (การซิเกรฺ) ไม่ว่าจะด้วยใจของคุณหรือลิ้นของคุณ จงอย่าละเลยสิ่งนี้ไม่ว่าจะเมื่อใดก็ตาม
  19. หากคุณประสบกับความพึงพอใจใดๆ ในการรำลึกถึงพระนามของอัลลอฮฺ และหัวใจของคุณรู้สึกถึงความสุขต่อสิ่งนี้ จงทำการสรรเสริญ ขอบคุณต่ออัลลอฮฺ
  20. จงพูดด้วยวิธีการที่ดีและมีความนอบน้อม
  21. บริหารเวลา จัดตารางเวลาสำหรับหน้าที่การงานทั้งหลายของคุณและปฏิบัติตามมันอย่างเคร่งครัด
  22. ใคร่ครวญต่อความเศร้าโศก ความเสียใจ หรือความสูญเสียที่คุณประสบว่า สิ่งเหล่านั้นมาจากพระประสงค์ของอัลลอฮฺ จงอย่าท้อแท้ สิ้นหวัง หากแต่จงรำลึกว่าคุณย่อมได้รับรางวัลการตอบแทนจากสิ่งที่คุณได้ประสบ
  23. จงอย่าใช้เวลาทั้งหมดไปกับการนึกถึง “เรื่องราวของโลกดุนยา” “การคิดคำนวณ” “กำไร” หรือ “ขาดทุน” เป็นต้น หากแต่จงรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก
  24. จงพยายามให้ความช่วยเหลือและกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  โดยไม่คำนึงว่า “การกระทำนั้นๆ” จะเป็นกิจการในโลกดุนยาหรือกิจการด้านศาสนาก็ตาม
  25. จงอย่ากินและดื่มน้อยจนเกินไป จนทำให้ร่างกายของคุณอ่อนแอ และล้มป่วยลง และอย่ากินหรือดืมมากจนเกินไป จนทำให้คุณเกิดความเกียจคร้านในการปฏิบัติอิบาดะฮฺทั้งหลาย
  26. จงอย่ามีความปรารถนาหรือความโลภต่อสิ่งใดๆ จากผู้คน เว้นแต่อัลลอฮฺ จงอย่าปล่อยให้จิตใจของคุณหมกมุ่นกับความคิดที่ว่าคุณจะได้รับกำไร หรือผลประโยชน์จากที่นั่น ที่นี่ เพียงใด
  27. จงอย่าหยุดนิ่งในการแสวงหาความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮฺ
  28. จงขอบคุณต่อทุกๆ ความโปรดปรานที่คุณได้รับ โดยไม่คำนึงว่ามันมากหรือน้อยเพียงใด จงอย่าโศกเศร้าเสียใจต่อความยากจนขัดสน
  29. จงมองข้ามความผิดและความผิดพลาดของผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของคุณ
  30. หากคุณทราบถึงความผิดของใครสักคน จงปกปิดมันแก่เขา อย่างไรก็ตาม หากคนคนนั้นวางแผนที่จะประสงค์ร้ายต่อผู้อื่น และคุณรับทราบเกี่ยวกับเรื่องนึ้ คุณควรเตือนให้อีกฝ่ายรับทราบ (เพื่อให้เขาระวังและป้องกันตัว)
  31. จงให้การต้อนรับแขกผู้มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นผู้เดินทางมาไกล คนแปลกหน้า บรรดาอุลามะฮฺ หรือบ่าวผู้ศรัทธาของอัลลอฮฺ
  32. จงเลือกคบเพื่อนที่ดี มีคุณธรรม
  33. มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺตลอดเวลา
  34. จงรำลึกถึงความตาย
  35. หาช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในแต่ละวันไว้สำหรับการใคร่ครวญ พิจารณาถึงการกระทำทั้งหลายที่คุณได้ทำในแต่ละวัน เมื่อคุณตระหนักถึงความดีงามที่คุณได้กระทำ จงทำการสรรเสริญขอบคุณอัลลอฮฺ และเมื่อคุณตระหนักถึงความผิดบาปที่คุณได้กระทำ จงทำการสำนึกผิดต่ออัลลอฮฺ
  36. จงอย่าพูด “โกหก”
  37. จงอย่าเข้าร่วมในกิจการ หรือกลุ่มคน ที่มีความขัดแย้งกับหลักชารีอะฮฺ
  38. จงดำเนินชีวิตด้วยความละอาย ความอ่อนน้อม ถ่อมตน และความอดทนอดกลั้น
  39. จงอย่าภาคภูมิใจต่อตัวคุณเอง โดยคิดว่า “ฉันมีคุณสมบัติดีดีมากมาย ในตัวฉัน”
  40. จงขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺตลอดเวลาให้พระองค์ทรงทำให้คุณยึดมั่น และยืนหยัดอยู่ในหนทางที่ถูกต้องนี้

Read Full Post »

 แหล่งที่มา: The Beloved Companions: Abu Huraira by Amr Khaled
(English) Translated by the www.daralislamlive.com team
ถอดความ بنت الاٍسلام 

ท่านอบู ฮุร็อยเราะหฺเป็นผู้ที่มีทัศนคติที่ดีงามต่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะสัลลัมเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มารดาของท่านอบู ฮุร็อยเราะหฺไม่ใช่ “มุสลิม” และนางเองก็ปฏิเสธที่จะเข้ารับอิสลาม แต่ทว่า ท่านอบู ฮุร็อยเราะหฺไม่เคยหยุดเรียกร้องให้นางเข้ามาอยู่ในหนทางแห่งอัลลอฮฺ ท่านมักจะพูดคุยกับนางเกี่ยวกับอิสลามทุกๆ ครั้งที่ท่านพบนาง หากแต่นางก็ตอบโต้ท่านด้วยความหยาบกร้าวเสมอ

ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านอบูฮุร็อยเราะหฺไปหามารดาของท่าน นางได้กล่าวร้ายเกี่ยวกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม อีกทั้งยังได้ด่าทอท่านเราะสูลด้วย เมื่อท่านอบู ฮุร็อยเราะหฺไปพบท่านเราะสูลทั้งน้ำตา ท่านเราะสูลจึงถามท่านว่าเกิดสิ่งใดขึ้นกับท่าน

ท่านจึงตอบว่า “ท่านเราะสูล มารดาของฉันปฏิเสธอิสลาม และวันนี้ฉันได้ขอร้องให้นางเข้ารับอิสลาม  แต่นางได้กล่าวเกี่ยวกับท่านในสิ่งที่ฉันเกลียด โอ้ ท่านเราะสูล ได้โปรดวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้ประทานทางนำแก่มารดาของฉันด้วยเถิด”

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงยกมือทั้งสองข้างขึ้นฟ้า และกล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮฺ โปรดประทานทางนำแก่มารดาของอบู ฮุร็อยเราะหฺด้วยเถิด โอ้ อัลลอฮฺ โปรดประทานทางนำแก่มารดาของอบูฮุร็อยเราะหฺด้วยเถิด”

ท่านอบู ฮุร็อยเราะหฺกล่าวว่า “ฉันจึงจากท่านเราะสูล เพื่อเดินทางกลับไปยังบ้านของฉัน ฉันเดินกลับบ้านอย่างมีความสุขด้วยเพราะการวิงวอนของท่านเราะสูล จนกระทั่งฉันมาถึงบ้าน  มารดาของฉันได้ยินเสียงเดินของฉัน ก่อนที่ฉันจะเคาะประตูบ้าน นางกล่าวว่า “อบู ฮุร็อยเราะหฺ  จงหยุดอยู่ตรงนั้น” ฉันรู้สึกหวาดกลัว ดังนั้นฉันจึงหยุดอยู่ตรงนั้น เมื่อนางเปิดประตูออกมา นางกล่าวต่อฉันว่า “อบู ฮุร็อยเราะหฺ เอ๋ย ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมมัด คือศาสนทูตของพระองค์”

ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงกลับไปยังท่านเราะสูลพร้อมด้วยน้ำตาอีกครั้ง และฉันกล่าวต่อท่านว่า “โอ้ ท่านเราะสูล จงยินดีเถิด อัลลอฮฺทรงตอบรับการวิงวอนของท่านแล้ว”

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงนั่งลง ทำการสรรเสริญขอบคุณอัลลอฮฺ เมื่อท่านอบู  ฮุร็อยเราะทราบว่า “การวิงวอนขอของท่านเราะสูล” ได้รับการตอบรับ ท่านจึงขอให้ท่านเราะสูลทำการวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้ท่านอีกหนึ่งอย่าง

ท่านขอให้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม วิงวอนขอให้แก่ท่านและมารดาของท่าน ขอให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายนั้นรักพวกท่าน  และขอให้พวกท่านทั้งสองรักบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายด้วย

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงยกมือขึ้นฟ้า และกล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮฺ โปรดทำให้บรรดาผู้ศรัทธารักบ่าวคนนี้ และทำให้เขารักบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายด้วยเถิด”

ท่านอบู ฮุร็อยเราะหฺจึงกล่าวว่า “ดังนั้น บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายที่ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับฉัน แม้ว่าเขาจะไม่เห็นฉันจนถึงวันแห่งการตัดสิน ต่างก็รักฉัน”

Read Full Post »

แหล่งที่มา How To Poison Your Mother-in-Law….
http://idealmuslimah.com/component/content/article/130-how-to-poison-your-mother-in-law
ถอดความ บินติ อัลอิสลาม

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วที่ประเทศจีน มีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อว่า “ลีลี่” เมื่อเธอแต่งงาน เธอได้ออกไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสามี และแม่สามีของเธอ เพียงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ลีลี่พบว่าเธอไม่สามารถที่จะเข้ากันกับแม่ของสามีได้เลย

ด้วยเพราะอุปนิสัยที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก  ลีลี่เองก็โกรธเคือง ไม่พอใจต่อนิสัยหลายๆ อย่างของแม่สามี อีกทั้งนางก็มักที่จะกล่าวตำหนิลีลี่อยู่เสมอ

แต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ผ่านไป ลีลี่และแม่สามีก็ไม่เคยหยุดทะเลาะ โต้เถียงกันเลยแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้นคือ ตามธรรมเนียมของคนจีนโบราณนั้น ลีลี่จำต้องทำการคำนับแม่สามีและเชื่อฟัง ปฏิบัติตามความต้องการของนางนั่นเอง

“ความโกรธและความไม่สงบสุขทั้งหลาย” ที่เกิดขึ้นภายในบ้านกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้สามีของลีลี่เป็นทุกข์อย่างหนัก

ท้ายที่สุด ลีลี่จึงไม่สามารถอดทนต่ออารมณ์ฉุนเฉียวและการกดขี่ข่มเหงของแม่สามีของเธอได้อีกต่อไป เธอจึงตัดสินใจที่จะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหานี้

ด้วยเหตุนี้ ลีลี่จึงเดินทางไปพบกับเพื่อนสนิทของพ่อเธอ ชื่อว่านายหวง เขามีร้านขายสมุนไพร (ยา) อยู่ เมื่อเธอได้พบกับเขา เธอจึงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้เขาฟัง และขอให้เขาออกยาพิษให้กับเธอ เพื่อที่เธอจะได้นำมันไปใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้หมดไป นายหวงใช้เวลาครุ่นคิดอยู่พักหนึ่ง และบอกต่อเธอว่า

“ลีลี่ ลุงจะช่วยหนู แก้ไขปัญหาของหนู แต่หนูต้องฟังลูง และเชื่อในสิ่งที่ลุงกำลังจะบอกกับหนู”

ลีลี่ตอบว่า “ค่ะ คุณลุงหวง หนูจะทำตามสิ่งที่คุณลุงบอก”

จากนั้นนายหวงจึงเดินเข้าไปในห้องหลังบ้าน และกลับมาพร้อมกับห่อสมุนไพร และบอกกับลีลี่ว่า “หนูไม่สามารถที่จะใช้ยาพิษที่ออกฤทธิ์เร็วกับแม่ของสามีหนุได้ เพราะมันจะทำให้ผู้คนเกิดความสงสัย ดังนั้นลุงจะให้สมุนไพรบางส่วนที่มันจะค่อยๆ สร้างพิษในร่างกายของนาง และทุกๆ วันหนูจะต้องเตรียมอาหารอร่อยๆ และใส่สมุนไพรนี้ลงไปเพียงเล็กน้อย ตอนที่นำไปให้นาง จากนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครสงสัยหนูเมื่อนางตาย หนูก็ควรที่จะระมัดระวังอย่างมากและปรนนิบัติต่อนางอย่างดี อย่าทะเลาะกับนาง และจงเชื่อฟัง ทำตามทุกๆ สิ่งที่นางร้องขอ และปฏิบัติต่อนางเสมือนว่านางคือราชินีคนหนึ่ง”

ลีลี่รู้สึกพึงพอใจกับสิ่งที่ได้รับจากลุงหวง เธอจึงขอบคุณเขา และรีบเดินทางกลับบ้าน เพื่อเริ่มดำเนินการวิธีการฆาตรกรรมแม่สามีของเธอ

หลายสัปดาห์ผ่านไป หลายเดือนผ่านไป และเช่นทุกๆ วัน ลีลี่ให้การปรนนิบัติและทำอาหารดีดีไปให้กับแม่สามี เธอนึกถึงถึงสิ่งที่ลุงหวงได้บอกกับเธอเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้คนสงสัย ดังนั้นเธอจึงควบคุมอารมณ์ความโกรธของเธอ และเชื่อฟังแม่ของสามี และปฏิบัติต่อนางเช่นเดียวกับที่เธอปฏิบัติกับแม่ของเธอ 6 เดือนผ่านไปหลังจากนั้น บรรยากาศภายในบ้านเริ่มเปลี่ยนไป

ที่ผ่านมาลีลี่ได้ฝึกควบคุมอารมณ์โกรธของเธออย่างมาก จนกระทั่งเธอพบว่าเธอแทบจะไม่โกรธ หรือรู้สึกขุ่นเคืองใดๆ เลย เธอไม่ได้ทะเลาะกับแม่ของสามีมาเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพราะตอนนี้นางดูมีทีท่าทีที่ดี อ่อนโยนขึ้น และง่ายที่จะเข้าหา

ทัศนคติของแม่สามีที่มีต่อลีลี่เปลี่ยนไป และนางเริ่มที่จะรักลีลี่เสมือนลูกสาวของนางเอง อีกทั้งนางยังได้บอกเล่าต่อเพื่อนๆ และญาติพี่น้องของนางว่า ลีลี่คือลูกสะใภ้ที่ดีที่สุดที่ใครสักคนจะสามารถหาได้  ถึงตอนนี้ ทั้งลีลี่และแม่สามีต่างปฏิบัติดีต่อกันเช่นเดียวกับที่แม่และลูกสาวในสายเลือดปฏิบัติต่อกัน

สามีของลีลี่เองก็มีความสุขมากที่ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในบ้าน

วันหนึ่ง ลีลี่ได้ไปพบกับนายหวงและขอความช่วยเหลือจากเขาอีกครั้งหนึ่ง เธอพูดกับเขาว่า “คุณลุงหวงคะ ได้โปรดช่วยหนูด้วย ช่วยถอนพิษยาให้แม่สามีของหนูด้วย ตอนนี้แม่เป็น “แม่ที่ดี” และหนูก็รักท่านเหมือนกับแม่ของหนูเอง หนูไม่อยากให้ท่านตายเพราะยาพิษที่หนูให้ท่าน”

นายหวงยิ้ม และพยักหน้า “ลีลี่ ไม่มีอะไรต้องห่วงหรอกนะ ลุงไม่เคยให้ยาพิษอะไรกับหนูเลย สมุนไพรที่ลุงให้ก็คือยาบำรุงที่ช่วยทำให้สุขภาพของนางดีขึ้น “ยาพิษอย่างเดียวที่มี” ก็คือสิ่งที่อยู่ที่ความคิดและทัศนคติที่หนูมีต่อนางเท่านั้น แต่ตอนนี้มันก็ถูกชำระล้างออกไปหมดแล้ว ด้วยความรักที่หนูได้มอบให้แก่นาง”

Read Full Post »

“จดหมายจากอิหม่ามสุฟยานถึงพี่น้องแห่งอิสลาม”
แหล่งที่มา http://www.ahlalhdeeth.com/vbe/showthread.php?t=10633
ถอดความ บินติ อัลอิสลาม

จากชีวประวัติของอิหม่ามสุฟยาน อัษเษารียฺ โดย ศอลาฮุดดีน อิบนุ อะลี อิบนุ อับดุล เมาญูด  หน้าที่ 181-182

ครั้งหนึ่ง อีหม่ามสุฟยานได้เขียนจดหมายไปยังพี่น้องมุสลิมีนของท่าน โดยมีเนื้อความว่า

“ฉันขอตักเตือนพวกท่านและตัวของฉันเองให้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺและฉันขอเตือนท่านมิให้กลับไปสู่ “ความโง่เขลา” หลังจากที่ได้มี “ความรู้” มายังท่านแล้ว จงอย่ากลับไปสู่ “การทำลาย” หลังจากที่ท่านได้เห็นและทราบถึง “สัจธรรม” และจงอย่าละทิ้ง “หนทาง (อันเที่ยงตรง)” หลังจากที่มันได้ถูกทำให้ชัดแจ้งต่อท่านแล้ว

จงอย่าหลงเชื่อผู้คนแห่งดุนยา จงอย่าหลงไหลต่อ “ความทุ่มเทและความพยายามของพวกเขาในการสะสมสิ่งต่างๆ บนโลกนี้” ด้วยความโลภอย่างหน้ามืดตามัว เพราะ “ความน่าสะพรึงกลัว” (ที่จะเกิดขึ้นในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ) นั้นรุนแรงยิ่งนัก

แท้จริง อันตราย (ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ) นั้นร้ายแรงยิ่ง แต่สิ่งที่น่ากลัวมากกว่านั้นคือมันใกล้เข้ามายังพวกเราแล้ว

ดังนั้นท่านจงมุ่งมั่นต่ออาคิเราะฮฺเถิด และจงทำให้หัวใจของท่านปราศจากความคิดอื่นๆ ทั้งหลาย เมื่อท่านทำเช่นนั้นได้แล้ว จงเพียรพยายามอย่างหนัก จงอย่าสูญเสียเวลาอันมีค่า และจงเป็นอิสระจากโลกดุนยานี้และจงเป็นอิสระจากการล่อลวงของมัน จงเดินทางไปยังอาคิเราะฮฺ (ด้วยการอิบาดะฮฺของท่าน) ก่อนที่ท่านจะถูกนำไป ณ ที่นั่น แท้จริงฉันได้ให้คำตักเตือนต่อท่าน เช่นเดียวกับคำตักเตือนที่ฉันได้ให้ต่อตัวของฉันเอง

และพึงตระหนักเถิดว่า “ความสำเร็จ” มาจากอัลลอฮฺ (ซุบฮานะฮู วะตะอาลา) และ “กุญแจ” ที่ไขไปสู่การได้มาซึ่ง “ความช่วยเหลือของพระองค์” คือการวิงวอนขอ (ดุอาอฺ) การละหมาด ความรู้สึกเสียใจต่อความเพิกเฉยในอดีต และการยอมจำนนต่อพระองค์โดยสมบูรณ์

กลางวันและกลางคืนของท่านถูกคำนวณนับ เช่นนั้นจงใช้เวลาที่ท่านมีเหลืออยู่อย่างชาญฉลาด และจงอย่าเพิกเฉยต่อการเติมเต็มสิทธิของพระเจ้าของท่าน

ฉันวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ พระผู้ทรงอำนวยพรเราทั้งหลายให้ได้รู้จัก “พระองค์”  ขอพระองค์ทรงอย่าปล่อยให้เราและท่านมอบหมาย (การงาน การดำเนินชีวิต) ไว้กับตัวของเราเอง และฉันขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ทรงเป็นผู้ชี้นำและผู้ทรงช่วยเหลือแก่พวกเราทั้งหลาย ดังเช่นที่พระองค์ทรงเป็นผู้ชี้นำและผู้ช่วยเหลือต่อบ่าวผู้ศรัทธาอันเป็นที่รักของพระองค์

พึงระวังการกระทำในสิ่งที่จะทำลายการงานทั้งหลายของท่าน “พึงรู้เถิดว่า “การโอ้อวด” คือสิ่งที่ทำลายการงานที่ดีของบุคคลคนหนึ่ง และหากว่ามันไม่ใช่ “การโอ้อวด” มันก็คือ “ความทะนงตน” สำหรับท่าน ที่เชื่อว่าตัวของท่านดีกว่าพี่น้องมุสลิมของท่าน ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น เขากระทำความดีงามมากกว่าท่าน หรือบางทีเขาอาจออกห่างจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสั่งห้ามมากกว่าท่าน หรือบางทีเขาอาจกระทำความดีงามด้วยความบริสุทธิ์ใจมากกว่าท่านก็เป็นได้ และหากว่าท่านมิได้มี “ความทะนงตน” ก็จงพึงระวังการหลงไหลต่อการสรรเสริญ พึงระวังอย่างมากที่จะไม่ปล่อยให้เกิดความหลงไหลต่อคำชื่นชมสรรเสริญของผู้คนต่อการงานที่ดีทั้งหลายของท่าน หรือหลงไหลต่อ “การเคารพนับถือ” ที่พวกเขารู้สึกและปฏิบัติต่อท่านอันเนื่องมาจากการงานที่ดีทั้งหลายของท่าน และพึงระวังความปรารถนาว่าผู้คนทั้งหลายควรให้ความช่วยเหลือต่อท่านในเรื่องส่วนตัวเพียงเพราะว่าพวกเขาชื่นชมต่อการงานที่ดีของท่าน  แน่นอนว่า ท่านกล่าวอ้าง (เช่นที่ผู้คนกล่าวอ้าง) ว่าท่านกระทำการงานทั้งหลายเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น หากเช่นนั้น จงนำ “การกล่าวอ้าง” นั้นไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริงเถิด

หากท่านต้องการที่จะมี “ความปรารถนาต่อสิ่งของ ทรัพย์สิน ความพึงพอใจบนโลกใบนี้” ให้น้อยลง และต้องการที่จะมี “ความปรารถนาต่อสวนสวรรค์ ความสุขอันล้นพ้น ในโลกอาคิเราะหฺ” เช่นนั้นท่านจงรำลึกถึงความตายให้บ่อยครั้งเถิด

และพึงรู้เถิดว่าท่านย่อมมีความหวังอันยาวไกลต่อโลกดุนยานี้ อันเป็นความหวังที่ท่านไม่ควรมี  หากท่านเกรงกลัวอัลลอฮฺเพียงเล็กน้อย และกระทำความผิดอยู่เป็นนิจ

และบุคคลหนึ่งย่อมเศร้าโศกเสียใจและเป็นทุกข์ในวันกิยามะฮฺ หากว่าเขามีความรู้ หากแต่เขามิได้ปฏิบัติมัน” 

Read Full Post »

เด็กหนุ่ม กับ คุ้กกี้
แหล่งที่มา
คลิปวิดีโอ http://www.youtube.com/watch?v=HQZONHP-YII
ถอดความ บินติ อัลอิสลาม

เรื่องราวต่อไปนี้ถูกถ่ายทอดโดยชัยคฺมุหัมมัด อัลชะฮฺรอนียฺ  (นักวิชาการประเทศซาอุดิอารเบีย)

ชัยคฺเล่าว่า

“ผมรู้จัก “เด็กหนุ่มคนนี้” ด้วยตัวของผมเอง  และผมไม่ได้บอกว่า “เขา” มาจากลูกหลานของชาวอิสรออีล หากแต่เขามาจากลูกหลานแห่งผืนแผ่นดินนี้ (ซาอุดิอารเบีย) เขามักจะหลั่งน้ำตาอยู่เป็นนิจ และเขาไม่เคยอ่านอัลกุรอานโดยที่เขาไม่ร้องไห้ เขาเป็นคนที่พิเศษ และเป็นคนแปลก

“เขา” สามารถท่องจำอัลกุรอานได้ ขณะที่เขามีอายุเพียงแค่สิบสองปี อย่างไรก็ตาม เขามีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าอายุจริงของเขา ด้วยเพราะถ้อยคำของอัลลอฮฺและความรู้ที่เขามีเกี่ยวกับอัลลอฮฺ และผมไม่ได้ให้สถานะเขาสูงยิ่งไปกว่าที่อัลลอฮฺทรงประทานแก่เขา

ผมเล่าเรื่องราวของ “เด็กหนุ่มคนนี้” ให้พวกคุณทราบ โดยที่ผมได้วางเงื่อนไขหนึ่งต่อตัวผมเองว่า ผมจะไม่เล่าเรื่องเกินกว่าสิ่งที่ผมได้เห็นด้วยตาของผมเอง เงื่อนไขที่สองที่ผมวางไว้ต่อตัวผมเองคือ ผมจะไม่กล่าวเกินความจริงในสิ่งใดๆ ก็ตามที่ผมจะบอกกล่าวเกี่ยวกับเขา

“เขา” ท่องจำ “เศาะหียฮฺ มุสลิม” กับผมภายในสองสัปดาห์ และเขาท่องจำ “เศาะหียฮฺ อัลบุคอรียฺ”  กับเพื่อนอีกคนของผม (เรามีกันสามคน) ภายในสองสัปดาห์ พวกคุณตระหนักหรือไม่? ซึ่งขณะนั้นผมไม่ทราบว่าเขาสามารถท่องจำท่องจำอัลบุคอรียฺได้ และเพื่อนผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาสามารถท่องจำมุสลิมได้

“เด็กหนุ่มคนนี้” รัก “ความอิคลาส”  เขาชื่นชอบอัซซิรฺรียฺ  อัซซอกฺตียฺ ( as-Sirri as-Saqti). คุณรู้หรือไม่ว่าเพราะอะไรเขาถึงชอบ อัซซิรฺรียฺ  อัซซอกฺตียฺ เป็นพิเศษ? เพราะว่าอัซซิรฺรียฺ  อัซซอกฺตียฺ นั้นเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อ “ความอิคลาส” เป็นอย่างมาก

“เด็กหนุ่มคนนี้” เป็นคนที่เรียนเก่งมากในโรงเรียน  หรือเป็นที่หนึ่งในโรงเรียนก็ว่าได้  เขาจะนอนระหว่างเวลาที่เขากลับจากโรงเรียนจนกระทั่งเวลาดุฮฺริ  หลังจากอัสรฺ เขาจะเข้าร่วมฮะลาเกาะฮฺ หลังมัฆริบ เขาจะเข้าฟังบทเรียนของอุลามะฮฺ หลังจากอีชาถึงห้าทุ่มเขาจะทบทวนบทเรียนจากโรงเรียน และจากห้าทุ่มทุกๆ วัน เขาจะละหมาดทั้งคืนจนถึงฟัจรฺ

ผมไม่ได้กล่าวเกินความจริง “เขา” มาจากลูกหลานของเรา จากประเทศของเรา! (ซาอุดิอาระเบีย)

เมื่อใดก็ตามที่ “เขา” อ่านอัลกุรอาน เขามักจะร้องไห้

ผมเคยอ่านเรื่องราวที่ว่า เมื่อสลัฟบางท่าน อ่านอัลกุรอาน พวกเขาก็จะเป็นลมล้มพับไป ผมทราบเรื่องนี้จากบรรดาอุลามะอฺ แต่ผมก็ไม่เคยเห็นมันด้วยตาของผมเอง แต่ผมได้เห็นมันจาก “เด็กหนุ่มคนนี้”

เราเคยละหมาดญุมอะอฺร่วมกัน และเมื่ออิม่ามอ่านอัลกุรอานอายะหฺที่ว่า “และชาวนรกได้ร้องเรียกชาวสวรรค์ว่า จงเทน้ำมาให้แก่พวกเราด้วยเถิด” (อัล อะร๊อฟ 50)

“เขา” ก็เป็นลมล้มพับไป จนเราคิดกันว่าเขาได้เสียชีวิตแล้ว

คืนหนึ่งเราละหมาดกันที่บ้านของผม ผมแสร้งว่าผมนอนหลับอยู่ เพื่อที่จะดูว่าเขาจะทำอะไรบ้าง จากนั้น “เขา” ได้เดินมาที่ผมและโบกมือไปมาตรงตาของผม (เพื่อดูว่าผมยังตื่นอยู่หรือไม่) เขาตื่นขึ้นมาตอนห้าทุ่ม และผมก็หลับๆ ตื่นๆ ระหว่างนั้นเขายืนละหมาดในร็อกอัตฺและผมก็ไม่เห็นว่าเขาจะมีทีท่าว่าจะก้มตัวลงเลย จากนั้นผมก็เห็นเขาก้มตัวลง และผมก็ไม่เห็นว่าเขาจะมีทีท่าจะลุกขึ้นเลยเช่นกัน

อีกคืนหนึ่ง “เขา” ก็อ่านอัลกุรอาน และ เมื่อ “เขา” อ่านถึงอายะหฺนี้ ต่อหน้าผม

“แท้จริงมันคือไฟนรก หนังศีรษะถูกลอกออก (เพราะความร้อนของไฟนรก)” (อัลกุรอาน 70:15-16)

จากนั้น “เขา” ก็ร้องไห้ และเป็นลมไป ผมปลุกให้เขาตื่น เมื่อเขาตื่น เขาก็อาบน้ำละหมาด และละหมาด เมื่อเขาอ่านถึงอายะนี้อีกครั้ง

“แท้จริงมันคือไฟนรก หนังศีรษะถูกลอกออก (เพราะความร้อนของไฟนรก)” (อัลกุรอาน 70:15-16)

“เขา” ก็ร้องไห้และเป็นลมไปอีกครั้ง ผมปลุกเขาขึ้นมาอีก และเมื่อเขาอ่านถึงอายะนี้เป็นครั้งที่สาม เขาก็เป็นลมอีกและไม่ได้ตื่น จนกระทั่งอะซานฟัจรฺ

“เด็กหนุ่มคนนี้”  จะอ่านอัลกุรอานจบทั้งเล่ม ทุกๆ สามคืนอย่างลับๆ  ขณะละหมาดยามค่ำคืน และเขาจะอ่านทุกๆ เจ็ดวันอย่างเปิดเผยระหว่างวัน ผมไม่ได้กล่าวเกินจริง เพราะเขาทำสิ่งนั้นต่อหน้าผม และด้วยพระนามของอัลลอฮฺ เขากล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺในแต่ละวันมากกว่า 12,000  ครั้ง!  ผมนับมันด้วยตัวผมเองขณะที่ผมนั่งอยู่กับเขา จำนวน 12,000 ครั้ง!  ผมถามเขาว่า “ทำไม” เขาตอบว่า “ผมไม่ต้องการให้อบู ฮุร็อยเราะอฺทำสิ่งนี้มากเกินกว่าผม” เขามีความอิจฉา  ความอิจฉาเมื่อมันเกี่ยวกับการอิบาดะฮฺ

“เขา” มีอายุเพียงแต่สิบเจ็ดปี ขณะที่เขามีระดับ (ความศรัทธา)  ขนาดนั้น

ผมไม่รู้ว่าผมจะพูดอย่างไรดีเกี่ยวกับเขา!  เมื่อใดก็ตามที่ “เขา” เจอ “ข้อความหนึ่ง” เพื่อท่องจำ  ผมจะบอกเขาว่า “ผมท้าให้คุณท่องจำข้อความนี้” เขาก็จะบอกกับผมว่า “อย่าท้าผมเลย” ผมก็ท้าทายเขา และบอกว่า “ผมขอท้าคุณ” วันต่อมา เขาก็มาหาผมและท่องข้อความนั้นกับผม เสมือนกับว่ามันเป็นเพียงชื่อเขา  และหากว่าเขามีข้อผิดพลาดในการท่องจำเพียงแค่สามจุด เขาก็จะไม่ถือว่าตัวเขาท่องจำอะไรได้เลย เพียงแค่สามข้อผิดพลาดเท่านั้น!   

และคุณคิดดูสิว่า  “เขาคนนี้” คือผู้ปรารถนาที่จะกลับเนื้อกลับตัว!! หากเพียงคุณทราบว่าบาปของเขาคืออะไร!!

บางครั้งหากเรารู้สึกหมดหวัง ในเวลาที่เราดะวะฮฺต่อใครคนหนึ่ง และรู้สึกหมดหวังในตัวเขา (ที่จะช่วยทำให้เขามาสู่หนทางที่ถูกต้อง) ซึ่งผมหมายถึงตัวของผมเอง (ที่หมดหวัง) และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่งว่าคนอื่นๆ  (จะผิดหวังเช่นผมหรือไม่)

หากแต่ “เด็กหนุ่มคนนี้” คือผู้ที่ “การดุอาอฺของเขา” ได้รับการตอบรับต่อหน้าคนจำนวนสิบเจ็ดคนที่เป็นพยานต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งมีมากกว่าหนึ่งเหตุการณ์

ดังนั้นหากเราสิ้นหวัง (ในการที่จะดะวะฮฺ) ต่อใครคนหนึ่ง เรามักจะขอให้ “เขา” ช่วยไปทำการดะวะฮฺคนคนนั้น

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ หลังจากนั้นเพียงแค่สองวัน “คนคนนั้น” ก็ได้รับทางนำ  “เด็กหนุ่มคนนี้”  ใช้เวลา (ในการดะวะฮฺ) เพียงแค่สองวันเท่านั้น วันที่หนึ่ง วันที่สอง และจากนั้น “คนคนนั้น” ก็เริ่มทำการละหมาดอยู่ในแถวแรก ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนที่สูบบุหรี่ หรือติดยาเสพติด ก็ตาม เขาจะเปลี่ยนแปลงไปโดยทันทีด้วยการอนุมัติของอัลลอฮฺ นี่คือบะเราะกัต มันคือบะเราะกัต!!

วันหนึ่ง เราละหมาดอยู่ด้านหลังอีหม่ามท่านหนึ่งที่ทางภาคใต้ (ของประเทศซาอุดีอารเบีย) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าอีหม่ามท่านนี้จะละหมาดเป็นระยะเวลายาวนาน ดังนั้นอีหม่ามท่านนึ้จึงทำให้การละหมาดยาวนานขึ้น ตามสุนนะฮฺ  เมื่ออีหม่ามได้นำละหมาด สักพักหนึ่งมีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาและตีที่หลังของอีหม่ามท่านนี้ด้วยไม้ขณะที่เขากำลังรูกั้วอยู่ต่อหน้าผม  หลังจากละหมาดเสร็จสิ้น อีหม่ามได้มองไปยังชายคนนั้นและถามเขาว่า “ทำไมคุณถึงตีผม”

ชายคนดังกล่าวตอบว่า “คุณคงได้ยินเสียงกระซีบ (จากชัยฎอน ให้ละหมาดนานขึ้น) คุณทำให้เราละหมาดนานเกินไป”

อีหม่ามจึงตอบว่า “คุณมีสุขภาพที่ดีนะ คุณมีสุขภาพที่ดี!”

ชายคนเดิมตอบว่า “คุณรู้ได้ยังไงว่าผมสุขภาพดี”

จากนั้น “เด็กหนุ่มคนนี้” จึงยกมือของเขาขึ้นต่ออัลลอฮฺ ขณะที่เขายกมือของเขาขึ้น หัวใจของผมแทบหยุดเต้น และเขากล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮฺ ทรงนำเอาสุขภาพที่ดีไปจากเขา จนกว่าเขาจะทราบถึงคุณค่าของการละหมาดและละหมาดเป็นอย่างดีต่อหน้าพระองค์”

ขณะนั้นเป็นเวลาอัสรฺ ผมสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่า ชายคนดังกล่าวไม่ได้มาละหมาดมัฆริบพร้อมกับเรา เพราะเขาอยู่ที่บ้าน นอนอยู่บนเตียง หลังจากนั้นสองสัปดาห์ ผมพบกับเด็กหนุ่มคนดังกล่าว ผมจึงบอกกับเขาว่า “จงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด ชายคนนั้นนอนอยู่บนเตียงที่บ้านของเขา ผมวอนขอคุณด้วยอัลลอฮฺ” เขาตอบผมว่า “พี่ชายของผม ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะทำแบบนั้น” ผมจึงบอกเขาว่า “ได้โปรดวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้ทรงเยียวยาเขาด้วยเถอะ” ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ชายคนดังกล่าวก็กลับมาละหมาดกับเราในเวลาละหมาดถัดจากนั้น

“เด็กหนุ่มคนนี้” มักจะใส่แว่นตาหนาๆ ผมกำลังบอกคุณว่านี่คือ “ผู้สำนึกผิด” จากช่วงเวลาของเรา ผมรู้จักเขา เขาคือเพื่อนของผม ผมมีอายุที่มากกว่าเขา หากแต่เขาดีมากยิ่งกว่าผม ผมไม่ได้ให้สถานะที่สูงส่งแก่เขาเกินกว่าที่อัลลลอฮฺทรงวางมันไว้ให้แก่เขา

“แว่นตาของเขา” มักจะสร้างความรำคาญใจให้กับเขา  วันหนึ่งขณะที่อยู่ในมัสยิดอัลฮะรอม เขาจึงพูดขึ้นมาว่า “ผมไม่สามารถที่จะไปปาเลสไตน์ได้แม้แต่วันเดียวด้วยแว่นตานี้” ดังนั้นเขาจึงเดินไปยังบ่อน้ำซัมซัม ต่อหน้าผู้คนจำนวนสิบเจ็ดคน จากนั้นเขาก็ถอดแว่นออก และเอาน้ำซัมซัมมา พร้อมกับกล่าวว่า“โอ้ อัลลอฮฺ โปรดเยียวยาการมองของข้าพระองค์ด้วยเถิด” และเขาก็ดื่มมัน จากนั้นเขาก็กล่าวว่า “อัลลอฮุ อักบัร” และโยนแว่นตานั้นออกไปต่อหน้าผู้คน พวกเขาต้องการที่จะทดสอบ (ว่าสายตาของเขาดีขึ้นจริงหรือไม่) พวกเขาจึงชี้ไปที่นาฬิกาเรือนหนึ่งซึ่งไม่มีใครที่จะสามารถมองเห็นได้  พวกเขาได้ถามเขาว่า “คุณบอกพวกเขาได้ไหมว่าตอนนี้เป็นเวลาเท่าไร่” เขาตอบว่า “ตอนนี้เวลานั้นเวลานี้”  ซึ่งคำตอบนั้นถูกต้อง  สายตาของกลับมาดีปกติร้อยเปอร์เซ็นต์  เขาก็สามารถอ่านอัลกุรอานได้ดียิ่งขึ้น

แท้จริงแล้ว มันเป็นเพราะดุอาอฺ “และเมื่อเขาวิงวอนขอจากข้า ข้าก็จะให้เขา”  

คุณทราบหรือไม่ว่า วันหนึ่งผมถามเขาเกี่ยวกับ “บาป” ของเขา ผมถามเขาขณะที่เขาอ่านอายะฮฺอัลกุรอาน

“วันที่ บางใบหน้าจะสว่างไสว และบางใบหน้าจะดำคล้ำ” (3:106)

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ เขาร้องไห้จนกระทั่งผมรู้สึกว่าหัวใจของผมกำลังจะฉีกขาด ผมพูดกับเขาว่า“ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “คนที่ชั่วร้ายที่สุด คือคนที่ถูกถามด้วยพระนามของอัลลอฮฺ และไม่ได้รับการตอบกลับ  และผมขอถามคุณด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ว่าอะไรที่ทำให้คุณร้องไห้แบบนี้” ผมอยากจะร้องไห้ได้เหมือนเขา ผมอยากจะรู้สึกถึงความสุขที่เขารู้สึก

เขาตอบว่า “ในชีวิตของผม ผมได้กระทำบาปอย่างหนึ่ง”

ผมถามเขาว่า “บาปนั้นคืออะไรหรือ”

คุณทราบหรือไม่ว่า บาปของเขาคืออะไร คุณคงหัวเราะกับตัวเองแน่ๆ ผมจะเล่าให้คุณฟัง  เขาบอกผมว่า “ตอนที่ผมเรียนอยู่เกรดสอง ผมไปที่ร้านค้าแห่งหนึ่งและผมได้เอาคุกกี้จากร้านนั้นมากิน และไฟนรกนั้นคู่ควรยิ่งต่อร่างกายที่บริโภคสิ่งต้องห้าม  (หมายถืงเขากินคุกกี้ที่ไม่ใช่ของเขา)

อย่างไรก็ตาม เขาเสียชีวิตลง ขณะที่เขาอายุเพียงแค่ยี่สิบปี ขออัลลอฮฺประทานความเมตตาต่อเขาด้วยเถิด เขาเสียชีวิตลงด้วยเพราะกระสุนที่ใครบางคนยิงพลาดมาขณะลองใช้อาวุธนั้น

กระสุนถูกยิงออกมาเข้าสู่ร่างกายของเด็กหนุ่มคนนี้โดยอุบัติเหตุ และมันได้ฆ่าเขาตาย เขาตายเฉกเช่นผู้มีคุณธรรม และผมคิดว่าเขาเป็นเช่นนั้นต่ออัลลอฮฺซุบฮา นะฮู วะตะอาลา

เขาเสียชีวิตลง และมันก็จบลงเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม “เรื่องราวของเขา” ไม่ได้ตายลงไปด้วย และด้วยพระนามของอัลลอฮฺ หากมันไม่ได้เป็นเพราะว่าเขาขอให้ไม่ให้ผมเปิดเผยชื่อของเขาด้วยพระนามของอัลลอฮฺแล้ว ผมก็จะเปิดเผยชื่อของเขาให้ท่านได้ทราบ

หมายเหตุ ผู้แปลไม่ได้แปลตรงตัวตามที่ชัยคฺได้บรรยายไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อเรื่องมากขึ้น จึงได้มีการปรับใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมในการสื่อเรื่องราว

Read Full Post »

การบริจาคเลือดให้กับธนาคารเลือด และการบริจาคเลือดให้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม
*******************

การบริจาคเลือด ให้กับธนาคารเลือด
แหล่งที่มา http://islamqa.com/en/ref/239
ถอดความ  บินติ อัลอิสลาม
 

image

คำถาม

อัสลามุอลัยกุม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮิ วะบาเราะกาตุฮฺ

มันเป็นที่อนุมัติ (สำหรับมุสลิม) หรือไม่ที่จะ “บริจาค” เลือดให้กับธนาคารเลือดในอเมริกา เพราะเลือดที่บริจาคไปนั้น ส่วนใหญ่จะนำไปใช้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม อีกทั้ง มันเป็นที่อนุมัติหรือไม่ที่จะ “รับบริจาค” เลือดจากธนาคารเลือด ทั้งที่ทราบว่าเลือดเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม

เรารักท่านเพื่ออัลลอฮฺ ขออัลลอฮฺประทานรางวัลการตอบแทนแก่ท่าน

คำตอบ

วาลัยกุมมุสลาม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮิ วะบาเราะกาตุฮฺ

อัลฮัมดุลิลละฮฺ

มันเป็นที่อนุมัติที่จะรับบริจาคเลือดจากผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจากธนาคารเลือด แม้ว่าผู้บริจาคจะเป็นกาฟีรฺก็ตาม เช่นเดียวกัน มันก็เป็นการอนุมัติที่จะบริจาคเลือดต่อผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ตราบใดที่พวกเขาไม่ใช่ “ผู้ต่อต้าน (หรือศัตรู) อิสลาม” ซึ่ง “ผู้ต่อต้าน (หรือศัตรู) อิสลามนั้น” คือผู้ที่ต่อสู้กับมุสลิมด้วยอาวุธหรือการเงิน เช่นการต่อสู้ด้วยทรัพย์สินของเขา หรือให้การช่วยเหลือในการต่อสู้กับมุสลิม หากเขาไม่สามารถทราบอย่างแน่นอน (ว่าจะเป็นการบริจาคให้กับศัตรูอิสลามหรือไม่) มันก็เพียงพอสำหรับเขา ที่จะปฏิบัติตาม “ฆุรอบาตฺ อุล ซานนฺ” (การคาดการณ์อย่างสุดความสามารถของคนคนหนึ่ง หรือสิ่งใดก็ตามที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด)

Islam QA ชัยคฺมุหัมมัด อัลมุนัจญิด

—————————————————————

“การบริจาคเลือดให้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม”
แหล่งที่มา http://islamqa.com/en/ref/958

คำถาม

อะไรคือกฎเกณฑ์ของการบริจาคเลือด? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากว่ามันเป็นการบริจาคเลือดในอเมริกา และทราบว่าเลือดที่บริจาคไปนั้น เป็นไปได้ว่ามันจะถูกนำไปใช้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม

คำตอบ

การสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

มันเป็นที่อนุมัติสำหรับมุสลิมในการที่จะบริจาคเลือดให้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม เว้นเสียแต่ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า  “ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม” นั้นอยูในสถานะของผู้ที่ทำการต่อสู้กับมุสลิม (ไม่ว่าจะเป็นการ (ที่เขา) เป็นส่วนหนึ่งในรัฐที่อยู่ในสภาวะสงครามกับมุสลิม หรือการสนับสนุนการต่อต้าน รุกรานบรรดามุสลิมก็ตาม) ซึ่งในกรณีนี้ มันไม่เป็นการอนุมัติ (สำหรับมุสลิม) ที่จะบริจาคเลือด เพราะมันเป็นการช่วยเหลือคนเหล่านั้นในการต่อสู้กับมุสลิม

หากว่า “มุสลิม” ไม่สามารถทราบได้เลยว่าเลือดที่เขาบริจาคไปนั้นจะถูกนำไปใช้อย่างไร เขาควรปฏิบัติตามสิ่งที่เขาคิดว่ามันน่าจะเป็นไปได้ หากเขาคิดว่า “เลือดที่บริจาคไปนั้น” จะถูกนำไปใช้กับ “กาเฟรฺ” ที่ไม่ได้ต่อสูักับมุสลิม มันก็เป็นการอนุมัติที่จะบริจาคเลือดของเขา  และหากเป็นไปในทางที่กลับกัน มันก็ไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับเขา

Read Full Post »

image

แหล่งที่มา Giving sadaqah (charity) to non-Muslims – 3854 – http://islamqa.com/en/ref/3854/helping%20non%20muslim

ถอดความ بنت الاٍسلام
 
คำถาม  

คำถามที่หนึ่ง การทำเศาะดะเกาะฮฺให้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมนั้น สามารถทำได้หรือไม่

คำถามที่สอง มีบางคนที่ (เป็นไปได้ว่าเป็นมุสลิม) ขอทานโดยระบุจำนวนเงิน ตามหลักอิสลามนั้น เราควรปฏิบัติตัวในสถานการณ์นี้เช่นไร? และขอท่านช่วยชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ หากว่าผู้ที่ขอทานนั้นเป็นผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมด้วย

คำถามที่สาม แล้วเราสามารถใช้กฎเกณฑ์ของ “ข้อที่หนึ่ง และข้อที่สอง” สำหรับผู้ที่ติดเหล้า หรือติดยาเสพติดได้หรือไม่ เพราะอาจเป็นไปได้ว่า พวกเขาอาจนำเงินที่ได้รับ ไปใช้ในหนทางที่ผิด

คำตอบ 

การสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

คำถามที่หนึ่ง การทำเศาะดะเกาะฮฺให้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมนั้น สามารถทำได้หรือไม่ 

คำตอบ:: มันเป็นที่อนุมัติในการบริจาค นอกเหนือจากการบริจาคภาคบังคับ (ซะกาตฺ เป็นต้น) ทั้งต่อคนยากจนที่ไม่ใช่มุสลิมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพวกเขาเป็นญาติพี่น้อง หากแต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “พวกเขา” จะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับผู้ที่อยู่ในสภาวะทำการสงคราม (ต่อสู้) กับมุสลิม และไม่ได้มีพฤติกรรมที่ละเมิด (หรือรุกราน) อันเป็นเหตุที่ขัดขวางคุณจากการปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเมตตา อัลลอฮฺตรัสว่า (ความหมายว่า)

“อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าในการปฏิบัติดีด้วยความยุติธรรมและความเมตตาต่อผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องของศาสนาหรือ (ผู้ที่) มิิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้มีความยุติธรรม แต่ว่าอัลลอฮทรงห้ามพวกเจ้าในการที่พวกจะผูกมิตรกับผู้ที่ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนาและขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า และ (ผู้ที่) ช่วยเหลือในการขับไล่พวกเจ้า และผู้ใดผูกมิตรกับพวกเขา ชนเหล่านั้นพวกเขาเป็นผู้อธรรม”  (อัลกุรอาน 60:8-9) *คัดลอกจากอัลกุรอานแปลไทย

อัสมา บินติ อบีบักรฺ (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮา) กล่าวว่า “มารดาของฉันพร้อมกับบิดาของท่าน มาพบฉัน และขณะนั้นท่านเป็นมุชริก (คนนอกศาสนา, ผู้ปฏิเสธศรัทธา) ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่มี “สนธิสัญญาสงบศึก” ระหว่างชาวกุร็อยซฺกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ฉันจึงได้สอบถามท่านเราะสูลว่า “มารดาของฉันได้มาพบฉัน และต้องการความช่วยเหลือ เช่นนั้นแล้วฉันควรรักษาความสัมพันธ์กับท่านหรือไม่” ท่านเราะสูลตอบว่า “ถูกแล้ว จงรักษาความสัมพันธ์กับนาง” (รายงานโดย บุคอรียฺ เลขที่ 2946) 

มีรายงานว่า สตรีชาวยิวคนหนึ่งได้เข้ามาขอทานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮา) และนางได้ให้บางสิ่งบางอย่างแก่สตรีชาวยิวคนนั้น สตรีชาวยิวจึงกล่าวต่อท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า “ขออัลลอฮฺทรงปกป้องท่านจากการลงโทษในหลุมฝังศพด้วยเถิด” หากแต่ท่านหญิงอาอิชะฮฺไม่ชอบ (ที่ได้ยิน) เช่นนั้น เมื่อนางพบท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม นางจึงถามท่านเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว (ว่ามีการลงโทษในหลุมฝังศพหรือไม่) ท่านเราะสูลตอบว่า “ไม่” จากนั้นท่านหญิงอาอิชะฮฺเล่าว่า หากแต่ภายหลัง ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ฉันได้รับการแจ้งมาว่า พวกท่านจะถูกทดสอบในหลุมฝังศพ” (มุสนาด อะหมัด เลขที่ 24815)

จากสองหะดีษนี้ได้บ่งชี้ให้เห็นว่า “มันเป็นที่อนุมัติที่จะทำการบริจาคต่อกาเฟรฺ (ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม) แต่มันไม่เป็นที่อนุมัติที่จะจ่ายซะกาตฺให้กับคนยากจนที่ไม่ใช่มุสลิม เพราะ “ซะกาตฺ” นั้นสามารถจ่ายให้กับผู้ที่เป็นมุสลิมเพื่อการใช้จ่ายเพื่อคนยากจน หรือขัดสนในหมู่มุสลิมเท่านั้น” ดังที่มีการกล่าวไว้ในอายะฮฺเกี่ยวกับการจ่ายซะกาตฺ

อิม่ามอัชชาฟิอียฺ กล่าวว่า “ไม่มีความผิดอันใดในการที่จะบริจาคให้กับ “มุชริก (คนนอกศาสนา ผู้ปฏิเสธศรัทธา)” ในรูปแบบของการกระทำ “นาฟีละฮฺ” (การกระทำที่นอกเหนือจากที่ถูกกำหนดไว้ เป็นการกระทำความดีงามแบบสมัครใจ) หากแต่เขาไม่มีสิทธิ์ในการที่จะบริจาคจาก “สิ่งที่เป็นฟัรดู (ภาคบังคับ) เช่นซะกาตฺ” อัลลอฮฺทรงยกย่องคนเหล่านี้ โดยตรัสว่า “และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์แก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก” (อัลกุรอาน 76:8) (กิตาบ อัลอุมมฺ ภาคที่สอง)

การบริจาคต่อมุสลิมที่ยากจนนั้นเป็นสิ่งที่ดีกว่าและสมควรกระทำมากกว่า เพราะการใช้จ่ายทรัพย์แก่พวกเขานั้น เป็นการช่วยให้พวกเขานั้นมีความเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือพวกเขาในเรื่องของกิจการทางโลกและทางศาสนาอีกด้วย และสิ่งนี้เป็นการช่วยทำให้ความสัมพันธ์ในหมู่มุสลิมนั้นมีความแข็งแกร่งมั่นคงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในปัจจุบันนี้ “คนยากจนในหมู่มุสลิม” นั้นมีจำนวนมากยิ่งกว่า “คนร่ำรวย” และอัลลอฮฺคือผู้ที่เราทรงขอความช่วยเหลือ

คำถามที่สอง มีบางคนที่ (เป็นไปได้ว่าเป็นมุสลิม) ขอทานโดยระบุจำนวนเงิน ตามหลักอิสลามนั้น เราควรปฏิบัติตัวในสถานการณ์นี้เช่นไร? และขอท่านช่วยชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ หากว่าผู้ที่ขอทานนั้นเป็นผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมด้วย

คำตอบ:: หากผู้ที่ขอเงินนั้นเป็นมุสลิม และมีความจำเป็น (ที่จะต้องใช้เงิน) จริงๆ ดังนั้นคุณก็ควรบริจาคให้แก่เขาตามความสามารถของคุณ และกฎเกณฑ์นี้ก็ใช้กับผู้ที่มิใช่มุสลิมด้วยเช่นกัน
 
หากแต่มันเป็นการดีกว่าสำหรับ “มุสลิมที่กำลังขัดสน” ที่จะละเว้นจากการขอทานตามถนน หากพวกเขาไม่มีทางเลือก พวกเขาก็ควรจะไปที่องค์กรการกุศลของอิสลามซึ่งมีช่องทางการบริจาค ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ยากจนและขัดสน และเช่นเดียวกันสำหรับผู้ที่ประสงค์ที่จะทำการบริจาคก็สามารถติดต่อกับองค์กรการกุศลที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อที่ว่า “ทรัพย์สินที่บริจาค” จะตกไปถึงมือผู้ที่สมควรได้รับการบริจาคนั้น
 
คำถามที่สาม แล้วเราสามารถใช้กฎเกณฑ์ของ “ข้อที่หนึ่ง และข้อที่สอง” สำหรับผู้ที่ติดเหล้า หรือติดยาเสพติดได้หรือไม่ เพราะอาจเป็นไปได้ว่า พวกเขาอาจนำเงินที่ได้รับไปใช้ในหนทางที่ผิด

คำตอบ:: หากผู้ที่ขอเงินนั้น “ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือกาเฟรฺก็ตาม” ขอรับบริจาคเพื่อไปกระทำสิ่งที่เป็นบาป หรือซื้อสิ่งของที่หะรอม หรือเขาจะใช้จ่ายเงินนั้นไปเพื่อการช่วยเหลือกิจการหรือการกระทำที่หะรอม เช่นนั้นมันไม่เป็นที่อนุมัติในการที่จะบริจาคให้แก่เขา เพราะการกระทำเช่นนั้น หมายความว่า  อัลลอฮฺตรัสว่า

“จงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง และจงอย่าช่วยกันในสิ่งที่เป็นบาป และเป็นศัตรูกันและพึงกลัวเกรงอัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงรุนแรงในการลงโทษ” (อัลกุรอาน 5:2) *คัดลอกจากอัลกุรอานแปลไทย

และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง 

Islam Q&A
ชัยคฺมุหัมมัด ศอลีฮฺ อัลมุนัจญิด

 

Read Full Post »

Older Posts »